วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“บิ๊กตู่” ต้องรู้ ประชาชน 89% ให้เปิดเหมืองทองอัครา

On September 8, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 11-18 ก.ย. 2563)

ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. 72/2559 สั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 (https://bit.ly/2JD5Y6I) ผมในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างยั่งยืน (https://bit.ly/2j5UTRK) เห็นว่าการปิดเหมืองนี้จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงแก่ประชาชนในพื้นที่และต่อประเทศชาติโดยรวม จึงออกสำรวจความเห็นประชาชน

ตามที่มีการสั่งปิดเหมืองทองคำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่าในปัจจุบันสภาพแวดล้อมดีขึ้นหรือไม่ สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างไร ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อการปิดเหมืองทองคำเป็นอย่างไร คำตอบในประเด็นเหล่านี้น่าจะช่วยให้ทางราชการได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดการเหมืองทองคำอัคราและเหมืองอื่นๆได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยจึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นสำคัญร่วมสมัยเหล่านี้โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิทยาลัย

คำสั่งของ คสช. มีผลโดยตรงต่อเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ยังประกอบกิจการอยู่รายเดียวในขณะนี้บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,000 คน ทั้งนี้ ก่อนมีคำสั่ง คสช. สั่งระงับกิจการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส เคยแถลงว่ายังมีแร่ทองคำอยู่เกือบ 40 ล้านตัน และสามารถขุดแร่ได้ถึงปี 2571 ตามอายุที่เหลือของอายุประทานบัตร (https://bit.ly/2JD5Y6I)

คณะนักวิจัยเลือกเอาวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โดยหวังว่าประชาชนจำนวนมากจะพักผ่อนอยู่บ้านในวันดังกล่าว ยกเว้นบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรอาจออกไปทำการเกษตรโดยไม่ได้คำนึงถึงวันหยุด คณะนักวิจัยได้ทำความเข้าใจและ pre-test กับนักศึกษาในเวลา 09.00 น. และในเวลา 10.00 น. ก็ได้เดินทางออกไปสำรวจจากวิทยาลัย โดยแต่ละกลุ่มกลับเข้ามายังวิทยาลัยในเวลา 13.30-14.30 น. โดยใช้เวลาสำรวจประมาณ 4-5 ชั่วโมงในวันดังกล่าว

คณะนักศึกษา ปวช. และ ปวส. ของวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ จำนวน 22 คน เป็นผู้ออกทำการสำรวจ (ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยโดยตรง) โดยในการสำรวจออกไปเป็นคู่ๆ ขี่รถจักรยานยนต์ออกสำรวจด้วยกัน ทั้งนี้ นักศึกษาเหล่านี้ส่วนมากเป็นบุตรหลานในพื้นที่ที่สำรวจ จึงรู้จักเส้นทางและสภาพชุมชนเป็นอย่างดี ก่อนออกไปสำรวจได้ทำการ pre-test แบบสอบถามก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

การสำรวจครั้งนี้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 572 ชุด ซึ่งนับว่าเพียงพอที่จะใช้แทนความเห็นของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรอยู่ 7,520 คน (https://bit.ly/2NEeAiF) แต่มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ประมาณ 72% (https://bit.ly/30nEXeu) จึงอนุมานได้ว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทำแบบสอบถามมี 5,398 คน แต่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ห่างไกลจากเหมืองอัครา จึงเหลือประชากรในพื้นที่ใกล้เคียงเพียง 2,699 คนในการสัมภาษณ์ หากไม่นับรวมกลุ่มที่ 13 และ 14 ที่อยู่นอก ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ในเขต จ.พิจิตร ก็จะมีจำนวน 450 ราย เท่ากับได้สัมภาษณ์ความเห็นของประชาชนถึง 17% ของทั้งหมด

u1

ผลแบบสอบถามในด้านเศรษฐกิจพบว่า ในปี 2562 สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจค่อนข้างตกต่ำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเห็นว่าเศรษฐกิจแย่ถึง 58% (https://bit.ly/2xEksOg) แต่สำหรับในพื้นที่รอบเหมืองทองคำอัครานี้ ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ที่เห็นว่าดีหรือดีมากมีรวมกันเพียง 5% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในพื้นที่นี้น่าจะตกต่ำกว่าพื้นที่อื่นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ

ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำดีกว่าปัจจุบัน ที่เห็นว่าแย่กว่ามีเพียง 4% เท่านั้น ส่วนในปีหน้า (พ.ศ. 2563) กลุ่มใหญ่ที่สุดราว 32% เห็นว่ายังอยู่ในภาวะปานกลาง ที่คิดว่าจะแย่ลงมีถึง 42% ส่วนที่คิดว่าจะดีขึ้นมีเพียง 25% เท่านั้น แสดงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นถึงอนาคตที่เป็นบวก

ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขดังนี้ :

1. เศรษฐกิจในขณะนี้                                              89%    แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100%

2. เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมือง                          111%    แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร

3. เศรษฐกิจในปี 2563                                             96%    แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ

เมื่อตอบคำถามว่าสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้เป็นอย่างไร ปรากฏว่าที่ตอบว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มลพิษลดลง มีเพียง 7% แต่ 93% ระบุว่าในปัจจุบันและก่อนปิดเหมืองมีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกันนั่นเอง การปิดลงของเหมืองทองคำไม่ได้ทำให้สภาพมลพิษดีขึ้น เพราะไม่ได้สร้างมลพิษอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วในความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด

อาจกล่าวได้ว่าประชากรเพียง 11% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วย และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แทบทุกหมู่บ้านประชากรเพียงส่วนน้อยมากที่เกรงว่าจะมีมลพิษ อาจมีเพียงกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆเท่านั้นที่มีความกังวลเป็นพิเศษ จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองทองคำอัคราถือเป็นแหล่งงานใหญ่ และการมีเหมืองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดี ได้รับความช่วยเหลือด้วยดี แต่เมื่อไม่มีเหมืองก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมามากมาย

โดยสรุปแล้วมีเพียงประชาชนส่วนน้อย 11% ที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองทองคำ ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 89% ต้องการให้เปิดเหมืองทองคำขึ้นใหม่เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ การปิดเหมืองยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่าสภาพแวดล้อมก่อนและหลังการปิดเหมืองไม่แตกต่างกัน แสดงว่าคงไม่ได้มีมลพิษเช่นที่เข้าใจ

ดังนั้น ทางราชการจึงควรพิจารณา

6.1 ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

6.2 ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย

6.3 ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง และเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสั่งปิดเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

หากทางราชการไม่ได้ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย และสร้างปัญหาอื่นมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาสังคม ครอบครัว ที่สมาชิกในครอบครัวต้องออกไปทำงานในพื้นที่อื่น เป็นต้น

อนึ่ง หากวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 คณะนักวิจัยได้สำรวจความเห็นของประชาชนมาครั้งหนึ่งแล้ว (https://bit.ly/1slFPir) และพบว่าประชาชนถึง 4 ใน 5 (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป นี่คือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ แสดงว่าประชาชนต้องการให้เปิดเหมืองใหม่เพิ่มมากขึ้น

การเปิดเหมืองอัคราใหม่จึงดีต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” ที่จะได้ไม่ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปเสียค่าปรับ


You must be logged in to post a comment Login