วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

สสส. สานพลังเครือข่ายงดเหล้า ชูต้นแบบอำเภอปากท่อ ราชบุรี ปลอดปัจจัยเสี่ยง

On January 31, 2023

สสส. สานพลังเครือข่ายงดเหล้า ชูต้นแบบอำเภอปากท่อ ราชบุรี ปลอดปัจจัยเสี่ยง พัฒนาสร้างอาชีพโครงการ “สังคมข้าวเต็มบาตร” ป้องกันชุมชนจากเหล้า ยาสูบ สารเสพติด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาสร้างอาชีพด้วยโครงการ “สังคมข้าวเต็มบาตร” เรียนรู้การทำงานอำเภอบูรณาการลดปัจจัยเสี่ยงที่สำนักสงฆ์บ้านพุยาง ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ขยายผลการขับเคลื่อนงานประชาคมงดเหล้าระดับจังหวัดต่อเนื่องใน 9 ภูมิภาค

นายศรีสุวรรณ  ควรขจร  ประธานคณะกรรมการกำกับทิศ กลุ่มแผนงานรณรงค์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สสส. กล่าวว่า โครงการสังคมข้าวเต็มบาตร ช่วยทำให้ชุมชนป้องกันนักดื่มและนักสูบหน้าใหม่ได้ เพราะมีนายอำเภอเป็นแกนนำผลักดันให้ทุกคนร่วมกันป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ยาเสพติด รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มผู้หญิง หลังพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง

“นายอำเภอปากท่อ ทำหน้าที่เป็น CEO ที่ติดดินและเข้าถึงชาวบ้าน ด้วยการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ที่ สสส. ให้ความสำคัญ ขณะที่ปัจจุบันการเกิดของเด็กลดลง จึงไม่ควรมีการตายเกิดขึ้นอย่างไม่สมควร หากไม่ตายก็ไม่ควรให้เด็ก เยาวชน และคนในสังคม ตกเป็นทาสปัจจัยเสี่ยงจนกลายเป็นภาระของสังคม ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในโครงการ ไม่ได้มีเฉพาะในอำเภอปากท่อ แต่ส่งแรงกระเพื่อมถึงประเทศชาติและโลกใบนี้  หวังว่าอำเภอปากท่อจะไปอยู่ในหมุดหมายของแผนที่ชุมชนคนสู้เหล้าที่มีความโดดเด่นมากขึ้น” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ พุทธจันทรา นายอำเภอปากท่อ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีโครงการนักยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า Change for Good  ที่นี่ได้เป็นตัวแทนจังหวัดราชบุรี เป็นที่มาของแนวคิด “ชันโรงเปลี่ยนคน น้ำสร้างชีวิต และสังคมข้าวเต็มบาตร” หลังพบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข 3 เรื่อง 1.เรื่องคนและอาชีพที่ต้องเปลี่ยนแปลงโดยส่งเสริมการเลี้ยงชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) เป็นอาชีพใหม่ เพราะวิถีเกษตรกรแบบเดิม จะใช้สารเคมีเยอะ ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เพราะการเลี้ยงชันโรงต้องลดสารเคมี ถึงจะได้ผลผลิต 2.เรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมกันทำต้นน้ำด้วยการทำฝายให้มีชีวิต เพื่อเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน โดยการทำ EM Bond ปรับปรุงน้ำก่อนที่ให้ไหลลงทะเล 3.เรื่องสังคม การนำวัดมามีส่วนร่วมด้วยแนวคิด “สังคมข้าวเต็มบาตร” ชวนผู้นำหมู่บ้าน คนในชุมชนร่วมกันตักบาตร เดินตามพระ และนำของที่ได้ไปช่วยชาวบ้านที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ควบคู่กับการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก อบายมุข

นางสาวอุบลวรรณ  คงสว่าง  ผู้ประสานงานภาคตะวันตก กล่าวว่า อำเภอปากท่อเป็นต้นแบบงานงดเหล้าที่ขับเคลื่อนเป็นระบบ และชมรมคนหัวใจเพชรได้พัฒนาศักยภาพชวนคนงดเหล้าต่อเนื่อง  เมื่อมีนายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ส่งเสริมอาชีพและทักษะอาชีพใหม่ ด้วยการทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน และมีพี่น้องชาติพันธุ์  ไทยทรงดำ  ไทยกะเหรี่ยง  ไทยยวน ร่วมด้วย โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นต้นทุนสำคัญของอำเภอบูรณาการ ซึ่ง “อำเภอปากท่อ” เป็นพื้นที่ลดปัจจัยเสี่ยงครบวงจร สามารถจัดสภาพแวดล้อม  ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  ลดนักดื่มหน้าเก่า  สร้างความเข้มแข็งเครือข่าย  สร้างพื้นที่รูปธรรมชุมชนคนสู้เหล้า  มีทั้งระดับต้นน้ำก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ระดับกลางน้ำด้วยการที่ทำนโยบาย รณรงค์ให้ทุกคนงดเหล้าเข้าพรรษา  และระดับปลายน้ำที่ช่วยกันบำบัดคัดกรองผู้ติดสุรา ผ่านการตั้งชมรมคนหัวใจเพชร

“อำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี ยังได้ร่วมกับแรงงานนอกระบบที่เป็นสังคมนักดื่ม เพื่อสร้างสุขภาวะเชิงระบบ  และมีวงพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสม  พลิกพื้นที่สีแดงแต่ดั้งเดิม (พื้นที่คอมมิวนิสต์) ให้เป็นพื้นที่สังคมสุขภาวะเต็มรูปแบบ ทำนโยบายสาธารณะ ลงบันทึกความร่วมมือสร้างเครือข่ายที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง  ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความมั่นคง  และมีกลไกติดตามประเมินผลแบบเสริมพลังอีกด้วย” นางสาวอุบลวรรณ   กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ แพต่วน เยาวชนนักรณรงค์ สคล. จ.ราชบุรี กล่าวว่า เป็นเยาวชนนักรณรงค์ตั้งแต่อายุ 13 ปี ปัจจุบันอายุ 22 ปี เพราะเห็นคนในชุมชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีผลเสียตามมา บางคนดื่มแล้วไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัว สุขภาพไม่ดี  เกิดอุบัติเหตุ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ที่เห็นผลชัดหลังเข้ามาเป็นนักรณรงค์คือ คนใกล้ชิดตระหนักว่าเหล้า บุหรี่ สารเสพติดอันตราย ลด ละ เลิกทันที บางคนตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเยาวชนนักรณรงค์ทำงานอาสา ปัจจุบันกำลังจะได้เป็นตำรวจหญิง ส่วนตัวคิดว่าการมาร่วมรณรงค์ ทำให้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เช่น การแสดงออก การพูด การเชิญชวนประชาสัมพันธ์ การเรียนทางด้านกฎหมาย และได้ใช้องค์ความรู้ เรื่อง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาปรับใช้เพื่อเผยแพร่สื่อสารในเรื่องเหล่านี้ด้วย


You must be logged in to post a comment Login