วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

กำเนิดธนาคารอิสลาม

On November 18, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการตื่นตัวทางศาสนาของมุสลิมในเอเชียอาคเนย์และในส่วนอื่นๆของโลกเป็นผลสืบเนื่องมาจากความตื่นตัวของนักวิชาการอิสลามในย่านตะวันออกกลางที่อยากจะเห็นอิสลามกลับมาเป็นวิถีชีวิตและระเบียบของสังคมอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้ลัทธิอาณานิคมของชาติตะวันตก

 หลังสมัยของนบีมุฮัมมัด  อิสลามไม่ได้เป็นแค่เพียงศาสนาในความหมายแคบๆเท่านั้น  แต่มันเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ทุกด้าน เป็นกฎหมายและเป็นอารยธรรมที่มีคัมภีร์กุรอานและคำสอนของนบีมุฮัมมัดเป็นธรรมนูญสูงสุด แต่การปกครองแบบอิสลามที่มีอายุยืนยาวมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้สิ้นสุดลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อการปกครองแบบคิลาฟะฮฺที่มีศูนย์กลางแห่งอำนาจอยู่ที่ตุรกีได้ถูกทำลายลงใน ค.ศ.1924

หลังจากแผ่นดินออตโตมานถูกมหาอำนาจชาติยุโรปแบ่งออกเป็นประเทศต่างๆแล้ว ชาติมหาอำนาจได้นำเอาระบบการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจแบบเซคูลาร์มาใช้  ระบบนี้เป็นระบบที่เกิดขึ้นมาหลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและเป็นระบบที่ไม่คำนึงถึงคำสอนของศาสนา

ชาติมุสลิมที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอาณานิคมของชาติยุโรปได้รับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุอย่างรวดเร็ว  แต่ชีวิตด้านจิตวิญญาณและศีลธรรมของผู้คนกลับเสื่อมทรามลงอย่างน่าใจหาย  ด้วยเหตุนี้  ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงมีนักวิชาการอิสลามเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มุสลิมในชาติต่างๆเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของระบบเซคิวลาร์

แน่นอน การเคลื่อนไหวทางความคิดนี้ได้ไหลไปยังนครมักก๊ะฮที่เป็นต้นกำเนิดของอิสลามในช่วงการทำฮัจญ์และแพร่กระจายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ

ในด้านเศรษฐกิจ  ชาติยุโรปได้นำเอาดอกเบี้ยเข้ามาใช้ในระบบธนาคารทั้งๆที่ดอกเบี้ยเป็นที่ต้องห้ามในคัมภีร์กุรอานและแม้แต่ในคัมภีร์ไบเบิล  ด้วยเหตุนี้  เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงระบบดอกเบี้ย  ใน ค.ศ.1960 ชาวมุสลิมอียิปต์จึงได้ตั้งธนาคารอิสลามที่ปลอดดอกเบี้ยขึ้นมาเป็นแห่งแรกในตำบลมิตฆ็อมร์หลังจากนั้น ใน ค.ศ.1963  มาเลเซียก็มีการตั้งตะบงฮาญีขึ้นมาทำหน้าที่เหมือนสถาบันการเงินที่ปลอดดอกเบี้ยเช่นกัน

แม้ชาวอียิปต์ในท้องถิ่นจะให้การสนับสนุนธนาคารอิสลามที่ปลอดดอกเบี้ย  แต่น่าเสียดายที่ธนาคารอิสลามแห่งแรกได้ถูกชาติที่ปกครองอียิปต์แทรกแซงเพราะไม่ต้องการให้วิถีชีวิตของคนอยู่ในกรอบของศาสนาจนต้องปิดตัวลงไป  แต่ใน ค.ศ.1980 ธนาคารอิสลามแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้เกิดขึ้นในมาเลเซีย หลังจากนั้น ธนาคารอิสลามก็เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย บรูไนและแม้แต่ในฟิลิปปินส์

หลังจากนั้นอีกสองสามปี  ธุรกิจตะกาฟุลหรือธุรกิจประกันแบบอิสลามก็ติดตามมา

ถึงแม้รัฐบาลมาเลเซียประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและต้องการนำมาเลเซียเข้าสู่ระบบอิสลาม  แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ไม่ได้เข้าไปทำลายระบบธนาคารแบบเดิม รัฐบาลเพียงแต่สนับสนุนให้พลเมืองมุสลิมมีทางเลือกที่จะใช้ระบบการเงินแบบอิสลามหากต้องการหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยที่เป็นบาป

เมื่อไทยประสบวิกฤตการเงินใน ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) ซึ่งทำให้ผู้คนต้องตกงานเพราะธนาคารและสถาบันการเงินหลายสิบแห่งล้มระเนระนาดพร้อมกับการพังทลายของธุรกิจและส่งผลถึงเศรษฐกิจในประเทศข้างเคียงด้วย  แต่ธนาคารอิสลามมาเลเซียกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มิหนำซ้ำยังยืนฝ่ากระแสมรสุมเศรษฐกิจและเติบโตต่อไปได้  ชาวมุสลิมจึงเกิดความมั่นใจและคนในแวดวงธุรกิจการเงินเริ่มให้ความสนใจในระบบการเงินอิสลาม  วิกฤตการเงินครั้งนั้น มาเลเซียจึงถูกประเทศมุสลิมเรียกว่า “เรือธงทางการเงินแบบอิสลาม”

เมื่อมาเลเซียและอินโดนีเซียมีธนาคารอิสลาม และประเทศไทยได้ทำความตกลงกับสองชาติดังกล่าวในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสามเหลี่ยมภาคใต้ IMT-GT ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  จึงมีข้อเรียกร้องให้จัดตั้งธนาคารอิสลามขึ้นในประเทศไทยบ้าง  หลังจากที่ต้องต่อสู้ในเวทีการเมืองเป็นเวลาห้าปี  ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยก็ได้ถูกตั้งขึ้นท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจใน พ.ศ.2546 ตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและตามมาด้วยธุรกิจตะกาฟุล(ธุรกิจประกันแบบอิสลาม)


You must be logged in to post a comment Login