วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

“ทางออกจากวิกฤตการณ์ เศรษฐกิจและการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน” โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

On November 11, 2020

ทุกประเทศ ทุกสังคม ย่อมเผชิญความไม่แน่นอน ความเสี่ยง ความผันผวน และวิกฤตการณ์ในระยะเปลี่ยนผ่านเสมอ มากบ้างน้อยบ้างตามเหตุปัจจัยของแต่ละประเทศ บริบทของแต่ละสังคม แต่ละช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติและประเทศไทย

เราย่อมสามารถเก็บเกี่ยวบทเรียนและสามารถเรียนรู้ที่จะไม่เดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตได้เสมอ แต่มนุษย์มักเดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตบ่อยครั้ง เพราะสัญชาตญาณดิบของมนุษย์มักไม่เปลี่ยนแปลง

แม้นสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พลวัตของเทคโนโลยีอุบัติใหม่จะพลิกผันโลกไปอย่างไรก็ตาม จิตใจและภูมิปัญญาของมนุษย์บางประเภทยังคงย้อนยุคล้าหลังอยู่เช่นเดิม ยังนิยมตอบโต้ผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรง

คิดว่ากลุ่มของตัวเองถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และยังคงมีอัตตาที่ใหญ่โตจนกระทั่งทำทุกอย่างเพื่อหลอกใช้ “ผู้คนที่หลงงมงาย” ให้ปฏิบัติการใดๆก็ได้ โดยไม่สนใจว่าละเมิดต่อกฎหมายและศีลธรรมหรือไม่ เพื่อผลประโยชน์แห่งตน ไม่สนใจว่าจะนำความย่อยยับล่มจมมาสู่สังคม

อีกทั้งยังทำให้ความไม่สงบสุขและภาวะไร้เสถียรภาพดำรงอยู่อย่างยาวนาน เพื่อให้ตัวเองและเครือข่ายมีเสถียรภาพในการเสพสุขบนความทุกข์ยากของราษฎรส่วนใหญ่

บัดนี้และในอนาคตอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เรากำลังจมอยู่กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจทรุดหนักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค Covid-19 การเมืองระบอบ คสช. และระบบยุติธรรมเจอกับวิกฤตศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ขบวนการของคนหนุ่มสาวกำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ขาดการศึกษารากเหง้าของสังคมให้ถ่องแท้อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้

ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยนั้นอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์มายาวนานตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรอยุธยา โดยมีโครงสร้างแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้นคือ ชนชั้นปกครอง อันประกอบไปด้วย กษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และขุนนาง ชนชั้นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ ไพร่และทาส ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นไพร่ถูกกำกับควบคุมโดยระบบแรงงานเกณฑ์ ก่อนที่การก่อตัวของพลังทุนนิยมจะกดดันให้ระบบเศรษฐกิจสังคมสยามต้องค่อยๆนำระบบแรงงานเสรีมาแทนระบบแรงงานเกณฑ์

ในระบบแรงงานเกณฑ์นั้นไพร่ทาสส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบศักดินามีโอกาสน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเอง มูลนายและไพร่ทาสมีความสัมพันธ์กันแบบระบบอุปถัมภ์ โดยมูลนายเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์และให้ความคุ้มครองไพร่ทาส ส่วนไพร่ผู้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ต้องจงรักภักดีและรับใช้ด้วยแรงงานของตน รวมทั้งมอบผลผลิตส่วนใหญ่ให้มูลนาย ผู้เป็นไพร่ต้องสังกัดมูลนายมิฉะนั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ ไพร่จะร้องทุกข์ต่อรัฐบาลหรือฟ้องศาลได้ก็ต้องทำผ่านมูลนาย

ถึงแม้นระบบไพร่ทาสจะถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ระบบไพร่ที่ฝังลึกมายาวนานยังคงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการผลิตยังคงอยู่ ลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการผลิตที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบไพร่ในสังคมไทยปัจจุบัน และยังคงดำรงอยู่ในอนาคตต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร สามารถนำมาเป็นแนวคิดสำหรับประเทศในปัจจุบันและอนาคตได้ดังต่อไปนี้

บทเรียนข้อที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงใดๆเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวมต้องรักษาความสมดุลระหว่าง “ความคิดก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย” กับ “จารีตประเพณี” และ “บริบททางด้านภูมิหลังของประเทศ” การทำลายสิ่งเก่าโดยสร้างใหม่ทั้งหมดไม่อาจกระทำได้ และไม่ควรกระทำ เพราะจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพและอนาธิปไตยได้ เช่นเดียวกันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องหลอมรวมทุกแนวความคิดในสังคมไทยให้มีพื้นที่ของตัวเอง สังคมจึงจะดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีสันติธรรม

