วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

สสส. ชวนรู้ทันป้องกัน ลืมเด็กติดอยู่บนรถ

On March 24, 2023

สสส. ชวนรู้ทันป้องกัน ลืมเด็กติดอยู่บนรถ แนะ 3 เทคนิคผู้ใหญ่ต้องรู้ สอนเด็กเอาตัวรอด-ตรวจรถอย่างละเอียด-ปฐมพยาบาลทันท่วงที

จากเหตุการณ์น้องกันต์วัย 3 ขวบ ที่ จ.บุรีรัมย์ติดในรถนานกว่า 2 ชม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา แพทย์พยายามให้การช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตน้องเอาไว้ได้ เนื่องจากขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับเหตุการณ์ “ลืมเด็กไว้ในรถ” ตั้งแต่ปี 2557-2563 พบว่า มีเหตุการณ์เด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพัง 129 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 6  ราย เพราะทนความร้อนในรถไม่ไหว เมื่อเด็กติดอยู่ในรถ และจอดตากแดดเป็นเวลานาน อุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้น จนเกิดอาการ ‘ฮีทสโตรก’ หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถลดอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มมากกว่าปกติได้ ขอเน้นย้ำการดูแล เช็คเด็กก่อนขึ้นลง ล็อกรถทุกครั้ง เพื่อให้เคสน้องกันต์ เป็นเหตุการณ์สุดท้ายในการลืมเด็กบนรถจนเสียชีวิตในที่สุด

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีป้องกัน สสส. ได้จัดทำและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ผ่าน “โครงการขับขี่ศึกษา (Safe Education)” ดังนี้ 1. สำหรับพ่อแม่-ผู้ปกครอง-คุณครู สอนให้เด็กรู้วิธีเอาตัวรอด เมื่อถูกลืมทิ้งไว้บนรถ เช่น บีบแตรเพื่อขอความช่วยเหลือ เปิดล็อครถ มีตัวช่วยติดตัวเด็กสำหรับติดต่อ-สื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ ป้ายห้อยคอ บอกเบอร์โทรติดต่อฉุกเฉิน ซักซ้อม จำลองสถานการณ์จริง ให้เด็กลงมือทำ 2. สำหรับผู้ขับรถ/ผู้ปกครอง เน้นย้ำ…ต้องตรวจสอบก่อนลงจากรถทุกครั้ง นับจำนวนเด็กที่ขึ้น-ลงจากรถ ตรวจภายในอย่างละเอียดโดยเฉพาะรถตู้ ก่อนล็อกประตูรถ หลีกเลี่ยงการจอดรถตากแดด 3. เมื่อเจอเด็กติดอยู่ในรถ หาทางช่วยเด็กโดยเร็ว (ประกาศตามหาเจ้าของรถ ตามคนมาช่วยเปิดประตู) หากเปิดรถไม่ได้ให้ทุบกระจก ปลดล็อครถยนต์จากด้านใน เตรียมเรียกคนที่ปฐมพยาบาล หรือโทร.1669, 191  เมื่อเปิดประตูได้แล้ว อุ้มเด็กออกมาให้อากาศถ่ายเท ยกเท้าขึ้นสูง ปลดเสื้อให้สบาย เช็ดหน้า-ตัว ตรวจเช็คชีพจร ถ้าไม่หายใจ ให้ทำ CPR ทันที สำหรับข้อมูลความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ที่สามารถนำไปใช้สื่อสารกับสังคม เด็กและเยาวชน โรงเรียน-ครู เพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จะนำไปสู่การลดความสูญเสียต่างๆ สามารถดูได้ที่ช่องทาง www.safeeducationthai.com และ เฟซบุ๊กเพจ “ขับขี่ศึกษา”


You must be logged in to post a comment Login