วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

กพย. – สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดเวทีถกแนวทางส่งเสริมกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา

On March 30, 2023

ผู้ป่วยโรคไตพุ่งต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากใช้ยาไม่ถูกต้อง กพย. – สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดเวทีถกแนวทางส่งเสริมกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา แนะเลิกยาชุด ระวังก่อนใช้ยากลุ่มเสี่ยง ยาเอ็นเสด ยาสเตียรอยด์ 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายรวม  6 องค์กร ได้แก่ ชมรมเภสัชชนบท คณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน (สยส.) มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และสถาบันวิจัยสังคม จัดเสวนาวิชาการสานต่อ “วันไตโลก” เน้นการใช้ยาสมเหตุผลของยากลุ่มเสี่ยง ยาเอ็นเสด ยาสเตียรอยด์ งดใช้ยาชุด เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงต่อไต

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่ 2 ในเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น “วันไตโลก” ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. 2566 มีคำขวัญว่า “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เมื่อ มิ.ย.2565 พบว่า ทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากโรคไตมากถึง 1.4 ล้านคน ในปี 2562 เพิ่มสูงขึ้น 20% จากปี 2553 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญ 1 ใน 10 ของโลก ในไทยสถานการณ์โรคไตเรื้อรังในประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 420,212 ราย ระยะ 4 จำนวน 420,212 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 62,386 ราย มีผลต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีรายงานปี 2565 ชี้ว่างบประมาณที่ต้องใช้ในการล้างและเปลี่ยนถ่ายไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สูงถึง 9,731 ล้านบาท

“โรคไตมีหลายสาเหตุแตกต่างกันในประเทศต่างๆ ประเทศพัฒนาพบอายุการทำงานของไตลดลงเมื่ออายุเพิ่มสูงขึ้น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และการสูบบุหรี่ มีความสัมพันธ์กับโรคไตเรื้อรัง สำหรับประเทศกำลังพัฒนาพบการป่วยด้วยโรคติดเชื้อนำไปสู่โรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ การใช้ยาไม่ถูกต้อง การรับประทานยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางชนิด ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้สูญเสียการทำงานของไต การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หรือ RDU (Rational Drug Use) จึงสำคัญต่อทั้งการรักษาโรค และการป้องกันการเกิดโรคไตจากการใช้ยา สสส. จึงสานพลัง กพย. ดำเนินการเรื่องกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จัดการความรู้ ศึกษาวิจัย ขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบยา ทั้งยาชายแดน เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และการเข้าถึงยา การเสวนาวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทั่วไป หรือสื่อมวลชน จะได้ร่วมเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไตที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เพื่อเป็นแนวทางดูแลตนเองและคนในครอบครัวต่อไป” นายชาติวุฒิ กล่าว

ภก.ไตรเทพ ฟองทอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายกองทุนไตวายเรื้อรังในการชดเชยค่าบริการ สำหรับการจัดบริการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2565 พบว่ามีแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดบริการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 11,808 ล้านบาท สำหรับการจัดบริการผู้ป่วยประมาณ 7 หมื่นคน 

ในปีงบประมาณ 2565 จากการสำรวจฐานข้อมูลบริการผู้ป่วยใน สปสช.พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง Stage 1-5 (ทุกประเภทสิทธิตามระบบหลักประกันฯ) ที่มาใช้บริการประเภทผู้ป่วยใน จำนวน 304,369 คน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มีความจำเป็นต้องเข้าสู่การดูแลโดยกระบวนการบำบัดทดแทนไตอีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย หากขาดการจัดระบบบริการสำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ในเชิงการป้องกันที่ดีพอ โดยเฉพาะการจัดระบบบริการในระดับชุมชน ที่ต้องการการบูรณาการทรัพยากรจากหลายภาคส่วน และกำหนดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการออกแบบระบบบริการ

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เล่าประสบการณ์ว่า ตนรู้ตัวเองว่าป่วยเป็นโรคไตเสื่อมและเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดไตวายนั้นมาจากการที่ตนใช้ยา NSAIDs (ยาชุดแก้ปวดแก้เคล็ดขัดยอกต่างๆ เรียกย่อว่า เอ็นเสด) และกลุ่มยาสมุนไพร เช่น ยาหม้อ ยาต้ม ยาลูกกลอน ยาจีน มาหลายปีเท่าที่ตนจำได้คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 3 ปี จนต้องฟอกไต  จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำกับการดูแลร้านยาอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันร้านยายังมีการขายยาชุดอยู่ และอยากให้ภาครัฐจัดการเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงอย่างเคร่งครัดเนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและซื้อมาบริโภคทำให้ส่งผลกระทบต่อการเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวสรุปว่า กพย.และภาคี สนับสนุนการยกระดับการจัดการปัญหาไตวายจากการใช้ยาให้ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ต้นนํ้าไปจนถึงกลางนํ้าและปลายน้ำ ด้วยการร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน (เครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม เครือข่าย นพย. ชมรมเภสัชชนบท ภาคีวิชาการระดับภาค ภาคีวิชาชีพ และอื่นๆ ) มาร่วมเฝ้าระวัง และ ติดตาม วิเคราะห์เชิงระบบของการขึ้นทะเบียนตำรับยา การกระจายและการใช้ยา  กลุ่มที่เป็นสาเหตุหลักต่อโรคไต พร้อมกับการจัดการระบบติดตามโรคไตที่มีสาเหตุจากการใช้ยาร่วมด้วย และเสนอแนะทางนโยบายเพื่อการจัดการที่เข้มงวดต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการ RDU Community ที่ช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 มุ่งเป้าจัดการยากลุ่มเสี่ยง 3 รายการคือสเตียรอยด์ ยาเอ็นเสด และยาปฏิชีวนะ อยากให้พรรคการเมืองเสนอแนะนโยบายที่ชัดเจนจัดการปัญหาเรื่องยาที่กระทบโรคไต ที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมากมายในการรักษาปลายเหตุ ให้ทำอย่างไรจะเป็นการป้องกันการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม จะป้องกันโรคไตที่ต้นเหตุและลดภาระงบประมาณไปได้มาก


You must be logged in to post a comment Login