บทเรียนข้อที่สอง ผู้นำและกลุ่มผู้นำต้องมีความกล้าหาญ เสียสละ และเล็งเห็นผลประโยชน์ของสาธารณะสำคัญกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและเครือข่าย

บทเรียนข้อที่สาม การต่อสู้เรียกร้องตามความเชื่อทางการเมืองแบบใดก็ตาม ต้องยึดหลักเอกราช หลักอธิปไตยและบูรณาการแห่งดินแดน รวมทั้งความปรองดองสมานฉันท์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน

บทเรียนข้อที่สี่ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในหลายกรณีต้องอดทนและใช้เวลายาวนานในการปรับเปลี่ยน เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

บทเรียนข้อที่ห้า การมียุทธศาสตร์ กุศโลบาย กลยุทธ์ที่ดี และมุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำ

บทเรียนข้อที่หก หากชนชั้นนำปฏิเสธไม่ยอมปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง หรือปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมให้เท่าทันกับพลวัต ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังการปฏิวัติของประชาชนทำให้คาดการณ์อนาคตได้ยากว่าผลจะเป็นอย่างไร

บทเรียนข้อที่เจ็ด พลังที่ก้าวหน้ากว่าของคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ต้องหลอมรวมพลังอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นเก่าเอาไว้ด้วยจึงจะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ หากคิดเอาชนะกันแบบหักหาญหรือใช้อำนาจบีบบังคับเช่นเดียวกับที่อำนาจรัฐกระทำต่อผู้เห็นต่างหรือขบวนการประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวย่อมไม่นำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาและมีเสถียรภาพ

บทเรียนข้อที่แปด การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมีความจำเป็นต่อบริบทของสยามในยุครัชกาลที่ 5 แต่การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกและของไทยในปัจจุบันและอนาคต การกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางการคลัง อำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชน จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนได้ดีขึ้น การแช่แข็งไม่ให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลากว่า 6 ปี เป็นการทำลายรากฐานของประชาธิปไตยในระดับพื้นที่ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปลายปีนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นความหวังในการที่ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งการกระจายอำนาจ กระจายโอกาสให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหยุดชะงักไปหลายปี

แม้การยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแต่ช้าเกินไป เพราะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้สร้างความเสียหายต่อหลักการปกครองโดยนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน ความเสียหายทางการเมือง การบริหารประเทศและเศรษฐกิจโดยรวมได้เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลต้องแก้ไขความผิดพลาดในการตัดสินใจด้วยการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและผู้ได้รับผลกระทบและเสียหายทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วย นอกจากนี้ควรปล่อยเยาวชนจากการคุมขัง และให้ประกันตัวผู้ที่กระทำผิดจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอันไม่มีความชอบธรรมด้วย

รัฐบาลต้องกำกับควบคุมไม่ให้ “กลุ่มมวลชน” หรือ “ผู้นำกลุ่มมวลชน” ที่ใกล้ชิดรัฐมนตรีบางท่านหรือใกล้ชิดขั้วทางการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่นิยมความรุนแรง ก่อความรุนแรง หรือยั่วยุให้ก่อความรุนแรง ก่อเหตุทำร้ายเยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นอนาคตของชาติอีก หรือวางแผนให้เกิดการปะทะกันของมวลชนที่เห็นต่างเพื่อสร้างเงื่อนไขในการก่อการยึดอำนาจรัฐประหารนอกวิถีทางแห่งกฎหมายกันอีกเป็นครั้งที่ 16

ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลมีหน้าที่ประกันความปลอดภัยให้กับทุกกลุ่มทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในอนาคตอีก จะทำให้ประเทศไทยติดอันดับที่หนึ่งของโลกในการมีรัฐประหารมากที่สุดในรอบ 88 ปี และประเทศไทยของเรานั้นจะเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการมีรัฐประหารมากที่สุดในช่วง 20 ปีแรกของศตวรรษที่ 21

ในช่วงกว่า 14 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549-2563) เราสูญเสียทรัพยากร สูญเสียความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ เราสร้างความเกลียดชังต่อกันเพียงแค่เห็นต่างทางการเมือง บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมือง เราสูญเสียเวลา สูญเสียโอกาสอย่างมากมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เราขาดโอกาสในการผลักดันความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

เราจึงต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆโดยเร็วที่สุด เพราะอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว


You must be logged in to post a comment Login