วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

“ดร.โสภณ พรโชคชัย” มอง “ฌอน บูรณะหิรัญ”

On July 7, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย  

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  10-17 กรกฎาคม 2563)

ข่าวการวิพากษ์วิจารณ์นายฌอน บูรณะหิรัญ นักพูด โค้ช และ Influencer ชื่อดัง ทำให้เห็นว่าคนผู้นี้ให้บทเรียนที่น่าสนใจแก่วงการอสังหาริมทรัพย์และการสร้างแบรนด์พอสมควร

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่า กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่นายฌอน บูรณะหิรัญ ได้กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าตัวจริงเป็นคนน่ารัก และเราไม่ควรตัดสินใครโดยไม่ได้พบตัวจริง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นายฌอนเป็นอย่างมาก ดร.โสภณก็ได้วิพากษ์ไว้ในเรื่องนี้ โปรดดูใน FB : https://lnkd.in/gU2n6yf และ Youtube : https://lnkd.in/g_7PXFG sinv หรือดูโดยรวมที่ วิจารณ์แนวคิด “ฌอน บูรณะหิรัญ ต่อประวิตร” (https://bit.ly/2Nr2oyO)

มีการขุดคุ้ยกันว่าบ้านที่ฌอนอ้างว่าเป็นบ้านของตัวเองนั้น แท้จริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ดร.โสภณในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินได้ตรวจสอบบ้านของฌอน ซึ่งก็คือ “TAO Cafe & Community เต่าคาเฟ่ เชียงใหม่” 98/1 กำแพงดิน ถนนระแกง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50100 พบว่าบ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ xxx (ขอสงวน) ในเขตตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีขนาด 2 ไร่ 22 ตารางวา

เจ้าของที่ดินเป็นบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับโอนชำระค่าหุ้นรวม 4 โฉนด จากเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 และเจ้าของที่ดินเดิมก็ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารแห่งหนึ่งก่อนนำมาขายเมื่อปี 2542 ถ้าท่านใดอยากทราบเพิ่มเติมว่าเขาซื้อขายกัน ณ ราคาเท่าไร ต้องไปขอตรวจสอบดูใบ ท.ด.13 หรือ “หนังสือสัญญาขายที่ดิน” ตามแบบฟอร์มของกรมที่ดิน ก็จะทราบถึงราคาซื้อขายที่ชัดเจนตามที่แจ้งไว้กับกรมที่ดิน ดังนั้น จึงสรุปได้ว่านายฌอนไม่ใช่เจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว

สำหรับท่านที่ต้องการจะหาตำแหน่งที่ดินเบื้องต้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้ :

1.เข้าเว็บไซต์ของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/tvwebp/ แล้วระบุชื่อจังหวัด อำเภอ และเลขที่โฉนด หรือตำแหน่งสำคัญๆ

2.เมื่อคลิกไปบริเวณที่ดินที่ต้องการก็จะปรากฏเลขที่ดิน

3.นำเลขที่ดินนั้นไปขอตรวจสอบเอกสารสิทธิกับกรมที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินที่โฉนดนั้นตั้งอยู่ ก็จะสามารถถ่ายสำเนาโฉนดได้

อนึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้เคยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเมื่อปี 2544 ขอให้การตรวจสอบเอกสารสิทธิเป็นสิ่งที่เปิดเผยกระทำได้ และอธิบดีกรมที่ดินก็เมตตาให้ดำเนินการได้ และสั่งการให้แต่ละจังหวัดและสำนักงานที่ดินเปิดให้เอกชนขอตรวจสอบเอกสารสิทธิได้ตาม link นี้ : https://bit.ly/2CQtbCJ

อีกกรณีหนึ่งก็คือการรับบริจาคเงินช่วยดับไฟป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ แต่อาจทำให้ดูขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นเรื่องที่ผิดหลักความรับผิดชอบต่อสังคมก็คือ การนำเงินบริจาคจำนวนถึงราวสองแสนห้าหมื่นบาทไปใช้เพื่อการส่งเสริมการเข้าชมแฟนเพจหรือกิจกรรมเพื่อหวังให้ได้รับเงินบริจาค ปกติแฟนเพจของนายฌอนก็มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ในกรณีนี้ถือเป็นการนำเงินบริจาคไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ขัดกับหลักความโปร่งใส ถือเป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน (Conflict of Interest) ลำพังจำนวนผู้ติดตามแฟนเพจของนายฌอนก็มีมากมายอยู่แล้ว การส่งเสริมการจัดกิจกรรมนี้ก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมการโฆษณาตัวเอง กรณีนี้นายฌอนควรนำเงินจำนวนนี้ไปบริจาค เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นหลักก็คือนายฌอนเอง

