- อย่าลงโทษมนุษย์มากเลยPosted 3 hours ago
- สงสารสัตว์โลกที่ก่อสงครามPosted 1 day ago
- มนุสสเปโตPosted 2 days ago
- ผู้ใหญ่ไม่รังแกเด็กPosted 3 days ago
- ควรเลือกวิธีอื่นที่ดีกว่านี้Posted 6 days ago
- ทำสติให้มั่นคงPosted 1 week ago
- บทเรียนPosted 1 week ago
- หลบฉาก – เก็บแต้มPosted 1 week ago
- พี่ไทยทำได้Posted 1 week ago
- อยากเห็นทุเรียนก่อนตายPosted 1 week ago
ทักษะจำเป็นสำหรับนายหน้า
คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 22 ก.พ. 65)
มาสำรวจกันดูว่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนนั้น ต้องมีทักษะ “อื่น” ที่นอกเหนือจากทักษะประจำตัวของนายหน้าอะไรบ้าง ทักษะเหล่านี้จะช่วยทำให้นายหน้าสามารถ “อยู่ยั้งยืนยง” ได้ และสามารถเป็นผู้นำในวงการนายหน้าได้
1. ทักษะการใช้ภาษาไทย
การสะกดคำ การใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง การเรียบเรียงประโยคในการพูดหรือการเขียน ถือเป็นเสน่ห์สำคัญที่แสดงถึงความใส่ใจในการศึกษาในอดีตถึงปัจจุบัน และแสดงถึงความรอบรู้ของเราในขณะนี้อันจะยังความประทับใจแก่ลูกค้า และสร้างความน่าเชื่อถือแก่ตัวนายหน้าเอง ยิ่งกว่านั้น การใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ยังช่วยให้เราสามารถเขียนรายงาน บทสรุปการทำงาน บทความเพื่อการเผยแพร่ในอนาคตอีกด้วย
2. ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษอาจไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา แต่หากเป็นไปได้ ก็ควรเรียนรู้ภาษาอังกฤษบ้าง แม้นายหน้าบางท่านจะมีอายุมากแล้ว ก็สามารถเรียนภาษาอังกฤษได้ เราพึงถือคติว่า “ความรู้ย่อมเรียนทันกันหมด” สถาบันสอนภาษามีมากมายที่จะให้ความรู้แก่เรา และคงต้องใช้เวลาในการเรียน เช่น 1-2 ปีจึงจะประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถเรียนได้ ใช้ภาษาอังกฤษในการพูดหรือการเขียนไม่ได้ เราก็ยังอาศัยทีมงานของเราในการสนับสนุนได้ นักการเมืองระดับชาติหลายคนในหลายประเทศก็ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เช่นกัน
3. ทักษะด้านการคำนวณ
ทักษะการคำนวณในที่นี้สำหรับนายหน้ามุ่งหมายถึงทักษะในการนับจำนวนของวัตถุ การบวก ลบ คูณ หาร การหาค่าเฉลี่ยต่างๆ (เช่น ในระหว่างการคำนวณภาษี) รวมถึงการคำนวณอื่นๆ อันได้แก่ การคำนวณหาปริมาณต่างๆ (เช่น ค่าถมดิน) และรวมไปถึงการคำนวณค่ายกกำลัง การคำนวณโดยใช้สูตรตั้งแต่สูตรคูณที่ง่ายๆ ไปจนถึงการถอดสมการที่ซับซ้อน (ถ้ามี/ถ้าทำได้)
ทักษะการคำนวณที่นายหน้าควรได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ ควรส่งเสริมให้แก่เด็กปฐมวัย ได้แก่ การนับจำนวนของวัตถุ การนำจำนวนตัวเลขมากำหนด หรือบอกลักษณะต่าง ๆ เช่น ความกว้าง ความยาว ของพื้นที่ดินที่ขาย ความสูงของโกดัง ขนาดพื้นที่ ปริมาตร หรือราคาค่าก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีตารางคำนวณไว้โดยมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย (www.taeaf.org) หรือหน่วยงานอื่น
ตัวเลขง่ายๆ บางอย่างที่พึงทราบ เช่น
1 ตารางฟุต เท่ากับ 0.092903 ตารางเมตร
1 เอเคอร์ เท่ากับ 4,046.856 ตารางเมตร
1 เฮกตาร์ เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร
1 ไร่ เท่ากับ 400 ตารางวา หรือ 1,600 ตารางเมตร เป็นต้น
4. ทักษะพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์
ในยุค IT หรือ Information Technology เราต้องมีความรู้ด้านนี้บ้าง ในปัจจุบัน แม้แต่ผู้สูงวัยอายุ 80-90 ปีเป็นจำนวนมากก็สามารถใช้อุปกรณ์ IT ได้ นายหน้าที่มุ่งจะประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีความรู้ในสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ทั้งนี้ได้แก่ คีย์บอร์ดไร้สาย (Wireless Keyboard) เมาส์ไร้สาย (Wireless Mouse) เราเตอร์ขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ต (Router Wireless) เว็บแคม (Webcam) หน้าจอคอมพิวเตอร์ (Monitor) หูฟังไร้สาย (Head Set wireless) อุปกรณ์เก็บข้อมูลภายนอกเครื่องคอมพิวเตอร์ (Flash Drive, Thumb Drive หรือ Handy Drive) และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ทั้งภายในและภายนอก (SDD, HDD และอื่นๆ) เป็นต้น นอกจากนี้นายหน้ายุคใหม่คงต้องรู้เรื่องการตลาด Online
