วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

สสส.เดินหน้าสร้างอาชีพ-ความภูมิใจให้คนพิการ ส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ

On December 3, 2022

มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรี สามารถพัฒนาตัวเองได้ หากได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุน ให้พวกเขาสามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวเอง และสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ ที่แตกต่างจากการสงเคราะห์ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนต้องการรวมทั้งประชากรกลุ่มเฉพาะ

คนพิการและผู้สูงอายุ คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือคน 2 กลุ่มนี้ ที่คนทั่วไปจะคิดถึงคือ การสงเคราะห์ ช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แต่การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์นั้น เป็นการช่วยบรรเทายากลำบากได้เพียงชั่วคราว การช่วยเหลือที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรให้พวกเขามีอาชีพ มีงาน สามารถใช้ชีวิตและยืนหยัดได้ขาของตัวเอง การจะทำให้เกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคีเครือข่าย และเอกชน ที่ต้องผนึกกำลังและเปิดโอกาส ให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงานตามศักยภาพและความสามารถของคนพิการ

การสร้างงานให้กับคนพิการและผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งที่ทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มีจุดมุ่งหมายที่จะให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองได้ โดยเน้นไปที่การพึ่งพาตัวเอง แทนที่การพึ่งพาจากการสงเคราะห์

นางภรณี ภู่ประเสริฐ  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เล่าถึงการทำงานเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุว่า ทาง สสส.ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของคนพิการ ครอบครัวของคนพิการ และผู้ดูแล โดยเน้นไปที่การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี เห็นคุณค่าของตัวเอง และสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อต่อยอดในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้ ผ่านภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนงานกับ สสส. ที่ผ่านมามีภาคี 1,932 องค์กร เข้ามาร่วมทำโครงการต่างๆ มากถึง 130 โครงการ ในการส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ เพื่อสร้างความสุขและความภาคภูมิใจให้กับคนพิการ

สำหรับคนพิการในประเทศไทยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีอาชีพ ไม่มีงานทำ ขาดโอกาสทางการศึกษา มีข้อจำกัดในด้านต่างๆ  เช่น การสื่อสาร การเดินทาง ระบบขนส่งสาธารณะ เทคโนโลยี รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จากปัญหาดังกล่าว ทาง สสส.ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ผลักดันให้สังคมหันมามองเรื่องของคนพิการจนสามารถพัฒนากลไกและก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างเพื่อคนพิการ เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพให้กับประชากรกลุ่มเฉพาะ

จากข้อมูลของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐประมาณ 2,000,000 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นวัยทำงาน 50% และมีครึ่งหนึ่งของวัยทำงานที่ไม่มีงานทำ และเกินกว่า 90% คนพิการเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกันภาครัฐมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ในมาตรา 33  ,34 และ 35  ที่ให้บริษัทเอกชนรับคนพิการเข้าทำงานตามสัดส่วนที่รัฐกำหนด หากไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้บริษัทจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่ยังพบว่ามีบริษัทมากถึง 13,000 บริษัทเลือกที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯแทน ในปีนี้มีการส่งเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน 2,500 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าวเป็นโจทย์ให้ สสส.และภาคี ต้องคิดกันว่า คนพิการกว่า 500,000 คน ที่ไม่มีงานทำ สสส. จะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างคนพิการและสถานประกอบการได้อย่างไร ในเรื่องนี้ ผอ.สำนัก 9 ให้ความคิดเห็นว่า การแก้ไขเรื่องดังกล่าว จะต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนความคิด อยากให้คิดว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การที่คนพิการจะมีงานทำได้ เราจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของคนพิการในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือสร้างความเข้าใจให้กับสถานประกอบการ ว่าการรับคนพิการเข้าทำงานมันไม่ได้น่ากลัวหรือสร้างความลำบากแก่หน่วยงานอย่างที่หลายคนคิด

