วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เจาะปฏิบัติการรับมือขยะยุค New Normal

On July 31, 2020

แม้ว่าปริมาณขยะในส่วนของกรุงเทพมหานครโดยภาพรวมช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 จะมีปริมาณลดลงจาก 10,500 ตัน/วัน ลดลงเป็น 9,600 ตัน/วัน เฉลี่ยลดลง 1,000 ตัน/วัน แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกจะพบว่าภาพรวมของปริมาณขยะลดลง จะแฝงมาด้วยจำนวนขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 1,000 ตัน/วัน  ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นขยะที่รีไซเคิลไม่ได้เช่นถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องบรรจุอาหารชนิดบาง ถุงแกง ช้อนและส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก ซองขนม บะหมี่สำเร็จรูป ซอง ถ้วยบรรจุอาหารใช้ครั้งเดียวทิ้ง

หรือ“ขยะเดลิเวอรี”จะเป็นอีกหนึ่งNew Normal

ขณะเดียวกันยังพบว่าจากสถานการณ์โควิด19 จะมีต่อปรากฏการณ์ความปกติรูปแบบใหม่หรือที่ New Normal เช่น การWork from Home (WFH) ซึ่งแนวโน้มจะต่อเนื่องถึงครึ่งปีหลัง ขณะที่หลายๆธุรกิจอาจให้ความสำคัญ WFHไปในระยะยาวโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการรองรับความต้องการใหม่ของผู้บริโภค เช่น การลงทุนเพื่อขยายจัดจำหน่ายช่องทางออนไลน์ในทุกๆแพลตฟอร์ม การพัฒนาระบบเดลิเวอรีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจุดขายแบบไดร์ฟ ทรู เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ฯลฯ ซึ่งธุรกิจรูปแบบเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำให้”ขยะเดลิเวอรี” กลายเป็นอีกหนึ่ง New Normal ของคนไทย

จับตาแผน“กำจัดขยะ”

จากแนวโน้มปริมาณขยะที่จะมาจากการซื้อสินค้าออนไลน์หรือฟู้ด เดลิเวอรี่ เช่น กล่องพัสดุ วัสดุกันกระแทกจากพลาสติก ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของ กล่องอาหาร แก้วพลาสติก ฯลฯ ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการกำจัดขยะที่สามารถรองรับสภาพของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไป ขณะที่เดียวกันจะต้องเป็นกระบวนการที่ไม่ซ้ำเติมปัญหามลภาวะ เช่น ฝุ่น อากาศ ฯลฯ รวมถึงสามารถที่จะนำมูลฝอยกลับมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ซึ่งปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครได้วางแนวทางกำจัดมูลฝอยในหลายมิติ โดย 12 % ถูกกำจัดด้วยวิธีการหมักทำปุ๋ยที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและขยะมูลฝอย 5% กำจัดที่โรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 300-500 ตันต่อวัน ในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ส่วน 83% เป็นการจ้างเหมาเอกชนขนไปทำลายโดยวิธีฝังกลบอย่างสุขลักษณะในที่ดินของเอกชนที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งแต่ละกระบวนการยังมีจุดอ่อน  โดยในส่วนของการฝังกลบขยะมูลฝอยข้อดีคือช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากมลพิษทางอากาศ เช่น กลิ่นการปลิว ฟุ้งกระจายของขยะมูลฝอยได้ รวมทั้งป้องกันการเป็นแหล่งอาหารและที่เพาะพันธุ์ของสัตว์ แมลงนำ โรคต่าง ๆ และป้องกันสภาพที่ไม่น่าดูด้วยสุดท้าย แต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการฝังกลบขยะมูลฝอยเนื่องจากต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และเริ่มมีอัตราเต็มพื้นที่ตามการออกแบบและการหาพื้นที่ใหม่ทำได้ยากมากขึ้นหรือกล่าวง่าย ๆว่าต้องสิ้นสุดการดำเนินการ ซึ่งพื้นที่เดิมจะต้องมีการปลูกพืชคลุมดินป้องกันการกัดเซาะและปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะสามารถพัฒนาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะต่อไป

ขณะที่การกำจัดขยะด้วยวิธีการหมักทำปุ๋ยไม่สามารถที่นำมาใช้ได้กับขยะมูลฝอยทุกประเภทและมีกำลังที่จะสามารถรับมูลฝอยในส่วนนี้ได้ไม่น้อยกว่า 1,800 ตัน/วัน จึงยังคงเหลือขยะมูลฝอยบางประเภทที่ต้องนำไปกำจัดต่อไปด้วยการเผาในเตาเผาซึ่งภายหลังการเผายังคงเหลือกากขี้เถ้าที่ต้องนำไปกำจัดอีกก่อนจะถูกนำไปหมักบ่มประมาณ 40 วัน ก่อนนำไปร่อนเพื่อใช้เป็นสารปรับปรุงดิน

เปลี่ยนขยะเป็น “พลังงานไฟฟ้า”

สำหรับการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นกระบวนการที่ยังมีสัดส่วนการนำมาใช้เพียง 5% เท่านั้น โดยใช้เทคโนโลยีการจัดการมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะคือการอบแห้ง การเผาและมอดดับแล้ว ขยะมูลฝอยทุกประเภทที่ถูกเผาภายใต้อุณหภูมิสูงประมาณ 850 -1100 องศาเซลเซียส ควบคุมอัตโนมัติโดยระบบคอมพิวเตอร์ โดยสภาวะและระยะเวลาของการเผาไหม้ขยะมูลฝอยในเตาเผาสามารถตรวจสอบและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของมวลขยะและเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียความร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงในเตาเผาซึ่งสามารถนํามาเปลี่ยนสภาพเป็นไอร้อน เพื่อนําไปขับเคลื่อนเครื่องปั่นไฟฟ้าหรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เป็นการใช้ทรัพยากรขยะมูลฝอยที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนก๊าซที่ได้จากกระบวนการกําจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เตาเผาจะถูกบําบัด ด้วยอุปกรณ์บําบัดมลพิษทางอากาศรวมทั้งปูนขาว ผงถ่าน และสารอื่น ๆ เพื่อดูดซับมลสารทําให้อากาศที่ปล่อยออกมาได้มาตรฐาน ส่วนน้ำเสียที่ไหลมาจากการกองขยะจะได้รับการบําบัดโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนํามาใช้หมุนเวียน ซึ่งทั้งหมดเป็นการแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด  สําหรับขยะมูลฝอย จากการกําจัดในเตาเผาจะเหลือน้ำหนักเพียงแค่ 15-20% ภายหลังจากการเผาซึ่งสามารถนําเถ้าที่เกิดขึ้นบางส่วนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย โดยการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้

ปัจจุบันได้มีดำเนินการโดยโรงกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมขนาด ขนาด 300-500 ตันต่อวัน    แต่สามารถขยายกำลังการทำงานได้อีกในการที่จะรองรับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของสังคมเมือง ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงและต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีความประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการกำจัดขยะเพิ่มขึ้น จึงได้เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการด้านการกำจัดมูลฝอย (Private Public Partnership) ภายใต้ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งโครงการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มปริมาณการกำจัดมูลฝอยของกทม.ได้เพิ่มขึ้น และจะช่วยกำจัดมูลฝอยที่เกิดขึ้นในยุคที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ในยุค New Normal เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น


You must be logged in to post a comment Login