วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“อนันต์ กาญจนพาสน์” ที่ผมรู้จัก

On April 21, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 24 เม.ย.– 1 พ.ค. 2563)

ผมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 สิริรวมอายุได้ 79 ปี (หรือ 80 ปี ถ้านับแบบจีน) ผมจึงขออนุญาตเขียนถึงท่านในฐานะที่เคยพบปะกับท่านมาเมื่อประมาณ 32 ปีก่อน (พ.ศ. 2531)

ผมเคยได้พบกับคุณอนันต์ในสมัยที่ท่านกำลังจะเปิดตัวโครงการเมืองทองธานีในช่วงปี 2532 ขณะนั้นท่านยังเป็นหนุ่มใหญ่อายุประมาณ 47 ปี ผมได้พบทั้งท่าน คุณพ่อของท่าน (คุณมงคล) และพี่สาวของท่านด้วย ท่านได้เล่าให้ฟังเรื่องที่ท่านเป็นคนจีนอยู่เยาวราช ราชวงศ์ ท่านเป็นครอบครัวคนจีนระดับเจ้าสัว มีกิจการมากมายทั้งในไทยและฮ่องกงแล้วในขณะนั้น ส่วนที่บ้านผมก็เป็นคนจีนเหมือนกัน แต่เป็นจีนบ้านนอก จีนจนๆ อยู่แถวดินแดง

ผมจำได้ว่ากลุ่มเมืองทองธานีมีส่วนร่วมทำโครงการเสนานิเวศน์มาตั้งแต่สมัยปี 2512 ซึ่งนับเป็นหมู่บ้านจัดสรรในยุคแรกๆย่านชานกรุงเทพมหานคร โครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งก็คือ “จัตุรัสนครหลวง” ซึ่งหลายคนคงไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน โครงการนี้ก็คือที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ “ธนาคารนครหลวงไทย” เดิม มีห้างเมโทร มีโรงภาพยนตร์พอลลี่และดาด้า และสุดโครงการก็เป็นที่ตั้งของโรงแรมบางกอกพาเลสนั่นเอง

การพัฒนาที่ดินของกลุ่มบางกอกแลนด์มักทำเป็นโครงการประเภทเมืองขนาดย่อม หรือ Township โดยจะเห็นได้ว่ามีโครงการเมืองทองหลายโครงการทั้งแถวพัฒนาการ แจ้งวัฒนะ และอื่นๆ ที่พิเศษก็คือ มีการเดินสายรถประจำทางเองของโครงการจากเมืองทองแจ้งวัฒนะถึงสถานีขนส่งหมอชิต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านที่ไปซื้อบ้านอยู่อาศัยในโครงการนี้ แม้แต่โครงการธนาซิตี้ของคุณคีรี กาญจนพาสน์ ซึ่งเป็นน้องชายของคุณอนันต์ในตระกูลนี้ ที่บางนา-ตราด ก็เป็น Township ขนาดใหญ่เช่นกัน

ในช่วงของการพัฒนาเมืองทองธานี ผมจำได้ว่าในช่วงราวๆปี 2530 ราคาที่ดินที่เป็นไข่แดงในใจกลางโครงการเมืองทองธานียังซื้อขายกันในราคาไร่ละ 200,000 บาท เมืองทองก็ทยอยรวบรวมซื้อมาจนกลายเป็นโครงการTownship เช่นทุกวันนี้ นับเป็นความตั้งใจและพยายามอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาโครงการแบบนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการสร้างชื่อให้กับผู้พัฒนา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเสี่ยงมาก เพราะความสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆมากมาย ต่างจากการพัฒนาโครงการขนาดเล็กๆที่มีความเสี่ยงน้อย

ในสมัยที่เริ่มจะสร้างเมืองทองธานีตามแนวคิดใหม่ ผมจำได้ว่าท่านได้สถาปนิกมาจากฮ่องกง ออกแบบแบบที่ฮ่องกงใช้กันเลย เน้นการใช้พื้นที่ (ที่แม้ใหญ่มากแต่ก็จำกัดในแง่ที่เป็นเมืองขนาดย่อมๆ) ให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีองค์ประกอบของโครงการมากมาย เท่าที่จำได้ก็มีตั้งแต่อาคารสำนักงานขนาดย่อมๆแบบมินิออฟฟิศ อาคารชุดพักอาศัย ตั้งใจจะมีศูนย์ประชุม รวมถึงการสร้าง “ครูเมืองทอง” ซึ่งเป็นบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย

การพัฒนาที่โดดเด่นมากประการหนึ่งก็คืออาคารโรงงานอุตสาหกรรมแนวสูงแบบ FactoryBuilding ในฮ่องกง เนื่องจากเล็งเห็นว่าในปี 2540 ฮ่องกงต้องกลับไปเป็นของจีน น่าจะสามารถเชิญชวนเจ้าของโรงงานใหญ่น้อยในฮ่องกงมาปักหลักปักฐานในไทยได้ ในฮ่องกงยุคนั้นขนาดรถบรรทุกยังสามารถขับขึ้นไปบนอาคารอุตสาหกรรมได้ เพราะพื้นที่ฮ่องกงและเกาลูนค่อนข้างจำกัด เมืองทองธานีจึงสร้างอาคารคอนโดอุตสาหกรรมบ้าง แม้จะไม่ถึงขนาดให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ขึ้นได้ แต่ก็สามารถขนถ่ายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่น่าเสียดายที่นักลงทุนฮ่องกงไม่มา เนื่องจากจีนเปิดเซินเจิ้นดึงดูดกิจการอุตสาหกรรมไปแทน อาคารคอนโดอุตสาหกรรมจึงค้างเติ่งไว้แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นเขตอุตสาหกรรมในผังเมืองก็ตาม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็แปรเปลี่ยนไป ในภายหลังอาคารบางแห่งก็มีผู้มาซื้อไป เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมก็นำไปใช้เป็นสำนักงาน ธนาคารกสิกรไทยก็นำไปเป็นสำนักงานใหญ่อีกแห่งหนึ่ง โดยดัดแปลงเป็นอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นในปัจจุบันก็ได้ดัดแปลงเป็นอาคารสำนักงานให้เช่า มีลูกค้าเช่าอยู่ไม่น้อย