5. ทักษะการพิมพ์และงานธุรการ
ทักษะเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ทักษะการพิมพ์สัมผัส ซึ่งจะทำให้เราพิมพ์งานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง (ใช้เวลาไม่นานในการเรียนรู้ ไม่เกิน 2 สัปดาห์) อย่างไรก็ตามทักษะการพิพม์อาจลดความสำคัญลงในอนาคต เพราะอาจใช้เสียงให้พิมพ์แทน แต่ก็มักมีคำผิดพลาดมากมาย
สำหรับงานธุรการที่ควรทราบก็คือการร่างหนังสือโดยเฉพาะหนังสือในการติดต่อราชการซึ่งมักต้องเป็นเอกสารที่เป็นทางการ การเดินหนังสือ ฟอร์มจดหมายต่างๆ แบบฟอร์มสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายหน้า ตลอดจนงานจัดเก็บเอกสาร เป็นต้น
6. ทักษะการสอนงาน
ในการเริ่มงานนายหน้า เราอาจเริ่มที่ตัวเองเป็นหลัก ในลักษณะที่เป็นบริษัทที่มีตัวคนเดียว (One Man Organization) อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพัฒนา ก็อาจจ้างลูกจ้าง พันธมิตร หรือผู้ร่วมทุน ผู้ร่วมหุ้น เพื่อนร่วมงานมาทำงานแทน โดยที่เราไม่ต้องทำทุกขั้นตอนเอง ดังนั้นทักษะการสอนงานจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เราจะสอนงานอย่างไรให้ผู้เรียนเป็นเร็ว จะได้เป็นเสมือน “แขนขา” ของเราในอนาคตนั่นเอง
กระบวนการในการถ่ายทอดความรู้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ถ้าเราไม่มีความรู้จริง ก็อาจไม่สามารถถ่ายทอดได้ แต่บางคนอาจมีความรู้จริง แต่ไม่สามารถถ่ายทอด หรือไม่มีทักษะในการถ่ายทอด ความรู้ก็จะไม่ได้รับการเผยแพร่ การพัฒนาทักษะในการถ่ายทอด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นายหน้าเติบโตในวิชาชีพ รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้แก่สาธารณะอีกด้วย
7. ทักษะการเป็นผู้นำ
เมื่อการทำงานมีเป็นองค์กร มีผู้ร่วมงานมากขึ้น บริษัทนายหน้าของเราก็อาจเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs (Small and Medium Enterprises) เราในฐานะนายหน้าผู้ก่อตั้งบริษัท ก็อาจต้องเป็นผู้นำ ผู้นำในองค์กรธุรกิจต้องทำอย่างไรบ้าง เราต้องมีทักษะผู้นำเพื่อให้งานของเราประสบความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง
ลักษณะผู้นำที่ดีได้แก่ กล้าเปลี่ยนแปลง เข้าถึงง่าย เปิดโอกาส พบเห็นสิ่งผิดปกติ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความรับผิดชอบ มีมาดผู้นำ มุ่งที่ทีมงาน รู้จักเรียนรู้ สร้างความร่วมมือ สามารถวางแผน แสดงความรับผิดชอบ ให้คำปรึกษา เป็นต้น
8. ทักษะการบริหารองค์กร
รูปธรรมสำคัญของความสำเร็จในอาชีพการงานก็คือการบริหารองค์กรให้อยู่ยั้งยืนยง หรือยั่งยืนและมีพัฒนาการนั่นเอง นายหน้าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพจึงต้องมีทักษะในการบริหารองค์กรให้ได้ ไม่ใช่เพียงทำงานคนเดียวไปตลอด (แต่บางท่านก็อาจชอบที่จะอยู่ในระดับ One Man Organization) แต่หากเราคิดจะฝากชื่อไว้ในวงการหรือร่วมพัฒนาวิชาชีพนายหน้า ก็พึงที่จะสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง
ทักษะในการบริหารองค์กรประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมาย การจัดระเบียบทรัพยากร การติดตามและประเมินผล การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารความขัดแย้ง การบริหารเทคโนโลยี การบริหารเวลาการบริหารการเปลี่ยนแปลง การมอบหมายงาน การรู้จักดูแลตัวเอง การลำดับความสำคัญ การวางแผน กำหนดการหรือห้วงเวลาในแต่ละงาน ความมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
จะสังเกตได้ว่าทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่นักวิชาชีพอื่นก็พึงมีเช่นกัน เพื่อที่จะให้มีการเติบโตจากเล็กสู่ใหญ่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพใดๆ ก็ตามไว้ในประเทศไทยนั่นเอง
ทักษะเสริมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อการพัฒนาวิชาชีพนายหน้าให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
You must be logged in to post a comment Login