วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

แนวทางการส่งเสริมจักรยานที่แท้จริง

On April 6, 2022

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 6 เม.ย.  65)

ในแถลงการณ์ 2 ของผมในฐานะที่เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2556 ผมเสนอเรื่องแนวทางการส่งเสริมจักรยานที่แท้จริง เมื่อวันอาทิตย์ 27 มกราคม 2556 ท่านผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 ลองนำไปพิจารณาดู เผื่อจะเป็นประโยชน์และมีผลในทางปฏิบัติ

แปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า มีความเป็นไปได้ทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาไม่ดำเนินการเพิ่งมารณรงค์ในช่วงหาเสียงกันเพราะอะไร

ในช่วงนี้ (พ.ศ.2556) มีข่าวผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จาก 2 พรรคใหญ่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้จักรยานในกรุงเทพมหานคร ผมขออนุญาตแสดงวิสัยทัศน์ที่เป็นไปได้จริงต่อแนวทางการส่งเสริมจักรยานที่แท้ โปรดพิจารณาดูนะครับ

การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงเพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้

หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท  ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว  จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท  ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใด ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น

ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท  เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ  17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน

หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก  และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย

ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ ทำไมที่ผ่านมาส่วนราชการฝ่ายการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการโดยเร็ว แต่มารณรงค์กันในช่วงเลือกตั้งนี้  ผมเชื่อว่าคงเป็นเพราะโครงการนี้มีมูลค่าไม่มากนัก  จึงอาจไม่จูงใจให้ดำเนินการเท่าโครงการที่มีมูลค่าสูงอื่น ๆ

อนึ่งในภาพที่แนบนี้ผมขี่จักรยานเช่าในกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนกันยายน 2555 ซึ่งผมได้รับเชิญไปประชุมในฐานะที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งสภาคองเกรสให้เป็นผู้ออกมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สิน)

รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่:  https://bit.ly/37Xqxur


You must be logged in to post a comment Login