จำได้ว่าในช่วงที่เมืองทองธานีกำลังบูมสุดๆนั้น พอดีเจอสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2533 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน ส่งผลให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆหยุดชะงักไปหมด เหลือเพียงเมืองทองธานีเจ้าเดียวที่ “โกย” ได้มากที่สุด มีการลงโฆษณาเกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆของโครงการนี้ทยอยออกมา และปรากฏว่าขายได้ตลอด มีคนมาซื้อไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นมินิออฟฟิศ เลควิวคอนโด ครูเมืองทอง บ้านทรงอิสระ (แบบพรีแฟบ) ฯลฯ คาดว่าในช่วงปี 2533-2535 กลุ่มเมืองทองอาจมีส่วนแบ่งในตลาดไม่น้อยกว่า 20% ก็ว่าได้ เพราะรายใหญ่รายอื่นแทบไม่กล้าขยับตัว

ในห้วงเวลาเดียวกันคุณอนันต์ยังสามารถดึงทางด่วนขั้นที่ 2 ให้ผ่านเข้าไปในเมืองทองธานีได้อีกด้วย โดยในสมัยนั้นบริษัทญี่ปุ่นชื่อกูมาไก กูมิ มาทำโครงการนี้ นับได้ว่าท่านมีเครือข่ายที่แข็งแรงมาก โดยเฉพาะทางธุรกิจและทางการเมือง การสร้างศูนย์ประชุมและอื่นๆก็ค่อยๆคืบหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อหวังให้เป็นเมืองที่มีทุกอย่างพร้อมมูลในตัวเอง สามารถพึ่งตัวเองได้ คุณอนันต์ยังใช้บริการของซัพพลายเออร์ชั้นนำ เช่น บริษัทก่อสร้างจากฝรั่งเศส บริษัทนายหน้าจากอังกฤษ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สถานการณ์ก็แปรเปลี่ยนไป การสร้างเมืองขนาดใหญ่นี้ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมากระแสเงินสดก็สะดุด ไม่ใช่เฉพาะเมืองทองธานี แต่เป็นไปแทบทุกโครงการในประเทศไทยในขณะนั้น ทุกรายต้องเข้าสู่กระบวนการในการแก้ไขปัญหาหนี้ จะเห็นได้ว่าที่ดินแปลงงามๆหลายแปลงในเมืองทองธานีก็มีบริษัทอื่นซื้อไปพัฒนาเป็นโครงการอื่นเช่นกัน

คุณอนันต์เป็นคนที่ตัดสินใจได้เฉียบขาดน่านับถือเป็นอย่างมากในห้วงเกิดวิกฤต อย่างโครงการชื่อเลควิวคอนโดปกติขายอยู่ในราคา 1.5 ล้านบาท ท่านนำมาลดเหลือแค่ราคา 699,000 บาท โครงการที่เมืองทองบางนาก็เช่นเดียวกัน จากการขายห้องชุดที่ราคา 433,000 บาท ท่านก็ลดเหลือ 260,000 บาท นัยเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

แม้ผมจะไม่ได้รู้จักกับท่านเป็นส่วนตัวก็จริง แต่ก็นับถือในฐานะคนจริง มีอยู่กรณีหนึ่งคือโครงการเมืองทองบางนา ท่านสร้างห้องชุดประมาณ 5,000 หน่วย และสร้างศูนย์การค้าชื่อห้างเมโทรขึ้นมากลางโครงการเลยเพื่อดึงดูดให้คนซื้อมั่นใจว่าทำจริง แต่ปรากฏว่าเมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 เมืองนี้แทบไม่มีใครเข้าอยู่ กลายเป็นเมืองกึ่งร้างไปเลย จนกระทั่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรตินำอาคารศูนย์การค้าและอาคารชุดที่ยังสร้างไม่เสร็จไปใช้เพื่อการศึกษาแทน

แต่เรือธงที่ยังอยู่และเป็นการ “กู้ชื่อ” เป็นอย่างมากก็คือศูนย์การประชุม ซึ่งนับว่าอิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นศูนย์ประชุมที่ใหญ่ที่สุดและสามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลายที่สุดในประเทศไทย และยังมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจออกไปอีกมาก แต่นี่เป็นถึงรุ่นลูกของคุณอนันต์ หรือรุ่นหลานของคุณมงคลที่ต้องสานต่อกันต่อไป

นี่แหละครับคุณอนันต์และเมืองทองธานีที่ผมเคยพบเห็นมา


You must be logged in to post a comment Login