วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

นักวิจัย มรภ.สวนสุนันทา พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรเทาผื่นคัน ลดการอักเสบ จากต้นเหงือกปลาหมอ

On January 31, 2023

จากการสำรวจข้อมูลผักและสมุนไพรพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามของทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในพื้นที่ในการเก็บรวบรวมตัวอย่างพืช จากนั้นจึงทำการการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของผัก และสมุนไพรตัวอย่าง พบว่าภาครัฐ และภาคประชาชนผู้ผลิต ยังมีทัศนคติที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยภาครัฐจะเน้นด้านมาตรฐานการผลิต ส่วนภาคประชาชนจะเน้นการกล่าวอ้างสรรพคุณ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ จากการเก็บผัก และสมุนไพรตัวอย่าง มาทำการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ น้ำ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร แคลเซียม เบต้าแคโรทีน และวิตามินซี ซึ่งพบว่าผักท้องถิ่นบางชนิดมีศักยภาพที่สามารถแปรรูป เป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเหงือกปลาหมอซึ่งเป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่พบว่าขึ้นอยู่ในพื้นที่ชายน้ำหรือชายเลน สรรพคุณทางยาสามารถนำมาใช้บรรเทาการอักเสบบริเวณผิวหนังได้ ที่โดดเด่นมากก็คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก และเมล็ด

ดร.นรินทร์ กากะทุม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเจลกันแดดผสมสารสกัดใบเหงือกปลาหมอเพื่อยับยั้งอนุมูลอิสระและการจัดตั้งสปาชุมชนครั้งนี้ได้ทำการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ต.บางจะเกร็งอ.เมืองสมุทรสงครามและต.ดอนมะโนราอ.บางคนทีจ.สมุทรสงครามโดยมีที่มาจากชื่อบางจะเกร็งที่แปลว่าต้นเหงือกปลาหมอซึ่งผลการศึกษาพบว่าใบเหงือกปลาหมอมีปริมาณสารสกัด2.8625%เมื่อนำมาใส่ในส่วนประกอบเจลสามารถขึ้นรูปเป็นเนื้อเจลได้

ในการทดสอบความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ในสภาวะเราง พบว่าผลิตภัณฑ์เจลกันแดดผสมสารสกัดใบเหงือกปลาหมอไม่แยกชั้น ผลการทดสอบการระคายเคืองในอาสาสมัครจำนวน 10 คน หลังใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง พบว่าไม่มีอาการแพ้ อาการคัน หรือระคายเคือง ผลการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ จึงเป็นสิ่งยืนยันผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญาท้องถิ่นได้ว่า เจลกันแดดผสมสารสกัดใบเหงือกปลาหมอ สามารนำมาเป็นส่วนช่วนในผลิตภัณฑ์ได้ดี ซึ่งได้ผลดีดังสรรพคุณตามทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ จึงได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการผื่นคันและลดการอักเสบจากเหงือกปลาหมอ ภายใต้แผนงานวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรท้องถิ่นเอกลักษณ์ จังหวัดสมุทรสงคราม ผศ.ดร.ยุทธนา สุดเจริญ เป็นหัวหน้าโครงการ และในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Fundamental Fund) ประเภท Basic Research Fund ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวจนสำเร็จโดยดี

ผศ.ดร.ยุทธนา สุดเจริญ

You must be logged in to post a comment Login