- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 1 day ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
“เที่ยวกรุงเก่ายุคใหม่” โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ
เมื่อพูดถึงกรุงเก่าคนไทยทั่วไปคงเข้าใจว่าหมายถึงอยุธยา ซึ่งเป็นราชธานีไทยอยู่ 417 ปี แม้จะย้ายเมืองหลวงมาที่ใหม่ แต่ชื่อเสียงก็ยังคงอยู่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งหนึ่ง ส่วนกรุงเก่ายุคใหม่นั้นผู้เขียนขอตั้งเอาเอง คือหมายถึงกรุงเทพฯในส่วนที่เป็นเกาะที่เรียกว่าเกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ตำบลบางกอกนั้น คณะผู้สร้างมีความตั้งใจเสมือนยกอยุธยามาไว้ที่นี่ กรุงเก่าอยุธยามีน้ำล้อมรอบ มีสภาพเหมือนเกาะ มีแม่น้ำถึง 3 สายล้อมรอบคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ส่วนเกาะรัตนโกสินทร์ก็ตามแผนที่ล้อมรอบโดยแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองที่สร้างขึ้น
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บนเกาะรัตนโกสินทร์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยมีนับไม่ถ้วน นอกจากพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วซึ่งเป็นหัวใจแล้ว สถานที่อื่นก็มีอีกมากมาย ซึ่งรายละเอียดสามารถหาอ่านได้ตามหนังสือหรือสื่อออนไลน์ ในส่วนที่เกี่ยวกับชุมชนก็เช่น ถนนตานีอยู่บริเวณบางลำพู ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปัตตานีหรือเมืองชายแดนใต้ ถนนตะนาวก็เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเมืองตะนาวศรีหรือใกล้เคียง (ราชบุรี) ที่มีเชื้อสายมอญ ซึ่งอยู่ด้านหลังวัดบวรนิเวศ ผ่านไปสี่แยกคอกวัว (ตัดกับถนนราชดำเนิน) ไปทางศาลเจ้าพ่อเสือ แพร่งสรรพศาสตร์ สำหรับแยกคอกวัวนั้นในอดีตใช้เป็นที่เลี้ยงวัวของชุมชนฮินดูบริเวณเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ถ้าจะเข้าใจที่ตั้งของแยกคอกวัวได้ดีก็ต้องนึกถึงที่ทำการสถานีวิทยุ ททท ที่ถูกเผาในเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งปัจจุบันเป็นอนุสรณ์สถาน แน่นอนว่าแยกคอกวัวปัจจุบันรู้จักกันดีในฐานะที่ชุมนุมทางการเมืองของทุกสีเสื้อ และก็แปลกที่แยกแห่งนี้ในสมัย ร.3 เป็นที่มาของวรรณกรรมล้อเลียนชนชั้นสูงเรื่องระเด่นลันได โดยตัวเอกของเรื่องเป็นแขกขอทาน แขกเลี้ยงวัว แย่งชิงหญิงสาว
อีกชุมชนหนึ่งบนเกาะรัตนโกสินทร์ที่จะต้องกล่าวถึงก็คือ ชุมชนของศิลปินนักดนตรีไทยเดิมที่ถนนลำพู (เชื่อมต่อถนนพระอาทิตย์ได้) วัดสังเวช ย่านบางลำพูยังเป็นที่ตั้งชุมชนศิลปินไทยเดิม ทั้งดนตรี ร้อง รำ และลิเก ศิลปินแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญดนตรี รำไทย การแสดงหลายท่านก็มีถิ่นกำเนิดมาจากพื้นที่ในย่านแถบนี้ เช่น สุรางค์ ดุริยพันธุ์ เฉลย ศุขะวณิช คเณศ (รอง) เค้ามูลคดี วินัย พันธุรักษ์
ในด้านอาหารไทยรสชาติดั้งเดิมไม่ว่าคาวหวานก็เช่นกัน หากจะหาที่กินรสชาติเดิมๆก็ต้องมาที่แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ในพื้นที่บนเกาะรัตนโกสินทร์ บางลำพู ถนนพระอาทิตย์ ฯลฯ (ควรมีการบันทึกสูตรอาหารไทยรสดั้งเดิม)
ชื่อสำคัญไหม แน่นอนว่าสำคัญ ต้องฟังดี ดูดี และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2525 ได้มีการเฉลิมฉลองการก่อตั้งเมืองหลวงกรุงเทพฯครบ 200 ปี แต่คณะกรรมการจัดงานเห็นว่าควรใช้ชื่อสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีมากกว่า เพราะเมื่อแรกสร้างเมืองหลวงก็สร้างบนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ในแง่นี้คนกรุงเทพฯที่มีรากเหง้าอยู่อาศัยบนเกาะรัตนโกสินทร์สามารถพูดได้ว่าเป็นคนกรุงเก่ายุคใหม่ เป็นรุ่นแรกๆที่ร่วมสร้างเมือง
ว่าด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวมาไทยปีละเกือบ 40 ล้านคน นำเงินเข้าประเทศมหาศาล สิ่งก่อสร้าง วัง วัด จิตรกรรมฝาผนัง วัฒนธรรมต่างๆ คนรุ่นก่อนเป็นคนสร้าง เจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะทุนใหญ่ปัจจุบันรับประโยชน์ แถมกฎหมายไม่เอื้อให้รายย่อยหากิน เราไม่ได้สร้างของใหม่เลย (ต่างกับสิงคโปร์มีมารีนาเบย์ มาเลเซียสร้างตึกแฝด) มองจากแง่นี้คนที่ดูแลของเก่า เช่น เขียน ซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง ควรได้รับการดูแล กฎหมายต้องเปิดกว้างให้คนไทยทุกระดับได้หากินจากทรัพย์สินที่บรรพบุรุษสร้างไว้
You must be logged in to post a comment Login