วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

อย่าคิด “เปลี่ยน” ด้วยคำพูด แต่ต้อง “เปลี่ยน” ด้วยการทำ

On November 19, 2022

บทความพิเศษ โดย…วิญญัติ ชาติมนตรี

ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยมีสัมพันธภาพแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าด้วยเรือแจวลำสุดท้ายที่ล้าหลังเพราะแรงขับเคลื่อนแบบเดิมใช้มานมนาน ตราบใดเรือประเทศไทยยังต้องแล่นไปข้างหน้าในสายน้ำ จำต้องมีนายท้ายเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่ชาญฉลาดและมีวิสัยทัศน์ ผู้นำประเทศก็เปรียบเหมือนนายท้ายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ

ผู้มีอำนาจในประเทศในองค์กรต่างๆเปรียบเป็นลูกเรือที่รับคำสั่งของนายท้ายเรือที่ต้องใช้การกระทำที่เป็นผลงานอันเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากกว่าการใช้คำพูด แต่ผู้นำที่ยังประสบความล้มเหลวจากการใช้คำพูด พูดไม่น่าฟัง ไม่น่าเชื่อถือ เอาแต่ใจ ขี้หงุดหงิด ชอบพูดด้อยค่าประชาชน ยิ่งตอกย้ำว่าประเทศชาติภายใต้ผู้นำนี้ไร้อนาคต เสียโอกาสกว่าที่จะยอมรับและทนต่อไปได้

เชื่อว่าบัดนี้ ประชาชนส่วนใหญ่อาจเห็นสอดคล้องกันว่า ผู้นำของไทยแสดงออกว่าชอบการพูดมากกว่าการทำผลงานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน แม้แต่จะเปลี่ยนแปลงตนเองยังไม่เชื่อว่าจะทำ บริหารประเทศด้วยคำพูด ไม่คำนึงถึงวิธีคิดที่จะเปลี่ยนประเทศให้เจริญก้าวหน้า เรือประเทศไทยที่อยู่ภายใต้นายท้ายเรือเช่นนี้ จึงยากที่จะพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าและเกิดความสันติสุขได้ ยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา  นอกจากประชาชนในยุคดิจิทัลไม่เพียงแต่สงสัย ไม่ให้ความเชื่อมั่นกับคำพูดขายฝันแล้ว การกระทำด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ประสบความล้มเหลว ยังเป็นสิ่งตอกย้ำความไม่เอาไหนของผู้นำประเทศ แม้จะใช้เงินอัดฉีดเข้าระบบเพื่อจะกระตุ้นการใช้จ่าย เปิดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวหวังให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นระยะๆตามแนวทางนักเศรษฐศาสตร์ข้างกายก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นผลลัพธ์ภาพรวมจริงกลับไม่ใช่แรงกระตุ้นสำคัญให้ประชาชนมีความก้าวหน้า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

เรื่องความสำเร็จในการดำรงชีพของประชาชนจึงริบหรี่ ความขาดไร้ประสิทธิภาพของรัฐที่จะสร้างสวัสดิการไม่ต้องถามหา เพราะความเป็นจริงทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา การที่ประเทศไทยมีผู้นำจากทหารอันมาจากการทำรัฐประหาร ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความหวังของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศจึงต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี

บาปเคราะห์ที่ประชาชนได้รับ จึงสะท้อนออกมาในรูปแบบปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องปากท้อง ปัญหาสินค้าแพง เป็นต้น

การที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้นั้น นอกจากจะต้องรื้อต้องแก้ปัญหาใหญ่ที่ระบบของการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ความคิดทัศนคติของตัวบุคคล หรือความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error) ก็เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะปัญหาที่ทำให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าต้องตกอยู่ในภาวะแบบล้มลุกคลุกคลานเช่นนี้ ล้วนมีปัจจัยเกิดจากการกระทำของคนทั้งสิ้น

เราอาจมองด้วยความเข้าใจถึงกฎธรรมชาติว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องมีความผิดพลาดจากการกระทำของคนเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ความผิดพลาดที่จะพอยอมรับกันได้ของผู้นำไม่ใช่เรื่องกฎธรรมชาติ แต่หมายถึงความผิดพลาดของผู้นำโดยตั้งใจกระทำหรือจงใจฝ่าฝืนโดยไม่ฟังเสียงประชาชนหรือผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนและประเทศ

บางคนเสนอทางออกด้วยการป้องกันปราบปราม ด้วยการใช้กฎระเบียบ กฎหมายที่ใช้บังคับกันอยู่อย่างมากมาย โดยไม่เห็นต้องกลัวความผิดพลาดนั้น ประชาชนบางกลุ่มหวังว่าคนที่อยู่ในอำนาจที่เป็นข้าราชการระดับสูง สร้างความเชื่อถือในทางจารีตประเพณี จะมาคานอำนาจและตรวจสอบนักการเมือง แต่การกลับหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะคนที่มาอยู่ในตำแหน่งที่จะมาเป็นความหวังกลับกลายเป็นผู้ทรงอำนาจที่เล่นการเมืองแลกรับประโยชน์ต่างตอบแทนเสียเอง

