วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย

On September 1, 2020

โกลบอลคอมแพ็กเป็นองค์กรที่น่าสนใจในระดับโลก เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554 ไม่ใช่เพิ่งเข้ามา เรามารู้จักโกลบอลคอมแพ็กกัน ซึ่งธุรกิจควรเป็นสมาชิก

ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ก่อตั้งในปี 2543 เป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันของสหประชาชาติในการสนับสนุนธุรกิจทั่วโลกให้นำนโยบายที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ และรายงานการดำเนินงานของวิสาหกิจเหล่านี้ UN Global Compact เป็นกรอบการทำงานแบบอิงหลักการสำหรับธุรกิจ โดยระบุหลัก 10 ประการในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต <1>  วิสาหกิจทั้งใหญ่-เล็กจึงควรเป็นสมาชิกเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส น่าเชื่อถือ

สำหรับในประเทศไทยเมื่อเข้ามาในครั้งแรก สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรประสานงานในประเทศไทย โดยมีคุณสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานประจำประเทศไทย ทั้งนี้ ในการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 ในประเทศไทยนั้น มีการลงนามใน UN Global Compact โดยมีวิสาหกิจหลายแห่งเข้าร่วม โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ที่ ดร.โสภณเป็นประธาน เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ร่วมลงนาม ณ งาน the Asia Pacific Business Forum ซึ่งจัดขึ้น ณ องค์การสหประชาชาติ สะพานมัฆวาน โดย ดร.โสภณได้ลงนามต่อหน้านายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น

1

หลังจากการลงนาม บริษัทที่เข้าร่วม UN Global Compact ก็มีหน้าที่จัดทำรายงานการปฏิบ้ติตามพันธกิจที่ได้ลงนามไว้ เช่น ศูนย์ข้อมูลฯของ ดร.โสภณก็จัดทำรายงานเสนอต่อ UN Golbal Compact เช่นกัน โดยเป็นสิ่งที่วิสาหกิจที่มีอารยะพึงดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า ชุมชนโดยรอบและสังคมโดยรวม ประกอบด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดโดยไม่ละเมิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การมีมาตรฐานและจรรยาบรรณที่ดี (Soft Laws) การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการไม่ทุจริตและประพฤติมิชอบ

2

 

ในประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น คุณสิริวัน ผู้แทน UN Global Compact ในประเทศไทย ไปร่วมบรรยายในงาน “หลักปฏิบัติการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ” ในวันที่ 20 มกราคม 2552 ซึ่งจัดโดย ตลท. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย UNEP และ UN Global Compact ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ <2>

ในงานเสวนาวิชาการรายเดือนครั้งที่ 86 เรื่อง “CSR ที่แท้สำหรับวิสาหกิจขนาดใหญ่และ SMEs” ในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยจัดเสวนาข้างต้น โดยมีคุณมารินัส ซิคเคล ผอ.แผนการลงทุนและการพัฒนาวิสาหกิจ องค์การสหประชาชาติ ESCAP คุณสิริวัน ร่มฉัตรทอง ผู้แทนจาก UN Global Compact และ ดร.โสภณ เป็นวิทยากรในครั้งนั้น

3

 

ศูนย์ข้อมูลฯยังเคยทำรายงานกรณีศึกษาการต้านการทุจริต (Case Story on Anti-Corruption) นำเสนอต่อ UN Global Compact เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 จนได้รับการยกย่องเป็นกรณีศึกษาสำคัญเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ UN Global Compact ในขณะนั้น การไม่ทุจริตและประพฤติมิชอบในกรณีของศูนย์ข้อมูลฯ ได้ดำเนินการเพื่อประกันการให้บริการที่ดีและน่าเชื่อถือ โดยการส่งไปรษณียบัตรมอบให้ลูกค้าเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินหรือนักวิจัย การสัมภาษณ์ลูกค้าทางโทรศัพท์เพื่อทราบความพึงพอใจและการประเมินผลเพิ่มเติม และการจัดส่งคณะตรวจสอบออกตรวจสอบงานที่ได้ดำเนินการมาในภาคสนามถึงความถูกต้องแม่นยำ <3>

ต่อมาผู้ประสานงาน UN Global Compact ได้เปลี่ยนจากคุณสิริวันเป็น ดร.โสภณ ดังนั้น วันที่ 16-20 พฤษภาคม 2554 ดร.โสภณจึงเดินทางไปประชุม UN Global Compact ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก พร้อมด้วยคณะผู้แทนไทยอีก 5 ท่าน เดินทางเข้าร่วมการประชุมนี้ ถือเป็นภารกิจในการประสานงานกับ UN Global Compact ในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนา UN Global Compact ในประเทศไทย

วิสาหกิจที่เข้าร่วม UN Global Compact ต้องยึดถือหลัก 10 ประการ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการไม่ร่วมมือกับการติดสินบนหรือทุจริต ดังนี้ :

ด้านสิทธิมนุษยชน

หลักข้อที่ 1 : ธุรกิจควรสนับสนุนและเคารพการปกป้องหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

หลักข้อที่ 2 : ธุรกิจไม่พึงข้องแวะกับการกระท ที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนด้านมาตรฐานแรงงาน

หลักข้อที่ 3 : ธุรกิจควรส่งเสริมและตระหนักถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มแรงงาน เช่น การตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน

หลักข้อที่ 4 : ธุรกิจต้องร่วมขจัดการบังคับการใช้แรงงาน

หลักข้อที่ 5 : ธุรกิจต้องร่วมขจัดการใช้แรงงานเด็ก

หลักข้อที่ 6 : ธุรกิจต้องไม่กีดกันการจ้างงานและอาชีพ

ด้านสิ่งแวดล้อม

หลักข้อที่ 7 : ธุรกิจควรสนับสนุนการดำเนินการปกป้องสิ่งแวดล้อม

หลักข้อที่ 8 : ธุรกิจควรแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม

หลักข้อที่ 9 : ธุรกิจควรส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านการไม่ยอมรับการทุจริต

หลักข้อที่ 10 : ธุรกิจควรดำเนินไปโดยปราศจากการฉ้อโกง ทุจริต และประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับ ขูดรีด และการติดสินบน ทั้งนี้ อาจพิจารณาในกรณีภายในวิสาหกิจ และการให้สินบนอันเป็นการทุจริตในวงราชการก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

การปฏิบัติตาม UN Global Compact ให้ครบถ้วนหรือไม่ละเมิดตามหลักการข้างต้น ถือว่าวิสาหกิจนั้นๆมี CSR ดังนั้น CSR จึงไม่ใช่การทำบุญเอาหน้า หรือสักแต่ทำทีดูแลสิ่งแวดล้อม หรือเลี่ยงไปทำดีทางอื่นในหน้าฉาก แต่หลังฉากกลับขูดรีด ฉ้อฉล เอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

นี่คือการสร้างแบรนด์ที่แท้ของบริษัทพัฒนาที่ดินหรือวิสาหกิจใดๆก็ตาม

4

 

 

อ้างอิง

<1> Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/United_Nations_Global_Compact

<2> กบข. CSRI ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงานสัมมนาหัวข้อหลักปฏิบัติการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ : Principles for Responsible Investment, Bangkok Capital Markets Day. https://www.ryt9.com/s/prg/506415

<3> Agency for Real Estate Affairs. ความรับผิดชอบต่อสังคม. https://www.area.co.th/thai/bar55.php


You must be logged in to post a comment Login