วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

การฟื้นตัวของอิสลามในเอเชียอาคเนย์

On October 29, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ซึ่งปัจจุบันได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนเคยเป็นดินแดนของศาสนาต่างๆที่สำคัญของโลกมานานแล้ว

ศาสนาฮินดูเข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ก่อนในหมู่เกาะอินโดนีเซียและปัจจุบันยังมีร่องรอยให้เห็นชัดเจนในเกาะบาหลี หลังจากนั้น ศาสนาพุทธได้ตามมาซึ่งมีหลักฐานให้เห็นจากโบราณสถานบุโรพุทโธ ต่อจากนั้น ศาสนาคริสต์ได้เริ่มเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส เช่นเดียวกับอิสลามที่มากับพ่อค้าชาวอาหรับ แม้จะมาหลังสุด แต่อิสลามเป็นที่นับถือของชาวอินโดนีเซียกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรราว 200 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนจำนวน 500 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม

เดิมที ทุกศาสนาเข้ามาในภูมิภาคนี้แค่เพียงในรูปของความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอิทธิพลของศาสนาฮินดูแฝงอยู่ แต่เมื่อชาวอินโดนีเซียส่งลูกหลานของตนไปเรียนศาสนาที่ซาอุดิอาระเบียและเด็กเหล่านี้กลับมาเป็นคนรุ่นใหม่ของสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้พยายามที่จะทำให้อิสลามปลอดจากอิทธิพลความเชื่อเก่าๆพร้อมกับใช้อิสลามที่บริสุทธิ์เป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมด้วย

ต้นศตวรรษที่ 20 มีสององค์กรอิสลามเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย นั่นคือ นะฮ์เฎาะตุล อุละมาอ์(การฟื้นตัวของบรรดาผู้มีความรู้) และสมาคมมุฮัมมะดียะฮฺ ทั้งสององค์กรมีวัตถุประสงค์ในการดำรงรักษาคำสอนอิสลามและปฏิรูปสังคมมุสลิมในอินโดนีเซียเหมือนกัน แต่นะฮ์เฎาะตุล อุละมาอ์เป็นองค์กรจารีตนิยม มีสมาชิกทั่วประเทศราว 40 ล้านคน ส่วนมุฮัมมะดียะฮฺเป็นกลุ่มปฏิรูป มีสมาชิกราว 30 ล้านคน

ด้วยความเป็นกลุ่มปฎิรูปที่ต้องการนำอิสลามมาใช้เป็นวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย สมาคมมุฮัมมะดียะฮฺจึงสร้างสถาบันการศึกษาของตนเอง เช่น โรงเรียน  มัสยิด ห้องสมุด คลินิก ทั่วประเทศนับพันแห่ง

การตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดาพร้อมกับการมาของคณะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวแพร่อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ทั้งสององค์กรต้องเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องเอกราชของชาติและศาสนาไปพร้อมกันจนกระทั่งอินโดนีเซียได้เอกราชใน ค.ศ.1945 หลังจากนั้นไม่นาน มาเลเซียก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ

เมื่อได้รับเอกราช องค์กรทางศาสนาของมุสลิมในสองประเทศนี้ไม่สามารถยอมรับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าและปัจจุบันได้ล่มสลายไปแล้ว ขณะเดียวกัน ลัทธิโลกานิยม(Secularism)ที่ให้เสรีภาพแก่ผู้คนอย่างเต็มที่โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตของศาสนาได้ทำให้สังคมฟอนเฟะ เศรษฐกิจของชาติต้องเป็นไปตามระบบของตะวันตกที่ขัดต่อคำสอนของอิสลาม องค์กรมุสลิมในอินโดนีเซียและมาเลเซียจึงเริ่มคิดที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งอิสลาม

มาเลเซียเป็นประเทศเล็ก ผู้คนน้อย แต่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ยาวไกลได้มองไปทางตะวันตกและเห็นว่าโลกไม่อาจปฏิเสธความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ จึงส่งนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปศึกษาเทคโนโลยีในยุโรป  ขณะเดียวกัน ผู้นำมาเลเซียก็หันไปทางตะวันออกและมองเห็นญี่ปุ่นที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สองสามารถก้าวทันตะวันตก แต่ยังรักษาบุคลิกความเป็นคนตะวันออกไว้ได้ จึงให้ทุนนักศึกษาของตนไปศึกษาที่ญี่ปุ่นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ของตนมีประสบการณ์แบบญี่ปุ่น

แต่เนื่องจากพื้นเพของชาวมาเลเซียส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมอิสลาม เมื่อมองย้อนหลังไป ผู้นำของมาเลเซียเห็นว่าอิสลามไม่ได้เป็นแค่เพียงศาสนาที่มีแค่เพียงพิธีกรรมในมัสยิดเท่านั้น แต่ยังเป็นอารยธรรมของโลกที่ยืนยาวนับพันปีและมีคำสอนที่เป็นวิถีชีวิตครบทุกด้าน รัฐบาลมาเลเซียจึงสนับสนุนนักศึกษาและนักวิชาการของตนให้ไปศึกษาอิสลามในประเทศตะวันออกกลางเพื่อนำความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการเงินเพื่อนำมาปรับระบบการเงินและการธนาคารของประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายอิสลาม


You must be logged in to post a comment Login