วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

‘รมต.อนุชา’ ลงพื้นที่ภาคอีสาน ชงกองทุนหมู่บ้านตัวอย่าง ตัวช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ย้ำความสำเร็จการจัดการทางการเงินระดับวิสาหกิจชุมชน

On August 6, 2022

“รมต.อนุชา” ลงพื้นที่ พบปะวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านฯ กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน เปิดโครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านชุมชน พร้อมมอบ 30 รางวัลความสำเร็จชุมชนตัวอย่าง สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พร้อมถ่ายทอดสร้างเครือข่าย กองทุนหมู่บ้านฯ สู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้มั่นคง สอดรับการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 – ณ ห้องประชุมเทพสถิต โรงแรมชัยภูมิปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ  นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด “โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน” กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ขอนแก่น และมหาสารคาม ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมี นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ คณะผู้บริหารในพื้นที่ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าร่วม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชน ผ่านการขับเคลื่อนของ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชน สู่การพัฒนาอาชีพ การบริการ ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ที่มั่นคง และเกิดการออม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในระดับพื้นที่ ในหมู่บ้าน และชุมชน ให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการเงินกองทุน ด้วยการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบาย BCG เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินโครงการในพื้นที่ภาคอีสานในครั้งนี้  ได้เปิดโอกาสให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงาน  แลกเปลี่ยนองค์ความรู้  พร้อมถ่ายทอดบทเรียนของชุมชนต่างๆ และประสบการณ์ นำไปสู่การต่อยอดและขยายผลในด้านการบริหารจัดการหมู่บ้านและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งต่อความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน ที่สามารถพัฒนาอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับความร่วมมือระหว่างกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาต่อยอดโครงการให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น  เพื่อนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชนสู่ระดับจังหวัด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ส่วนความคืบหน้าโครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน จะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการปั๊มน้ำมันชุมชนของกองทุนบ้านโคกสำราญ หมู่ที่ 1 ต.โคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ที่ดำเนินกิจการในรูปแบบการบริหารจัดการปั๊มน้ำมัน มีสมาชิกสนใจซื้อหุ้นโครงการปั๊มน้ำมัน จำนวน 173 หุ้น โดยมีการปันผลกำไรให้กับสมาชิก 30% โครงการกองทุนหมู่บ้านหนองแวงไร่ หมู่ 1 ตำบลในเมือง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ดำเนินกิจการในรูปแบบของสถาบันการเงินชุมชน มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 240 ราย คิดเป็น  12.28% ของจำนวนประชากรที่มีอยู่ หรือ 72.22% ของจำนวนครัวเรือน โดยดำเนินกิจกรรมเปิดให้มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น เป็นจำนวนเงิน 10 บาท  โดยเงินกู้ของสมาชิกจะได้จากเงินค่าหุ้นที่สะสมคูณด้วย 3 แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท  ทำให้เกิดสมาชิกมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อไปประกอบอาชีพ  สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง  โครงการกองทุนหมู่บ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ดำเนินกิจการในรูปแบบของสถาบันการเงินชุมชน มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 169 ราย จากจำนวนประชากรทั้งหมด 612 ราย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป พนักงานเอกชน และรับราชการ โดยดำเนินกิจกรรมเปิดให้มีการปล่อยกู้และรับฝากเงินออมให้กับสมาชิก  มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิกไม่เกินรายละ 3 หมื่นบาท และครอบครัวละไม่เกิน 75,000 บาท    

นายคำสิงห์ โสภาจิต ประธานกองทุนบ้านโคกสำราญ หมู่ที่ 1 กล่าวว่า ได้รับงบประมาณจากโครงการประชารัฐ 3 ครั้งรวม 1.2 ล้านบาท ได้แบ่งไปดำเนินการจัดซื้อปุ๋ยสำหรับประชาชน 5 แสนบาท ทำปั๊มน้ำมัน 5 แสนบาท และ โครงการโต๊ะเก้าอี้เครื่องครัวสำหรับเช่า 2 แสนบาท โดยโครงการปั๊มน้ำมันดำเนินการไปได้ดีจึงส่งเข้าประกวดและได้ที่ 3 ถือเป็นกำลังใจว่ากองทุนเล็กๆ ก็สามารถบริหารจัดการอยู่ได้ด้วยตัวเอง