เห็นได้ว่าคนที่กล่าวยกย่องว่าเป็นคนดีที่แต่งตั้งให้มาใช้อำนาจก็ไม่สามารถรับผิดชอบผลกระทบจากการบิดเบือนอำนาจนั้นได้ เพราะคงลืมสังเกตว่า ความจริงคนเหล่านั้นได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องทำลายในทางการเมือง ๆไม่ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานอย่างที่ควรจะเป็นไปตามหลักการพื้นฐานที่สร้างขึ้นเองจนเสียความเชื่อมั่น เสียความยุติธรรมมาแล้วหลายครั้ง

ดังนั้น ความยุติธรรมจึงขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะกำหนดอย่างไรก็ได้ ผู้ที่เสนอให้ใช้กฎหมายเป็นทางออกลดความขัดแย้ง และมอบอำนาจให้กลุ่มคนมามีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งหาหลักการที่ถูกต้องให้แก่สังคมแทบไม่ได้ เราจึงได้ผู้นำที่ดีแต่พูด ส่วนการมีผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ขาดความรู้ ขาดการรับฟังเสียงคนอื่น ชอบอ้างว่ามีประสบการณ์ชีวิตมากมาย แต่อีโก้ (Ego) สูง ตัดสินใจด้วยตนเองคนเดียว หรือบางคนเรียกมันว่า “อำนาจเผด็จการนิยม” กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ เพราะความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่คิดว่าดีตามใจผู้นำนั้น ย่อมมองไม่เห็นความจริง และมองข้ามผลลัพธ์ที่จะเป็นปัญหาตามมาในภายหลัง

ผู้นำประเภทนี้ มักจะแสดงออกถึงตัวตนคนเดียวเป็นใหญ่แล้ว มักมีพฤติกรรมเกิดจากการตีความไปเอง หรือคิดเอาเอง ไม่เคารพขั้นตอนและกฎหมายที่ใช้บังคับ การตั้งใจสื่อสารตามแบบฉบับของตนอย่างผิดพลาด ไม่แยแสต่อความรู้สึกของผู้ฟังที่เป็นประชาชน การขาดความรู้และประสบการณ์ในงานบริหาร การขาดที่ปรึกษาที่มีความรู้จริง มีคนใกล้ตัวที่ประจบสอพลอ จึงยากที่ผู้นำจะยอมรับความจริงและผลกระทบที่เป็นปัญหามาคิด วิเคราะห์ และแยกแยะอย่างแท้จริง อุปนิสัยคนลักษณะนี้ยังถ่ายทอดไปสู่กลุ่มคนผู้มีอำนาจอื่นๆด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มคนผู้มีอำนาจอื่นๆที่ใช้บังคับกฎหมายในที่นี้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจในการตีความกฎหมาย ถือว่าเป็นคนที่มีหน้าที่ต้องยึดหลักนิติศาสตร์ และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายได้เช่นกันกับประชาชนทุกคนในประเทศ

แต่ความจริงแล้ว ผู้เขียนกลับได้เห็นความเลวร้ายจากการใช้อำนาจของกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการที่อยู่ในองค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ ที่เมื่อเข้าสู่อำนาจก็ยอมที่จะเสียเกียรติ ทำลายหลักการได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้ากฎหมายที่ตราออกมาแล้วเป็นกฎหมายเลว ย่อมต้องกลายเป็นปัญหาของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขไปตามกระบวนการที่สามารถตรวจวัดได้จากปัญหาทางกฎหมาย หรือช่องว่างหลังจากการประกาศใช้ แต่ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของคน (Human Error) อย่างตั้งใจ ทำลายความชอบธรรมของตนเองอย่างไร้มโนธรรมสำนึก สร้างความเจ็บปวด คับแค้นใจต่อประชาชนทั้งประเทศ ยากที่จะหวนคืนให้ยอมรับความผิดพลาดนั้นได้

ประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน มีความเป็นไทในตัวตนเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ในอดีตมาจนปัจจุบัน ย่อมจะไม่ทนต่อผู้นำที่นิยมอำนาจเผด็จการและกลุ่มผู้มีอำนาจตีความกฎหมายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนไปนานๆได้ ผู้คนเหล่านี้ตอบโต้ประชาชนด้วยการออกกฎหมายห้ามการวิจารณ์พวกเขา หรือไม่ห้ามแต่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่พร้อมจะลงโทษทางกฎหมายกับประชาชนได้ใช้อำนาจของตนที่ระบอบอำนาจเผด็จการนิยมประเคนให้