การใส่ชื่อผู้ซื้อสิ่งของต่างๆเป็น “บจก.ต๊อท ลีดเดอร์ส เลขที่ 4 หมู่ที่ 4 หมู่บ้านเศรษฐกิจ ซอย 20 ถนนเพชรเกษม แขวงและเขตบางแค กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นของนายฌอนเอง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเช่นกัน เพราะเท่ากับเอาเงินบริจาคมาใช้เพื่อการลดภาษีด้วยการบริจาค โดยสามารถลดค่าใช้จ่าย การนี้ถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง เป็นอีกกรณีหนึ่งของ Conflict of Interest เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีข้อวิพากษ์อื่นๆ เช่น

1.การนำเงินบริจาคเข้าบัญชีส่วนตัวถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นเงินบริจาค อันไหนเป็นรายได้อื่น

2.การที่นายฌอนรับบริจาคเพื่อสู้ไฟป่า แต่กลับไปบริจาคช่วยโรงพยาบาลในพื้นที่อื่นๆ ในเรื่องอื่นๆ ถือว่าเป็นการทำที่ผิดวัตถุประสงค์

3.ในการขอรับบริจาคคงไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

4.ยอดบริจาคต่างๆควรมีการแจกแจงเป็นระยะๆ เพื่อความโปร่งใส เป็นต้น

การมี CSR จะเป็นการเสริมภาพพจน์ เป็นการสร้าง Brand Value ให้กับบุคคลนั้นๆ เป็น Personal Goodwill แต่หากทำออกมาแล้วไม่เป็นจริงและมีข้อครหา ก็อาจทำให้ Brand Value ลดลง โดยพิจารณาดูได้จากยอด like ต่างๆที่อาจลดลงตามสถานการณ์ บุคคลในสังคมจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษต่อการสร้างแบรนด์ให้กับตนเองในแนวทางที่ถูกต้อง และไม่เป็นผลเสียต่อทั้งตนเองและสังคม นายฌอนต้องเรียนรู้การสร้างแบรนด์ที่ถูกต้องตามหลัก CSR ที่เน้นที่การทำการใดๆที่ไม่ผิดกฎหมาย มีมาตรฐานจรรยาบรรณ และไม่ข้องเกี่ยวกับการทุจริต

อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือเรื่องดราม่าปลูกป่า ท่านทราบหรือไม่ว่าในเวลาเพียงปีเดียวป่าไม้ของไทยถูกทำลายไปประมาณ 1 ล้านไร่ ท่านทราบหรือไม่ว่า 1 ล้านไร่นั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเล็กน้อยเท่านั้น!! นายสืบ นาคะเสถียร ได้สละชีวิตของตนเองเพื่อเรียกร้องให้มีการรักษาป่าไม้ แต่นี่เท่ากับท่านสละชีวิตไปสูญเปล่า เพราะป่าไม้ก็ยังหายไปอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากมายได้อย่างไร ทำไมไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาก็มักมีข่าวเจ้าหน้าที่หรือ “ผู้มีสี” ฝ่ายต่างๆ ต่างตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย แต่แทบจับมือใครดมไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมการปลูกป่า ให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปช่วยกันปลูก อาจทำให้เป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่น่ารักน่าชัง แต่ไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด ป่าที่ปลูกมักตายในเวลาไม่ช้า การปลูกป่ายิ่งไม่ได้ผล

ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปลูกป่ากลายเป็นยาเบื่อเมาให้ประชาชนในเมืองเข้าใจว่าเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ดังนั้น ใครที่ไปปลูกป่าก็จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญกันใหญ่ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ค่อยใส่ใจการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เพราะเป็นงานเสี่ยง งานยาก งานที่ต้องจริงจัง หากภาคเอกชนจะทำดีเพื่อป่าไม้ก็ควรร่วมกันบริจาคเงินเพื่อตั้งทีมอาสาสมัครกล้าตายไปช่วยกันรายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่ามากกว่าการปลูกป่า โดยจ้าง “มืออาชีพ” ไปสำรวจ เชื่อว่าการทำเช่นนี้คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัดทีเดียว

ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกปล้นทำลายลงไปทุกวัน เพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนกัน ในขณะที่การปลูกป่ากลายเป็นการมองทางออกของปัญหาแบบ “ม้าลำปาง” ที่กลายเป็นการช่วยไม่นำพา ไม่รบกวนการปล้นทำลายป่าโดยไม่ตั้งใจไป

เราต้องเน้นการปราบปราม ป้องปราม ต้องช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า (Forest Ranger) รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (Park Ranger) หรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Ranger) นี่คือบุคลากรผู้ทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติต่างๆ บุคคลเหล่านี้ยังเป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากภัยธรรมชาติ และการปกป้องธรรมชาติให้พ้นจากการทำลายของมนุษย์อีกด้วย

เราต้องมองให้ดี อย่าให้พวก Influencer มาชี้นำเราไปในทางเข้ารกเข้าพง


You must be logged in to post a comment Login