“ถามว่าเราทำงานเรื่องนี้มานาน ทำไมสถานประกอบการยังไม่เปิดกว้างให้คนพิการ ในส่วนตัวมองว่า เราขาดโค้ชหรือพี่เลี้ยงที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษากับสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับคนพิการเข้ามาทำงานร่วมกับคนปกติ ที่ผ่าน สสส.ได้รับคนพิการมาทำงานร่วมกับคนปกติแล้ว 3  คน ผลที่ได้คือ ทุกคนสามารถทำงานร่วมกับคนปกติได้และมีความสุข ” นางภรณี กล่าว

ทั้งนี้ นางภรณี ระบุว่า ในปี 2566 ทาง สำนัก 9 สสส. ได้มุ่งเน้นการทำงานไปที่กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ ให้มีสุขภาวะที่ดี มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ ส่วนของผู้สูงอายุจะเป็นการเตรียมความพร้อมตัวบุคคลทั้งในเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม บริการสาธารณะ และกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ เช่น การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี งานศิลปะ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีสังคม ดีกว่าที่จะอยู่ที่บ้านอย่างเดียว ซึ่งบางครั้งเรายังพบว่า งานอดิเรกของผู้สูงอายุบางท่านกลับกลายเป็นงานที่สร้างความสุข สร้างรายได้ในวัยเกษียณ ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน

นางภรณี ยังพูดถึงสังคมในปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นว่า การปรับตัวผู้สูงวัยในยุคนี้ไม่ควรอยู่คนเดียว ควรออกไปเที่ยว ไปเปิดโลกกว้าง หรือ ไปหากิจกรรมทางสังคมร่วมกับคนอื่นบ้าง เพราะการมีเพื่อนจะช่วยลดความเหงา และความซึมเศร้าลงได้ สำหรับคนในช่วงวัยนี้

ด้าน โต้ง นายคุณากร สุวรรณเนตร นักวิชาการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนพิการทางสายตาวัย 36 ปี คือ ตัวอย่างของคนพิการที่สามารถทำงานร่วมกับคนปกติ โต้งสามารถสอบผ่านข้อเขียนของตำแหน่งที่ทางสำนัก 9 สสส. เปิดรับสมัคร โดยในตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าเขาพิการทางสายตาจนมาถึงวันสัมภาษณ์ และโต้งก็ผ่านจนได้มาทำงานที่ สสส. ซึ่งโต้งบอกว่า คนทั่วไปมักจะบอกว่าอาชีพของคนพิการคือ หมอนวด ขาย “สลากกินแบ่ง” หรือ “ลอตเตอรี่” พนักงานรับโทรศัพท์  แต่ตัวเองไม่มองเช่นนั้น และเป็นความโชคดีของตัวเองที่ครอบครัวสนับสนุนเรื่องการศึกษาและให้เรียนร่วมกับคนปกติ จนจบปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การได้มาทำงานที่ สสส.ถือได้ว่าตรงตามที่เรียนมา สถานที่ทำงานเอื้อต่อคนพิการ ส่วนเพื่อนร่วมงานไม่มีปัญหา ไม่มีการบูลลี่เรื่องความพิการ การทำงานในแต่ละวันก็ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน จึงทำให้สายตาที่มองไม่เห็นไม่ได้เป็นอุปสรรคของการทำงานของเขาเลย

“ผมอยากจะฝากไปบอกเพื่อนๆ ที่พิการว่า ชีวิตที่ดี ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ถ้าเราไม่ลุก จะไม่มีใครมาช่วย จากนั้นให้เริ่มทำความเข้าใจตัวเองและครอบครัวให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยออกไปทำความเข้าใจชุมชน และสังคมตามลำดับ” โต้ง กล่าว

ในวันนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน ที่อาจทำให้ประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือประชากรกลุ่มเปราะบาง อาจก้าวไม่ทันตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเอง เพราะ……….มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรี สามารถพัฒนาตัวเองได้หากได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน


You must be logged in to post a comment Login