วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

สสส.-ภาคีเครือข่าย เดินหน้าลดปัจจัยเสี่ยง หยุดขัดแย้ง ไม่ตีตรา สร้างสังคมสุขภาวะ

On September 15, 2022

วันเยาวชนแห่งชาติ พบ เหล้า – สารเสพติด ทำวัยรุ่นไร้อิสรภาพ เข้าสถานพินิจ 82% สร้างบทเรียนราคาแพง สสส. – ภาคีเครือข่าย เดินหน้าลดปัจจัยเสี่ยง หยุดขัดแย้ง ไม่ตีตรา สร้างสังคมสุขภาวะ

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 ที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดเสวนา “วัยรุ่นกับศักดิ์ศรีและความรุนแรง…บทเรียนราคาแพง” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 ก.ย.

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ  รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ ได้ยกประเด็นความรุนแรงเป็นบทเรียนราคาแพงในกลุ่มวัยรุ่นขึ้นมา มีเป้าหมายเผยสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาเสพติด ที่นำมาสู่ความรุนแรง และการก้าวพลาดของเยาวชน หลังการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า เยาวชนที่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย พฤติกรรมอาจมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม และมีโอกาสใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการก้าวพลาด ผลสำรวจเยาวชนในสถานพินิจ ปี 2564 โดย รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า 82% เยาวชนที่เข้ามาใช้สารเสพติด และเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ก่อความผิด และทำผิดซ้ำ โดยสารเสพติดที่พบมากสุดคือ ยาสูบ แอมเฟตามีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกว่า 90% ใช้มากกว่า 1 ประเภท แม้ว่าผลสำรวจแนวโน้มการดื่มสุราในประชากรไทยปี 2554 – 2564 พบคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องย้ำเตือนเพื่อให้เกิดความตระหนัก  รู้เท่าทัน และสร้างความมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน องค์กร เพื่อร่วมกันทำงานเชิงรุกแก้ปัญหา ปกป้องเด็ก เยาวชน และสังคม ให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาต่างๆ ให้ลดน้อยลงและยังเป็นการเสริมสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย และสังคมที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเยาวชนที่ก้าวพลาด ให้ลุกขึ้นยืนและคืนคุณค่าอย่างสันติ เป็นจุดยืนของบ้านกาญจนาฯ แม้ว่าจะเป็นงานยาก เนื่องจากความคิดและค่านิยมสังคมมองคนกลุ่มนี้ติดลบ แต่ยังเชื่อว่าการทำงานกับวัยรุ่นที่เป็นคู่ขัดแย้ง ให้หันมาเป็นมิตรสามารถทำได้ผ่าน 6 แนวคิด 1. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.ปฏิเสธระบบอำนาจนิยมหรืออำนาจแนวดิ่ง และพัฒนาอำนาจในแนวราบ 3.เปิดรับข้อมูลจากเยาวชนและวัยรุ่นทุกคน รวมถึงคู่ขัดแย้งให้มากที่สุด เพื่อนำมาวางแผนขับเคลื่อนแก้ปัญหา 4.ใช้แนวทาง Pay it Forward คือจ่ายค่าความเสียหายไปก่อน เพราะทุกการแก้ปัญหาอาจมีราคาที่ต้องจ่าย และอาจแพงมาก 5.ต้องอดทนต่อสู้สร้างการเปลี่ยนแปลง แม้ต้องใช้เวลานาน 6.กล้าถูกเกลียดจากการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาเยาวชน

นายเบนซ์ อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตอนอายุ 15 ปี ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนในชุมชน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด ต่อมามีวัยรุ่นชายอายุรุ่นเดียวกันกำลังคบหากับผู้หญิงในชุมชน แต่ตัวเองกลับไม่ชอบหน้าจึงตามหาเรื่องและทะเลาะตลอด เมื่อเข้าเรียนต่ออาชีวศึกษาก็อยู่สถาบันที่เป็นคู่อริกัน สุดท้ายได้ใช้ปืนยิงต่อสู้จนมีคนเสียชีวิต ทำให้ชายคนดังกล่าวได้รับโทษและถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ส่วนตัวถูกจับข้อหาอื่น และถูกส่งไปยังบ้านต้นทาง เมื่อได้รับการปล่อยตัวก็ทำพฤติกรรมเกเรเพื่อให้ได้ย้ายตามไปอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ หวังแก้แค้น แต่พอเข้าไป ระบบการดูแล และวัฒนธรรม กลับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้ความรุนแรง มีโอกาสคุยกับคู่กรณีซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นเพื่อนกันแล้วพบว่า เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน แต่เป็นความคึกคะนองของวัยรุ่นที่ทำให้มีปัญหา

“มองย้อนกลับไปเสียใจมาก ขอให้คนรุ่นใหม่ใช้ประสบการณ์ชีวิตทั้งดีและร้ายเพื่อเตือนตัวเอง เมื่อเจอเหตุการณ์อะไรขอให้มีสติ คิดให้มาก เพราะถ้าพลาดแล้วบางคนสามารถแก้ตัวได้ แต่บางคนอาจเสียชีวิต ไม่มีโอกาสได้แก้ไขอะไรเลย และฝากครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น ให้พยายามพูดคุย พออยู่ฝั่งเดียวกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าข้างเมื่อทำผิด แต่ต้องเอาใจใส่ เปิดโอกาส ซึ่งสำคัญมาก” นายเบนซ์ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login