“โครงการปั๊มน้ำมันเป็นโครงการที่สร้างความสะดวกสบายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะไม่ต้องออกไปเติมปั๊มน้ำที่อยู่ห่างไกลเกือบ 10 กิโลเมตร ที่สำคัญจุดที่ตั้งปั๊มน้ำมันเป็นทางผ่านที่จะไปแหล่งท่องเที่ยวแก่งละว้า กลุ่มวัยรุ่นที่จะไปเที่ยวก็จะแวะเติมน้ำมัน ทำให้ปีที่ผ่านมาเรามีกำไรถึง 1.5 แสนบาท โดยผลกำไรนี้เราจะนำไปปันผลให้สมาชิกตามระเบียบ 30% นอกนั้นก็จะเป็นสวัสดิการ ค่าตอบแทนกรรการ ค่าบริหารจัดการ ค่าบำรุง”นายคำสิงห์ กล่าว

นายทองใบ พร้อมพรั่ง ประธานกองทุนหมู่บ้านหนองแวงไร่ หมู่ 1 กล่าวว่า เดิมทีกองทุนมีเงิน 2.7 ล้านบาท แต่ตนมองว่ายังไม่เพียงพอที่จะให้คนมายืม จึงระดมหุ้นจากสมาชิกเดือนละ 100-200 บาท รวมแล้วมีเงินหุ้นเดือนละ 25,000 กว่าบาท ปัจจุบันรวม 2 ล้านกว่าบาทแล้ว รวมกับกองทุนทำให้เรามี 5 ล้านกว่าบาท เพียงพอต่อสมาชิกที่ส่วนมากทำการเกษตรที่จะกู้เงินไปประกอบอาชีพ เช่น ค่าไถ ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์

“ธุรกิจกองทุน คือ เราจ่ายเงินกู้ให้สมาชิกเพียงอย่างเดียว คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6  ต่อปี แค่นี้เราก็มีกำไรแล้ว สิ้นปีก็จัดสรรกำไรปันผลให้สมาชิกร้อยละ 10 จากเงินที่ส่ง กำไรส่วนหนึ่งจะแบ่งสำหรับสาธารณะประโยชน์ในชุมชน ให้ทุนการศึกษา สนับสนุนศาสนา สมทบค่าไฟฟ้าศาลากลางบ้าน และ จุดแข็งคือสมาชิกให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ 2 ปี ก็จ่ายครบ โดยผู้ที่ชำระเงินกู้ตามเป้าหมายถึง 84% ที่เหลือทยอยส่ง ที่สำคัญทุกคนชำระดอกเบี้ย 100% ข้อดีคือสามารถลดหนี้นอกระบบในชุมชนอย่างชัดเจน ตอนนี้เราไม่มีไอ้โม่งใส่หมวกกันน็อคเข้ามาในชุมชนเลย”

ด้านนายสมจิตร ไชยคำภา ประธานกองทุนหมู่บ้านโนนสะอาด หมู่ 10 กล่าวว่า สมาชิกกองทุนปัจจุบันมี 169 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง บางส่วนรับราชการ และเป็นข้าราชการเกษียณ เงินที่ปล่อยกู้ส่วนมากจะนำไปใช้จ่ายประจำวัน หรือเหตุฉุกเฉิน บางส่วนนำไปประกอบอาชีพ ขายก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ทำให้สมาชิกมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้รวดเร็วขึ้น และเราเล็งเห็นว่าหากไม่มีเงินออมชาวบ้านจะลำบาก เลยผันตัวเองเป็นสถาบันการเงิน ด้วยการอำนวยความสำดวกให้ชาวบ้านนำเงินมาฝากที่เรา แล้วเราจะออกใบนำฝากชำระเงินให้กับสมาชิก จากนั้นจะนำไปฝากที่ธนาการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ให้กับชาวบ้าน เหมือนว่าเราเป็นไปรษณีย์ เหนื่อยแทนสมาชิกไม่ต้องเดินทาง เพราะเราต้องการให้เขากินดีอยู่ดี

ขณะที่กองทุนประชารัฐได้รับมา 1.2 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้านโนนสะอาดได้นำไปสร้างอาคารศาลาเอนกประสงค์ ไว้สำหรับทำงานและให้เช่าห้องประชุม และ ทำเรื่องปุ๋ยให้ชาวบ้าน เมื่อมีกำไรส่วนหนึ่งก็ปันผลคืนให้กับสมาชิกเช่นกัน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนมากขึ้น

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบรางวัลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตัวอย่าง จำนวน 10 รางวัล, รางวัลโครงการตามแนวทางประชารัฐตัวอย่าง จำนวน 10 รางวัล และรางวัลเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตัวอย่าง จำนวน 10 รางวัล พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการฯ


You must be logged in to post a comment Login