วันพฤหัสที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

หัวใจ เรื่องสำคัญที่ถูกลืมใส่ใจ

On June 25, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.บัณฑิต พิชัยเวชกุล

อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจโรงพาบาลเปาโล โชคชัย 4

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 มิ.ย. -2 ก.ค. 64)


หัวใจ คอยควบคุมการเต้นของจังหวะชีวิต เมื่อหัวใจเต้นชีวิตก็ยังคงอยู่ เมื่อหัวใจแน่นิ่งการดำเนินชีวิตก็ต้องหยุดลงหัวใจจึงเปรียบเสมือนชีวิต ซึ่งหลายครั้งที่เจ้าของหัวใจละเลยการดูแล

ปัจจุบันคนไข้โรคหัวใจที่ไดรับการส่งต่อการรักษาจากแผนกอายุรกรรมมีมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอายุที่มากขึ้น ประวัติการเกิดโรคหัวใจในครอบครัว การทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ ที่ทำให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตมากขึ้น พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ไขมันในเลือดสูงเส้นเลือดสมองตีบ และเส้นเลือดหัวใจตีบ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้ทั้งสิ้น พบได้บ่อยครั้งที่แพทย์อายุรกรรมต้องส่งต่อคนไข้มาปรึกษาและตรวจคัดกรอง ที่คลินิกโรคหัวใจ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด

เริ่มตั้งแต่การพูดคุยซักประวัติอาการ ความเสี่ยงโรคหัวใจในครอบครัว โรคประจำตัว พร้อมกับการตรวจร่างกาย และตรวจเพิ่มเติมพิเศษเพื่อยืนยันโรคที่ชัดเจน ซึ่งโรคหัวใจบางกรณีสามารถตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกรับยากลับไปทานพร้อมสังเกตอาการ แต่บางส่วนมีความเสี่ยงสูงต้องตรวจโดยละเอียดเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ต้องตรวจคลื่นไฟฟ้า ในแต่ละครั้งโรคหัวใจจึงมีการตรวจเฉพาะที่แตกต่างกันขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

แนวทางการรักษาโรคหัวใจ หมอจะพิจารณาจากโรคเป็นสำคัญ ประกอบกับการตัดสินใจของคนไข้ในการรักษา ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่อหมอแนะนำ พร้อมพูดคุยให้คนไข้คลายกังวลไปในเวลาเดียวกัน และชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียอย่างชัดเจน คนไข้ก็จะเห็นประโยชน์ และมั่นใจในการรักษา เพราส่วนใหญ่เมื่อทราบว่าป่วยเป็นโรคหัวใจผู้ป่วยมักจะกังวล

นพ.บัณฑิต พิชัยเวชกุล

เนื่องจากเทคโนโลยีการรักษาโรคหัวใจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรคหัวใจจึงเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อรับการรักษาและร่วมมือดูแลตนเองตามที่หมอแนะนำอาการต่างๆ จะดีขึ้น

โดยสิ่งที่เน้นให้ดูแล ได้แก่ เรื่องโภชนาการอาหาร โดยจะแนะนำแบบให้เห็นภาพที่ชัดเจน เรื่องการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า ก็เช่นเดียวกันหมอจะไม่ห้าม ไม่บังคับ เพราะผู้ที่เป็นโรคหัวใจส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ การห้ามจึงไม่ใช่สิ่งที่คนไข้ปรารถนาแต่หมอจะชี้ให้เห็นถึงโทษหากยังสูบบุหรี่และดื่มเหล้าต่อไป พร้อมทั้งให้กำลังใจในการค่อยๆ ลด ละ เลิก โดยทุกอย่างจะใช้วิธีพูดคุยกัน ไม่มีคำตำหนิหากยังไม่สามารถเลิกได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อเราเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องคนไข้จะตัดสินใจเลิกได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นความร่วมมือที่ยั่งยืน

อย่างที่ทราบว่าคนไข้โรคหัวใจส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น นอกจากการอธิบายแนวทางการรักษาให้คนไข้ทราบ หมอยังต้องอธิบายให้ญาติเข้าใจไปพร้อมๆ กัน โดยมีแนวทางการรักษาร่วมกันเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคน เพราะบางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาจไม่เหมาะสมกับคนไข้ทุกคน หมอจึงเน้นการรักษาเพื่อค้นหาความเหมาะสมเฉพาะรายบุคคลเป็นหลัก อีกทั้งกรณีผู้ดูแลเป็นครอบครัวของคนไข้จะแนะนำให้ตรวจสุขภาพ เพราะมีปัจจัยเสี่ยง หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เราได้รับอันตรายจากสารตกค้างเข้ามาในร่างกายโดยคาดไม่ถึง และมองข้ามพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น การทานยาลดความอ้วน การสูบหรี่ การใช้สารเสพติดบางประเภท ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจกับโรคหัวใจ เพราะเราพบคนไข้โรคหัวใจในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น และปัญหาหลักของโรคนี้ คือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะคิดว่าโรคหัวใจไม่น่าเกิดขึ้นกับตนเอง เป็นเรื่องไกลตัวจึงละเลยการตรวจ จะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการมากแล้ว หรือบางครั้งก็ช้าเกินไป ดังนั้นในวันนี้ที่เรามีร่างกายที่พร้อม แม้ว่าจะเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือไม่ก็ตาม ควรตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อดูแลรักษาก่อนที่จะไม่สามารถดูแลได้อีกต่อไป


You must be logged in to post a comment Login