วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สสส. – สคล. สานพลัง สร้างกลไกหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก – ครูปฐมวัย ปลูกพลังบวก 4 ภูมิภาค

On November 23, 2022

สสส. – สคล. สานพลัง สร้างกลไกหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก – ครูปฐมวัย ปลูกพลังบวก 4 ภูมิภาค ปกป้องเยาวชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยง สร้างทักษะชีวิต รู้เท่าทันอันตรายเหล้า – บุหรี่ – ยาเสพติด เตรียม Kick off ปี 2566 – 2567 ดึงสถานศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมสังคมปลอดอบายมุข  

เมื่อวันที่ 19 – 20 พ.ย. 2565 ที่ โรงแรมเอบีน่า เฮาส์  ซ.วิภาวดี 64 กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายสถานศึกษา จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานและวิทยากรระดับภูมิภาค

นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าวว่า เด็กปฐมวัยอาจมีโอกาสเข้าสู่วงจรนักดื่ม นักสูบหน้าใหม่ จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จัดโครงการ “ปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย” สร้างกลไกให้เกิดการกระตุ้นหนุนเสริมการสร้างสังคมลดปัจจัยเสี่ยง ปัจจุบันมีนักวิชาการด้านการศึกษา เข้าร่วม 50 คน จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ สะท้อนว่าโรงเรียน มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับเด็กอย่างมาก เพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว หรือผ้าหลากหลายสีจากการเติบโตในครอบครัวที่แตกต่างกัน และเป็นที่วัยที่สมองส่วนหน้า กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงควรจดจำสิ่งที่ดี ในทางตรงกันข้ามหากเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็จะจดจำเช่นกัน เหมือนคำพูดที่ว่า เด็กเห็นผู้ใหญ่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ตั้งแต่ในวัยเด็กเล็ก ทั้งในบ้านและชุมชน อาจกลายเป็นความเคยชินและเป็นภาพจำ ถ้าโรงเรียนสามารถเชื่อมต่อกับครอบครัว และชุมชนได้ สสส. เชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์

ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน จ.หนองบัวลำภู เป็นปัญหาร้ายแรงในสังคมไทย จนต้องหาวิธีทำให้คนตระหนักรู้ถึงอันตรายจากเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด ที่ยังอยู่ในสังคม จนกลายเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมรูปแบบเดิมๆ สังคมจึงต้องช่วยกันปลูกฝังสิ่งต่างๆ ตั้งแต่เด็ก โครงการปลูกพลังบวกฯ ทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยมี สสส. และ สคล. ช่วยขยายผลให้เกิดเป็นรูปธรรม จากนี้จะแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสนับสนุนระดับจังหวัด และมีคำสั่งตรงไปยังศึกษาธิการจังหวัด เพื่อขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงได้ทำความเข้าใจกับครูปฐมวัย ให้เข้าใจในโครงการฯ และมีส่วนสำคัญทำให้โครงการมีความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จนสามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ

ดร.รัติพร ภาธรธุวานนท์ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า มีบทบาทเป็นผู้ร่วมพัฒนาครูในพื้นที่ เน้นเรื่องทักษะชีวิต ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐาน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และ พรบ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 โดยคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดต้องช่วยกันปลูกพลังบวก ยกตัวอย่าง จ.มหาสารคาม โมเดล ที่ใช้หัวใจในการปลูกพลังบวกลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ทั้งผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง ตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดู ให้การศึกษา ยิ่งหลังยุคโควิด-19 จะต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะส่วนใหญ่เด็กใช้สมาร์ตโฟน จึงต้องชี้แนะสิ่งดีๆ ผ่านการเรียนรูปแบบต่างๆ

นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย กล่าวว่า สร้างเครือข่ายครูปฐมวัย ที่อยู่ในสถานศึกษาระดับปฐมวัย (อายุระหว่าง 2 – 6 ขวบ) โดยโครงการปลูกพลังบวกฯ ระยะแรก เริ่มจาก 4 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ที่ขับเคลื่อนงานปฐมวัยทั้งจังหวัด ได้แก่ น่าน  ศรีสะเกษ ชุมพร และราชบุรี ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วม 1,443 แห่ง ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ จากการดำเนินงาน มีตัวอย่างที่ดีของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลหลักห้า (โรงเรียนบ้านดอนไผ่) ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เกิดความร่วมมือระหว่างโรงเรียน และผู้ปกครอง ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กเรียนรู้ถึงโทษภัย จากการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้า ทำให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอันตรายไปด้วย จากการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในชุมชนลด ละ เลิกการดื่ม และร้านค้าชุมชนเริ่มงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สะท้อนให้เห็นการสร้างสังคมสุขภาวะ ผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก และทำให้เด็กเปลี่ยนครูและผู้ปกครอง รวมถึงเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วย

นางสาวมาลัย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานระยะต่อไป เน้นสร้างกลไกและสร้างเครือข่ายคณะทำงานปลูกพลังบวกฯ ซึ่งคุณครูนิเทศก์ จะเป็นคณะทำงานที่มีบทบาทต่อโครงการนี้ เมื่อผู้ปกครองนำเด็กฝากไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ครูจะกลายเป็นปัจจัยหลัก ในการฝึกตัวตนของเด็กๆ และเกิดความคาดหวังในตัวครูผู้สอน ทางโครงการจึงต้องมีคุณครูนิเทศในเขตต่างๆ เป็นพี่เลี้ยง เพื่อช่วยกระตุ้น หนุนเสริม ติดตาม ให้แนวคิด และหาเครื่องมือใหม่ๆ  จึงได้คัดเลือกศึกษานิเทศก์ที่มีใจ มีความรู้ เข้ามาร่วมปฏิบัติงาน แผนระยะยาวในปี 2566 – 2567 มีแผนขยายห้องเรียน สถานศึกษา เข้าร่วมโครงการอีก 800 ห้องเรียน เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในแต่ละจังหวัด รวมทั้งส่งเสริมสถานศึกษา จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ นำประสบการณ์การรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า-บุหรี่ สู่ชุมชนต่อไป


You must be logged in to post a comment Login