วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

นิราศกูวาฮาติ รัฐอัสสัม

On December 28, 2022

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย    

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 27 ธ.ค. 65)

น้อยคนนักที่จะได้ไปนครกูวาฮาติ รัฐอัสสัม อินเดีย ผมจึงขอพาชมเมืองนี้นักหน่อย เผื่อบางท่านจะไปเที่ยว (แต่ผมแทบไม่พบคนไทยเลย)

ในระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม 2565 สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอินเดีย หรือ Institution of Valuers India ได้เชิญผมไปบรรยายด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน ถือเป็นแขกต่างประเทศเพียงหนึ่งเดียวในงานประชุมประจำปีของสมาคมแห่งนี้ โดยทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 500 คนจากสมาชิกทั้งหลายหลายหมื่นคน (คงต้องเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่มีเงินพอสมควรจึงจะไปร่วมงานได้) ณ นครกูวาฮาติ รัฐอัสสัม ผมไปอินเดียมาหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่เคยไปนครแห่งนี้เลย
ที่บอกว่ามีคนไทยไปน้อยมากก็เพราะการต่อเครื่องบินนี่แหละ ราคาเครื่องบินแพง เพราะเป็นเงินประมาณ 15,000 บาทสำหรับการไป/กลับ โดยต้องไปต่อที่โกลกัตตา แต่ถ้านั่งเครื่องบินจากกรุงเทพมหานครไปแค่โกลกัตตา ราคาก็แค่ 7,000 บาทเท่านั้น นี่แสดงว่าตั๋วไปนครกูวาฮาติแพงกว่ามาก อย่างไรก็ตาม หากซื้อแยกสายการบินก็ยังถูกกว่า แสดงว่าตอนจองเครื่องบินต้องดูหลายๆ ทางเลือก แต่ด้วยค่าตั๋วแพงอย่างนี้ จึงทำให้มีคนไทยไปเที่ยวน้อยมาก

สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยไปเที่ยวน้อยมากก็เพราะไม่ค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยวเท่าไหร่ และที่มีก็ไม่ได้น่าสนใจมากนัก สถานที่แสวงบุญเช่นวัดไทย ก็แทบไม่มีเช่นกัน รัฐอัสสัมถือเป็นรัฐที่จนที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนสายหลักจากสนามบินเข้าเมือง จึงทำให้การเดินทางค่อนข้างช้าเป็นระยะๆ แต่หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็คงสะดวกขึ้น

ระยะเวลาในการเดินทางก็ไม่สะดวก ผมไปด้วยสายการบิน Indigo ซึ่งเป็นสายการบินราคาถูกที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ออกเครื่องตอนตี 3 ยืนรอคิวเช็คอินแสนยาวเป็นชั่วโมง เดินทางถึงโกลกัตตาตอนตี 5 ครึ่ง แต่กว่าจะได้ขึ้นเครื่องอีกครั้งหนึ่งก็ราว 10:00 น. รอนานมาก และใช้เวลาอีก 1 ชั่วโมงเดินทางถึงนครกูวาฮาติ สิริรวมเป็นเวลา 9 ชั่งโมงครึ่ง พอๆ กับเดินทางไปยุโรปเลยทีเดียว ส่วนขากลับก็ใช้เวลารวม 7 ชั่วโมงครึ่งสั้นกว่า 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังถือว่าไม่สะดวกอยู่ดี

โชคดีอยู่ตรงที่คณะผู้จัดงานจัดให้พักโรงแรมอย่างดี คืนละประมาณ 5,000 บาท และมีรถมารับส่งอย่างดี แต่ถนนหนทางต่างๆ ก็ยังไม่สะดวก กำลังขยายถนนอยู่ ทำให้กว่าจะเข้าเมืองได้ก็ต้องเดินทางจากสนามบินไปอีก 1 ชั่วโมงเต็มๆ จึงกลายเป็นว่าโอกาสการท่องเที่ยวเมืองนี้สำหรับคนไทยแทบจะไม่มีก็ว่าได้ ถึงว่าตลอดเที่ยวบินไม่เจอคนไทยสักคนหนึ่งเลย แต่อาจมีพระสงฆ์ไปปฏิบัติธรรมบ้างก็ได้

ในอินเดียอะไรต่างๆ ก็ต้องเข้าคิว ไม่ใช่ว่าเขามีระเบียบอะไรนัก แต่เพราะว่ามีผู้ให้บริการน้อย เช่น ตอนตรวจคนเข้าเมือง ก็ใช้เวลานับชั่วโมง ตอนตรวจคนจะออกจากเมือง (กลับกรุงเทพมหานคร) ก็ใช้เวลานานพอๆ กัน จะทานอาหารที่ทางผู้จัดงานจัดขึ้นก็เข้าคิวยาวเหมือนกัน เพราะไม่ยอมวางอาหารไว้หลายจุด มีแค่จุดเดียว ก็เลยมีคิวยาวเป็นพิเศษ ที่นี่ใช้แรงงานคนเปลืองมาก เช่น เครื่องบินจอดสนิท ห่างจากตัวท่าอากาศยานไม่แค่ 200 เมตร ก็ต้องใช้รถมารับ ไม่ให้เดินไปเอง (ปรากฏการณ์แบบนี้ก็พบได้ที่กรุงกาฐมาณฑุ เนปาลเช่นกัน)

สิ่งที่น่าสังเกตอีก 3 อย่างก็คือ

  1. อินเดียโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ซึ่งกำลังพัฒนาอาจถือว่าเป็น “เมืองในฝุ่น” เพราะการก่อสร้างต่างๆ มากมาย และที่สำคัญถนนก็มีฝุ่นมากมายเนื่องจากการก่อสร้างและบ้างก็เป็นถนนดิน ฝุ่นควันต่างๆ จึงมีอยู่มาก
  2. ข้อนี้คล้ายๆ ที่เวียดนามก็คือการจราจรติดขัดในเมือง และต้องบีบแตรลั่นกันใหญ่ แต่ต่างกันตรงที่ในเวียดนาม คนข้ามถนนจะได้รับเกียรติจากคนขับรถพอสมควร แต่ที่อินเดีย แทบจะชนคนเดินข้ามถนนก็ว่าได้ แทบไม่มีการหยุดให้เกียรตคนเดินเท้า
  3. การเดินริมถนนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะบางแห่งก็ไม่มีบาทวิถีเลย และรถวิ่งกันขวักไขว่ไปหมด ยิ่งถ้าเป็นคนต่างชาติ โอกาสเกิดอุบัติเหตุย่อมมีมากขึ้น (เพราะอาจขาดความระมัดระวัง)

แล้วบ้านเมืองเป็นซะขนาดนี้ ทำไมผู้จัดงานจึงจัดที่นครกูวาฮาติแห่งนี้ เหตุผลก็คือเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ยากจนแห่งนี้นั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login