ผู้เขียนเชื่อกฎธรรมชาติของคนไทย สิ่งที่เห็นและกำลังดำเนินให้มีกลไกตรวจสอบองค์กรอิสระ กลุ่มคนผู้ใช้อำนาจตีความได้อย่างที่ทำกับนักการเมือง อันจะเป็นรากฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ อาทิ การเปลี่ยนผู้นำหรือการกำจัดจุดอ่อนต่อการพัฒนาประเทศ เพราะคนไทยจะตั้งความหวังให้ผู้นำเปลี่ยนแปลงตนเอง เพิ่มความฉลาดทางสติปัญญา และทางอารมณ์ ทางความคิด รวมถึงการใช้เหตุผลที่ดี ก็คงจะไม่ทันกาล และไม่จำเป็นต้องทนผู้นำลักษณะนี้อีกต่อไป เพราะไม่ต้องให้โอกาส มีเวลาจะให้วางยุทธศาสตร์ชาติจากผู้นำเช่นนี้อีก แม้ปีเดียวก็พังพินาศได้ โดยไม่รอชาติหน้า การพิจารณาความจำเป็นและตรวจสอบองค์กรอิสระและกลุ่มผู้ใช้อำนาจตีความกฎหมายโดยกฎหมายที่เท่าเทียมกัน เป็นต้น

มิเช่นนั้นอำนาจการตีความอย่างไร้ขอบเขตและตามอำเภอใจของผู้นำ ผู้มีอำนาจในองค์กรอิสระ และกลุ่มผู้ใช้อำนาจตีความกฎหมายต่างๆ จะเป็นเครื่องมือในทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

ผู้เขียนมองย้อนกลับไปถึงการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อแสดงเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศ ในช่วงเป็นสิบปีที่ผ่านมาจากประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนได้เป็นอาสาสมัครทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง เกิดความเข้าใจว่า เป็นปรากฏการณ์พลังความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อความเป็นประชาธิปไตย และเริ่มชัดเจนในข้อเรียกร้องและความต้องการที่จะผลักประเทศให้ไปทิศทางใด

แม้นักเลือกตั้งบางคนหรือนักการเมืองที่จะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงยังมีไม่มากปะปนไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร ถ้าหากไม่เป็นผู้สมคบคิดกับฝ่ายผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จดังที่กล่าวมา ผู้เขียนได้ประสบพบเห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกดขี่ ถูกเล่นงานอย่างไร้มนุษยธรรม จึงเข้าใจว่าการสูญเสียชีวิตของประชาชนที่ออกมาต่อสู้ความไม่เป็นธรรม เรียกหาความยุติธรรม ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดี ได้สะท้อนถึงอัตวิสัยของผู้นำประเทศและผู้มีอำนาจขององค์กรต่างๆในประเทศ ความอัปยศของผู้มีอำนาจแผ่กระจายฝังรากลึกสร้างค่านิยมไปทั่วเพื่อสนองต่ออำนาจของชนชั้นทางปกครองมานาน แม้คนเหล่านั้นอาจจะรู้ว่าตนเองทำลายหลักการนิติรัฐก็ตาม

ความจงใจหรือจำยอมใช้อำนาจในการตีความอย่างไรก็ได้ตามใจชอบโดยไม่สนใจประชาชน หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์ที่ร่ำเรียนและถูกพัฒนามากลับถูกก้าวข้ามอย่างน่าผิดหวัง หลักการควบคุมผู้มีอำนาจในการตีความจึงไม่สามารถใช้การได้ และไม่เปิดช่องให้มีกระบวนการตรวจสอบการกระทำนั้นได้จริง

ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการที่จะทำให้ประเทศมีผู้นำที่ดี ไม่พูดมากจนหาสาระและผลงานไม่ได้ อาจจะไม่ใช่การเลือกตั้ง เพราะผู้มีอำนาจในประเทศที่สามารถทำลายการเลือกตั้งได้ก็เห็นมาแล้ว บุคคลที่ผู้สมรู้ร่วมคิดที่มีอำนาจตีความกฎหมายใช้อำนาจอำพรางวางตัวให้ผู้นำที่ไร้ภาวะผู้นำ กลับสร้างความไร้มาตรฐาน ละเลยต่อหลักการ แบบเขียนด้วยมือแต่ลบด้วยเท้าอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการแกล้งทำดี สร้างภาพลักษณ์ดี และอ้างความเป็นคนดีด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยเหตุนี้คนไทยที่อยากเป็นไท อยากจะเปลี่ยนแปลง ต่างก็ทราบเหตุแห่งปัญหาของการใช้อำนาจตีความกฎหมายและเทคนิคทางกฎหมายที่แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ยังถูกบิดเบือน บิดหลักการได้อย่างง่ายดาย

เราจึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ดีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้โดยที่เราไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นการบ่อนทำลายความร่วมมือของประชาชนด้วยกันเอง

คนไทยต้องทำในทันที เพราะประเทศไทยถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน แล้วเปลี่ยนไปสู่ความเป็นไทจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด ต้องร่วมมือช่วยกัน “เปลี่ยน” ครั้งสำคัญนี้


You must be logged in to post a comment Login