วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สสส.-สคอ.-ภาคีเครือข่าย ถก “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2565

On December 23, 2021

เมื่อวันที่ 22  ธันวาคม 2564 ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2565  เพื่อสร้างกระแสรับรู้ มอบความห่วงใย และชี้ถึงผลกระทบความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล

นางก่องกาญจน์  ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า ใกล้ช่วงเทศกาลเดินทางปีใหม่ 2565 ประชาชนเตรียมแผนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นโอกาสในการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้ท่องเที่ยว ฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัยและมีความสุข สสส.และภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยทางถนน ให้ความสำคัญกับงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ขับเคลื่อนงานโดยเน้น 1.ลดพฤติกรรมเสี่ยง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากการใช้ความเร็วเกินกำหนด การดื่มไม่ขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัย และ 2.สร้างสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย สร้างมาตรการในระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ในการลดอุบัติเหตุทางถนน

นางก่องกาญจน์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากระบบแฟ้มสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 799,009 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 227,194 คน ในจำนวนนี้อาจกลายเป็นผู้พิการถึง 10,450 คน ซึ่งคำนวณจากผลการศึกษาอุบัติเหตุของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่พบว่า 4.6% ของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จะกลายเป็นผู้พิการรายใหม่ เทศกาลปีใหม่ 2565 นี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงสื่อสารรณรงค์ผ่านแคมเปญ “รับไหว” เพื่อเตือนสติทั้งผู้ขับขี่ให้ได้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลไปยังครอบครัวของตนเองรวมทั้งครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย และกระตุ้นให้ “กลุ่มผู้ใกล้ตัวของผู้ดื่ม” ช่วยกันเตือนสติผู้ที่กำลังดื่มแล้วบอกว่าตนเอง “ขับไหว” ด้วยคำง่ายๆ ว่า “รับไหวหรือ ? สสส. ขอชวนช่วยกันลดตัวเลข ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่วันนี้ หมั่นคอยเตือนสติทั้งตัวเองและคนรอบข้างไว้เสมอว่า “รับไม่ไหว..อย่าบอกขับไหว ” ถ้าดื่ม..ต้องไม่ขับ เพื่อให้ทุกคนได้ฉลองในเทศกาลปีใหม่นี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2564 ตรวจพบมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 มากถึง 17% โดยในปี 2564 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 5,387 ราย มากกว่าปี 2563 ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 4,415 ราย ขณะที่ ข้อมูลระหว่างปี 2550-2564 คนไทยมีพฤติกรรมดื่มประจำถึง 44% ในจำนวนนี้ กว่า 1 ใน 3  หรือ 36% ดื่มหนัก และมีพฤติกรรมการดื่มแล้วขับสูงถึง 31% อายุเฉลี่ยดื่มครั้งแรก 20 ปี ดังนั้น มาตรการเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2565 นี้ ทุกฝ่ายควรดำเนินการตามนโยบายความปลอดภัยทางถนนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คือ 1.ช่วงเตรียมการ ควรสำรวจจุดเสี่ยง ปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมถนนก่อนเทศกาลปีใหม่ เตรียมความพร้อมผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครองเฝ้าระวังในพื้นที่ 2.ช่วงเทศกาล ขอให้เพิ่มการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การตั้งด่านตรวจ จุดคัดกรอง ด่านชุมชน เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง สกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกถนน และ 3.ช่วงเดินทางกลับ เน้นการจัดจุดพักรถให้บริการผู้ขับขี่ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ลดการหลับใน 

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันยังคงเป็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ที่เข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายยากต่อการควบคุม ทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่อายุน้อยลง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้าน มีเวลาว่างก็มีการดื่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดจากการตั้งวงดื่มเหล้า ผลเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะเสียสุขภาพแล้ว ยังทำลายภูมิต้านทาน ลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19  เพิ่มการกระจายเชื้อ ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่า เกิดคลัสเตอร์จากวงเหล้าจำนวนมาก ทางที่ดีที่สุดคือ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและยังช่วยลดค่าใช้จ่าย 

นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.สระบุรี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองแค จ.สระบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง เพราะเป็นเส้นทางสัญจรผ่านไปภูมิภาคอื่น  กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มีมาตรการล๊อกดาวน์ทำให้อุบัติเหตุในพื้นที่ลดลง แต่หลังจากการคลายมาตรการ ปัญหาอุบัติเหตุก็เริ่มกลับมา ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการขับเร็วและการดื่มเหล้า ซึ่งการดื่มแล้วขับเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เพิ่มภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องมาดูแลในส่วนนี้เพิ่มขึ้นและไม่เพียงพอต่อการทำงานในส่วนอื่น ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จึงได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การจัดเวรปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในช่วง 7 วันอันตราย ตลอดจนการดูแลกรณีคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เข้ามารักษาช่วงโควิด-19 สำรองเตียงแยกเฉพาะเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด การตัดสินใจไม่ดื่มหรือดื่มไม่ขับจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้ และเป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้อีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login