วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

รู้จักฮาลาลจากการค้า

On November 5, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 5-12 พ.ย. 64)

ถ้าเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการกิน การผลิตและการซื้อขายแลกเปลี่ยน ในทุกศาสนาและความเชื่อล้วนมีคำสอนทางด้านเศรษฐกิจอยู่บ้าง อย่างน้อยก็เรื่องการการบริโภค เพราะการบริโภคเป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ถ้าคนไม่กินไม่ใช้ เศรษฐกิจก็ไม่มีการเคลื่อนไหว

ผู้นับถือศาสนาฮินดูไม่กินเนื้อวัวเพราะความเชื่อ หนึ่งในศีลห้าของพุทธศาสนาก็ห้ามดื่มสุรา เนื้อของสัตว์มีเขี้ยวเช่นเสือ สุนัข งู เป็นที่ต้องห้ามเฉพาะพระสงฆ์ ในคัมภีร์ไบเบิลมีคำสั่งห้ามกินเนื้อสุกรและดื่มสุรารวมทั้งเนื้อสัตว์อีกหลายประเภท  ในคำสอนของอิสลามก็มีคำสั่งเรื่องอาหารต้องห้ามเช่นกัน  เมื่อคนไม่บริโภคสิ่งต้องห้าม การผลิตสิ่งต้องห้ามก็ไม่มี

ชาวมุสลิมรักษากฎของการละเว้นอาหารที่พระเจ้าห้าม(ฮะรอม)และเลือกกินอาหารที่ไม่เพียงแต่เป็นที่อนุมัติ(ฮะลาล)เท่านั้น แต่ยังต้องเป็นอาหารที่สะอาดและดีมาตั้งแต่สมัยนบีมุฮัมมัด สุกร สุรา เลือด เนื้อของสัตว์ที่ใช้เขี้ยวและกรงเล็บล่าเหยื่อ เนื้อของสัตว์ที่ตายเองหรือถูกทุบถูกรัดคอตาย และเนื้อของสัตว์ที่ถูกเชือดโดยไม่กล่าวนามของพระเจ้าในตอนเชือดเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลก

ด้วยเหตุที่มุสลิมกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ดังนั้น มุสลิมจึงต้องเชือดสัตว์กินเองตามวิธีการของอิสลาม ประการแรกเลย มีดที่ใช้เชือดต้องคม ก่อนลงมือเชือดต้องกล่าวนามพระเจ้าเพื่อเป็นการขออนุญาตเอาชีวิตสัตว์ที่เป็นของพระเจ้าเสียก่อน ถ้าสัตว์ถูกเชือดโดยผู้เชือดไม่กล่าวนามพระเจ้า เนื้อของสัตว์นั้นไม่ต่างจากเนื้อที่ถูกขโมย ไม่อนุญาตให้กินแม้คนเชือดจะเป็นมุสลิมก็ตาม เมื่อลงมีดเชือด ต้องให้แน่ใจว่าหลอดลมและเส้นเลือดใหญ่สองเส้นข้างหลอดลมขาดเพื่อให้เลือดของสัตว์ไหลออกมามากที่สุด

ชาวมุสลิมยังคงพิถีพิถันในเรื่องของการกินอาหารฮาลาลมากที่สุด เพราะคำสอนอิสลามกล่าวว่า “พระเจ้าไม่รับคำวิงวอนของผู้ที่เลือดและเนื้อของเขาเติบโตมาจากสิ่งต้องห้าม”

เมื่อวิถีชีวิตของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับปริมาณเนื้อวัวและเนื้อไก่ในประเทศมุสลิมบางประเทศไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการนำเข้าจากประเทศอื่น ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อสัตว์ที่นำเข้าเป็นเนื้อสัตว์ที่ฮาลาลโดยการเชือดที่ถูกต้องตามวิธีการของอิสลาม จึงจำเป็นต้องมีการออกใบรับรองฮาลาลให้แก่เนื้อสัตว์โดยองค์กรอิสลามที่เชื่อถือได้ในประเทศที่ส่งเนื้อออกโดยเริ่มต้นมีขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1974

แต่เนื้อสัตว์มิใช่อาหารเพียงอย่างเดียว มุสลิมต้องบริโภคสิ่งอื่นๆที่เป็นเครื่องปรุงหรือส่วนประกอบอาหารและของกินอื่นๆด้วย เมื่อวิทยาศาสตร์อาหารเจริญก้าวหน้าสามารถผลิตส่วนผสมอาหารที่ทำมาจากสัตว์ได้ แต่ส่วนผสมเหล่านี้ทำมาจากวัตถุดิบตั้งต้นที่เป็นที่ต้องห้ามซึ่งผู้บริโภคไม่รู้และมองไม่เห็น ประเทศมุสลิมจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการตรวจสอบว่าสินค้าบริโภคนั้นมีสิ่งต้องห้ามเจือปนหรือไม่

ตัวอย่างเช่น วุ้นในสมัยก่อนทำมาจากสาหร่ายทะเลที่นำมาเคี่ยวในน้ำเดือดถูกทดแทนด้วยสารที่เรียกว่า “เจลละติน” ซึ่งทำมาจากไขมันหมูที่มีต้นทุนต่ำสุด สารเจลละตินถูกนำไปใส่ในไอศกรีมและขนมบางอย่าง เช่น เยลลี่เพื่อความเหนียวนุ่ม หรือบะหมี่สำเร็จรูปที่ต้มในน้ำต้มกระดูกหมู เป็นต้น ดังนั้น ประเทศมุสลิมจึงจำเป็นต้องมีสถาบันวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อตรวจสอบอาหารว่ามีสิ่งฮะรอมปนเปื้อนหรือไม่ หากไม่พบก็จะออกใบรับรองฮาลาลให้โดยองค์กรศาสนาอิสลามของประเทศผู้ผลิตสินค้า

ในภูมิภาคอาเซียน มาเลเซียเป็นประเทศที่บุกเบิกเรื่องใบรับรองฮะลาลตั้งแต่ ค.ศ.1980 โดยการออกกฎหมายฮาลาลกำหนดให้สินค้าอาหารทั่วโลกที่นำเข้ามาในมาเลเซียต้องได้รับการรับรองว่าฮะลาล หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกก็ออกกฎหมายฮาลาลเช่นเดียวกับมาเลเซีย

อาจเป็นเพราะมาเลเซียมีประชากรมุสลิม 60 เปอร์เซ็นต์และการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ที่มิใช่มุสลิม ผิดกับอินโดนีเซียที่มีประชากร 90 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิม มาเลเซียจึงเคลื่อนไหวเร็วกว่าในเรื่องนี้เพราะต้องการให้พลเมืองมุสลิมของตนได้บริโภคสินค้าฮาลาลและเพื่อส่งออกสินค้าบริโภคของตน

ประเทศไทยแม้จะมิใช่ประเทศมุสลิมและมีประชากรไทยที่นับถืออิสลามเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าบริโภคส่งออกก็ได้รับประโยชน์จากใบรับรองฮะลาลที่ออกโดยคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยและได้รับการตรวจสอบจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งสินค้าฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมปีละนับแสนล้านบาท

ชาวไทยจึงได้รับรู้เรื่องหลักการฮาลาลจากการค้าขาย


You must be logged in to post a comment Login