วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

วิทยาศาสตร์ทำให้มุสลิมเข้าหาศาสนายิ่งขึ้น

On December 17, 2021

คอลัมน์ : สันติรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

คัมภีร์กุรอานเป็นบันทึกวจนะครั้งสุดท้ายของพระเจ้าที่ประทานแก่มนุษยชาติผ่านทางนบีมุฮัมมัดเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์จนถึงวันสิ้นโลก เป็นคัมภีร์ที่ยังคงภาษาอาหรับต้นฉบับไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่ตัวอักษรเดียวตั้งแต่สมัยนบีมุฮัมมัดจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น  มุสลิมในปัจจุบันจึงอ่านคัมภีร์กุรอานเหมือนกับนบีมุฮัมมัดและสาวกในสมัยของท่านอ่าน

คัมภีร์กุรอานประกอบด้วย 6,236 วรรคตอน สั้นบ้างยาวบ้าง  แต่ละวรรคตอนถูกเรียกว่า “อายะฮฺ” ที่หมายถึง “สัญญาณ” พหูพจน์ของคำนี้คือ “อายาต”  สิ่งที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของคัมภีร์กุรอานก็คือมีมุสลิมนับแสนคนสามารถท่องจำคัมภีร์กุรอานได้ทั้งหมด ผู้ท่องจำที่อายุน้อยที่สุดในปัจจุบันเป็นเด็กอายุ 11 ขวบ

ในคัมภีร์กุรอานมีอายะฮฺหนึ่งกล่าวว่า “เราจะให้พวกเขาได้เห็นอายาต(สัญญาณ)ต่างๆของเราในท้องฟ้าและในตัวของพวกเขา จนกระทั่งมันทำให้พวกเขาประจักษ์ชัดว่ากุรอานเป็นความจริง”

หลังสมัยนบีมุฮัมมัดจากโลกนี้ไป  มุสลิมหลากหลายเชื้อชาติอ่านข้อความดังกล่าวและเกิดความสงสัยว่านอกจากอายาตในกุรอานแล้ว ยังมีอายาตของพระเจ้าในท้องฟ้าและในตัวมนุษย์อีกหรือ  ความสงสัยนี้บันดาลใจให้บางคนศึกษาอายาตของพระเจ้าในท้องฟ้าจนกระทั่งพวกเขาพบกฎดาราศาสตร์ที่ควบคุมดวงดาวจนสามารถเขียนแผนที่การโคจรของดวงดาวได้และสรุปว่านี่คือสัญญาณยืนยันการมีอยู่ของพระเจ้าผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงจัดระเบียบทุกสิ่ง

อิบนุสินา ชาวเปอร์เซียคนหนึ่งศึกษาอายาตของพระเจ้าในร่างกายของมนุษย์จนเขาเขียนตำราการแพทย์ที่ชื่อว่า “กอนูน ฟิฏฏิบ” (หลักการแพทย์)ขึ้นมาให้ชาวยุโรปนำไปศึกษาอ้างอิงเป็นเวลานานถึง 500 ปี แต่ชาวยุโรปได้เปลี่ยนชื่ออิบนุสินาในภาษาอาหรับให้เป็นภาษาลาตินว่า “อะวิเซนนา” (Avicenna)

วิชาดาราศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาคัมภีร์กุรอานนี้เองที่ทำให้มุสลิมยิ่งมีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้ามากขึ้นพร้อมไปกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์โดยไม่ปฏิเสธศาสนา  ความรู้อื่นๆที่ตามมานอกเหนือจากความรู้ดังกล่าว ทำให้เมืองคอร์โดบา เมืองหลวงของอาณาจักรอันดะลุสของมุสลิมในสเปนและเมืองแบกแดดในอิรักเมื่อพันกว่าปีที่แล้วกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านวิชาการ การค้าและความเจริญของโลกที่ชาวยุโรปใฝ่ฝันมาเยือน

ในช่วงที่อาณาจักรอันดะลุสในสเปนรุ่งเรือง มีชาวยุโรปเข้ามาศึกษาหาความรู้ที่เมืองคอร์โดบา  ในเวลานั้น ตำราทางวิชาการส่วนใหญ่ถูกเขียนเป็นภาษาอาหรับ  หลังจากนั้น นักวิชาการชาวยุโรปได้นำตำราเหล่านี้ไปแปลเป็นภาษาละตินและนำไปต่อยอดจนกระทั่งเกิดการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการขึ้นมาในยุโรป

หลังเกิดความขัดแย้งในยุโรประหว่างนักวิทยาศาสตร์กับนักบวชแห่งคริสตจักร  ยุโรปได้เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ  ความเจริญก้าวหน้าและการค้นพบใหม่ๆทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมองศาสนาเป็นสิ่งล้าสมัยและผู้คนหันมาเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์มากจนนับถือวิทยาศาสตร์เป็นศาสนาและนับถือนักวิทยาศาสตร์เป็นศาสดา   ถ้านักวิทยาศาสตร์บอกว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากจากลิง หรือถ้าปล่อยให้ประชากรเพิ่มขึ้น  ผลผลิตจะไม่เพียงพอเลี้ยงประชากรมนุษย์ ผู้คนก็เชื่อตาม ไม่นาน  ชาวยุโรปก็เริ่มปล่อยให้โบสถ์ว่างเปล่า ในขณะที่มัสยิดในยุโรปมีไม่พอรองรับมุสลิมที่มาละหมาดมากขึ้นเรื่อยๆจนโบสถ์หลายแห่งได้ถูกซื้อไปบูรณะเป็นมัสยิด

อิสลามไม่เคยปฏิเสธวิทยาศาสตร์เพราะอิสลามถือว่าวิทยาศาสตร์คือความรู้ทางกายภาพที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อเป็นเครื่องมือในการรู้จักพระเจ้าและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์อารยธรรม นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า มุสลิมยิ่งมีความศรัทธาในศาสนาและเดินเข้าหาศาสนาในขณะที่ชาวตะวันตกหันหลังให้ศาสนาเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า


You must be logged in to post a comment Login