วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

นักระบาดวิทยาสังคม ม.มหิดล คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 ประเภทดีเด่นเฉพาะทางสาขาการวิจัย

On November 4, 2022

รองศาสตราจารย์ ดร. โธมัส อี. กวาดามูซ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “HIV prevention among young men who have sex with men in Thailand” ซึ่งในประเทศไทย กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men- MSM) ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงที่สุด โดยมีระดับความชุกของการติดเชื้อเอชไอวี ถึง 1 ใน 3 มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่สูงขึ้นเช่นกัน และการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงไม่เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศไทย งานวิจัยดังกล่าว มุ่งแสวงหาวิธีการ และนวัตกรรมในการช่วยเหลือและหนุนเสริมในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าถึงบริการการตรวจเลือดที่ง่ายและรวดเร็ว และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถรับประทานยาต้านเชื้อเอชไอวี และเข้าถึงบริการการรักษาที่รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังศึกษาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานยาต้านไวรัสและการเข้าถึงบริการการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับทางสังคม สิ่งที่ได้ดำเนินงานวิจัยไป คือ การตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง โดยผ่านการให้คำปรึกษาออนไลน์กับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มีความรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการตรวจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. โธมัส อี. กวาดามูซ ได้ศึกษากลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่มีปัญหาเรื่องการรับประทานยาต้านเชื้อเอชไอวี เช่น การรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง (medication adherence) การออกจากกระบวนการการรักษาอย่างต่อเนื่อง (HIV care continuum) โดยศึกษาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทางสังคม เช่น การตีตรา ความรู้สึกท้อ การไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และเพื่อนฝูง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีความเปราะบางทางสุขภาวะ

รองศาสตราจารย์ ดร. โธมัส อี.กวาดามูซ ได้ฝากทิ้งท้ายว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นมีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการ นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน รางวัลที่ตนได้รับในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตนขอมอบรางวัลนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวภาคีเครือข่ายด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปะของมหาวิทยาลัยมหิดล (MU-SSHA) และนักวิจัยนักวิชาการสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นั้นสามารถเป็นนักวิจัยดีเด่น ได้เช่นกัน”


You must be logged in to post a comment Login