วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรม “โรงเรียนฉลาดเล่น” เพื่ออนาคตเด็กไทย

On April 16, 2021

วันที่ 21 เมษายน ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ Friedrich Wilhelm August Froebel บิดาแห่งการศึกษาอนุบาล (21 เมษายน 1782 – 21 มิถุนายน 1852) ผู้จัดตั้งโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “kindergarten” ในภาษาเยอรมัน ที่แปลว่า “สวนเด็ก” จากความเชื่อที่ว่า เด็กคือเมล็ดพันธุ์ของดอกไม้ จะเบิกบานสดใส เมื่อได้อยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อน และได้เรียนรู้จากการเล่น

รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) กล่าวว่า เป็นเวลา 50 ปี ที่สถาบัน IPSR ทำงานวิจัยในประเด็นประชากรและสังคมที่มีผลกระทบเชิงนโยบาย ซึ่งรวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในวัยเด็ก โดยเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา สถาบัน IPSR ได้เป็น 1 ใน 5 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ของมหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัยซึ่งตอบสนองประเด็นที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ ด้วยความตระหนักถึงปัญหาที่เด็กไทยเคลื่อนไหวกันน้อยลง จึงได้มีการสร้าง “นวัตกรรมในการจัดการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบ” ขึ้น จากการดำเนินโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น”อย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการขยายผลสู่การเป็นต้นแบบเพื่อใช้ใน 27,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 3 ปีต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา โดยทีมวิจัยของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ริเริ่มโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น” ขึ้นจากการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นวัยเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติที่ถือเป็นการลงทุนที่มีคุณค่า และคุ้มค่าที่สุด โดย “โรงเรียนฉลาดเล่น”  คือ โรงเรียนที่เด็กๆ จะได้มีความสุขในการเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าเด็กที่เคลื่อนไหววันละอย่างน้อยประมาณ 30 นาที สมองจะพร้อมต่อการเรียนรู้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา กล่าวว่า จากการติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ซึ่งมิติที่ 1 คือ การมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มิติที่ 2 คือ พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม มิติที่ 3 คือ ทักษะการสื่อสาร มิติที่ 4 คือ การคิดอย่างมีเหตุผล และมิติที่ 5 คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา พบว่าเด็กในโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น” มีพัฒนาการทั้ง 5 มิติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับเด็กในโรงเรียนที่ไม่ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว

ซึ่งหลักการของ “โรงเรียนฉลาดเล่น” ไม่ใช่เพียงแค่การให้เด็กได้ออกกำลังกายหน้าเสาธง 5 – 10 นาที แต่เด็กจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดช่วงวันอย่างเหมาะสม และเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play) ซึ่งมีทั้งสิ้น 3 แบบ แบบแรก คือ “Free Play” ซึ่งเป็นการเล่นสนุกทั่วไปเพื่อการผ่อนคลาย ได้ EQ หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ แบบที่ 2 คือ “Active Play” ซึ่งเป็นการเล่นเสริมทักษะ และแบบที่ 3 คือ “Sports & Exercise” หรือ การออกกำลังกาย โดยการทำให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดีที่สุดนั้น จะต้องมีการจัดสัดส่วนการเล่นในรูปแบบปิรามิดซึ่งมีแบบที่ 1 เป็นฐาน แล้วต่อยอดขึ้นไปด้วยแบบที่ 2 และแบบที่ 3 ตามลำดับ

ตัวอย่างกิจกรรม “โรงเรียนฉลาดเล่น” เช่น ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ อาจออกแบบให้เป็นการเล่น โดยทำช่องตัวเลขและเครื่องหมาย ให้เด็กได้กระโดดเพื่อที่จะบวก ลบ คูณ หาร ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ยังทำให้เด็กได้สนุกต่อการเรียนรู้อีกด้วย

โดย Play เป็นหนึ่งในโมเดล 4P ที่ใช้เป็น platform สำหรับให้โรงเรียนได้นำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งอีก 3P คือ Policy หรือ นโยบาย People หรือ ครูผู้นำกิจกรรม และ Place หรือ สถานที่ เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 4 จะสามารถข้บเคลื่อนสู่การเป็น “โรงเรียนฉลาดเล่น” ได้อย่างสมบูรณ์

“นวัตกรรมในการจัดการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบนี้จะเป็น “เรือใบ” ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าในแนวระนาบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้องค์ความรู้ตามปณิธาน  “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สร้างขึ้นนี้จะขยายผลสู่ระดับนโยบาย เพื่ออนาคตของเด็กไทยต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login