วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘โควิด’ โรคหลอกลวง แท้จริงป้องกันได้ รักษาหาย

On April 14, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 17-24 เมษายน 2563)

ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด อย่ากลัวจนทำลายเศรษฐกิจ จนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายหรืออัตราฆาตกรรมจากอาชญากรรมเพราะเศรษฐกิจฝืดเคืองสูงกว่าตายเพราะไวรัสตัวนี้ นี่ไม่ใช่การมองแต่ด้านเศรษฐกิจ แต่มองในองค์รวมที่ไม่หลงกับข่าวสารที่เกินจริง

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 มีเพียง 2% พอๆกับไข้หวัดใหญ่ที่เรารู้จักกันดี ต่ำกว่าโรคซาร์สและโรคเมอร์สที่เสียชีวิตมากถึง 30% ณ วันที่ 2 เมษายน 2563 มีผู้ป่วยสะสม 1,431,706 รายทั่วโลก และเสียชีวิตไป 82,080 ราย หรือ 5.7% หายแล้ว 302,150 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นในประเทศแถบหนาว ในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 2,258 ราย เสียชีวิตไป 27 ราย หรือ 1.2%

ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 390,733 ราย เสียชีวิต 27 ราย ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักกว่าโควิด-19 แต่เราวางใจเพราะเข้าใจว่ามีวัคซีนป้องกันได้ ทั้งที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังป่วย/ตายได้ เพราะไวรัสนี้กลายพันธุ์ง่าย ในขณะที่เราตกใจว่าไวรัสโควิด-19 ฆ่าคนอเมริกันไปแล้ว 12,854 คน (ตั้งแต่ 20 มกราคม 2563) แต่ไข้หวัดใหญ่ฆ่าคนอเมริกันไปถึง 24,000-62,000 คนในช่วง 1 ตุลาคม 2562-21 มีนาคม 2563

ไวรัสโควิด-19 ดูน่ากลัวเพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แถมไวรัสนี้อาจไม่แสดงอาการตัวร้อน และรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นตัวแพร่เชื้อ แต่ความจริงแล้ว 81% ของผู้ติดเชื้อจะหายในเวลาอันรวดเร็ว ที่แสดงอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ไอหนัก มีเพียง 14% และที่ไปถึงขั้นวิกฤตมีเพียง 5% เท่านั้น 96% ของผู้ติดเชื้อในจีนหายเป็นปกติแล้ว <9> ไม่ใช่ว่าใครติดเชื้อแล้วจะต้องเสียชีวิตหรือทำให้ปอดพิการไปตลอดชีวิตอย่างที่เข้าใจ การตื่นตระหนกจนปิดเมืองอย่างยาวนาน คนที่ตายก่อนก็คือคนยากจน ตามมาด้วยเจ้าของกิจการ จนอาจทำให้อัตราการตายจากการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรมจากปัญหาเศรษฐกิจพุ่งสูงกว่าการตายด้วยโรคไวรัสโควิด-19 ก็เป็นไปได้

หากเราได้รับเชื้อนี้ แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ไม่ได้อดนอนต่อเนื่อง รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีสุขนิสัยที่ดี เราก็ไม่ป่วย หรือป่วยเล็กน้อยแล้วก็สร้างภูมิต้านทานให้หายเองได้ ส่วนที่รักษาตัวในโรงพยาบาลก็ยังหายได้เป็นส่วนใหญ่ คงยกเว้นพวกที่ไปหาหมอตอนมีอาการหนักจริงๆ เป็นคนสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว การพ่นยาพิสูจน์มาทั่วโลกแล้วว่า “เสียเวลา เปลืองทรัพยากร” ในการแถลงข่าวผู้ที่ติดเชื้อก็มักเป็นผู้ที่ติดมาจากต่างประเทศ สนามมวยหรือสถานบันเทิงที่เคยมีคนติดเข้าไป ไม่ใช่ว่าเราไปเดินตลาดหรือไปยังจุดเสี่ยงต่างๆตามที่มีประกาศแล้วจะติดกันใหญ่ดังที่เข้าใจ การแห่กันเดินทางกลับบ้านในช่วงกลางเดือนมีนาคมก็ไม่เกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างขนานใหญ่เช่นที่เคยวิตก

ดร.โสภณจึงมีข้อเสนอให้

1.กลับไปทำงานโดยด่วนอย่างช้าหลังสงกรานต์ โดยดูแลสถานที่ทำงานให้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐาน

2.ในระหว่างนี้หากพบผู้ติดเชื้อก็จัดให้ไปอยู่ในสถานที่กักตัวที่จัดเตรียมไว้ให้ ไม่ให้กักตัวเองที่บ้าน

3.จัดให้มีโรงพยาบาลสนามในแต่ละภูมิภาคสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ ไม่ให้โรงพยาบาลของรัฐใดๆรับรักษาโรคนี้ เพื่อลดความสิ้นเปลืองและความเสี่ยง

4.เผยแพร่ข่าวสารที่ชัดเจน รอบด้าน ไม่เอนเอียงไปตามกระแสจนสร้างความกลัวแก่ประชาชน

โปรดฉุกคิดว่าขนาดคนเก็บขยะทั่ว กทม. คนคุ้ยขยะในกองขยะ คนเร่ร่อน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนเหล่านี้เสี่ยงกว่าผู้ที่อยู่ในบ้านมากมายนัก แต่แทบไม่ได้ข่าวว่าพวกเขาติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด บางทีเรากลัวเกินไป การนอนอยู่เฉยๆในบ้านเป็นการช่วยชาติไม่ได้ดอก ต้องออกมาทำงานโดยมีมาตรการป้องกันที่ดีเพื่อพัฒนาชาติต่างหาก

อนึ่ง ช่วงนี้มีดราม่ามาก เช่น ที่ว่าเอกวาดอร์มีคนตายเพราะโควิดจนโลงไม่พอ (https://bit.ly/2VhwmJs) ความจริงเขามีประชากร 16,904,867 คน ตายปีละ 87,905 คน เฉลี่ยวันละ 240 คน โควิดทำคนตายสะสม 220 คน วันละไม่เกิน 10 คน โลงจะขาดแคลนได้ไง เคอร์ฟิวก็มีข้อยกเว้น ที่บอกใช้กล่องกระดาษก็คือโลงกระดาษ เขาแทบไม่ตัดไม้มาทำโลงกันแล้ว มันจะปั่นหัวให้พวกเราอดตาย แค่ใส่หน้ากาก ล้างมือ มีสุขอนามัยที่ดี สร้างภูมิคุ้มกัน ก็กลับไปทำงานใหม่ได้แล้ว

ยิ่งกว่านั้นยังมีข่าวว่าโควิด-19 คร่าชีวิตที่ปรึกษาซีพี เป็นที่น่าเสียดายที่ที่ปรึกษาที่เป็นทรัพยากรสำคัญของชาติท่านนี้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ผมขอคารวะดวงวิญญาณและแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านด้วย ตามข่าวคณะผู้บริหารซีพีเดินทางกลับจากอังกฤษ 9 มีนาคม แต่ท่านผู้เสียชีวิตไม่ได้กลับมาพร้อมกัน และทราบว่าป่วยเมื่อ 12 มีนาคม เดินทางกลับ 14 มีนาคม และเข้ารับการรักษา 15 มีนาคม จนเสียชีวิตในวันที่ 30 มีนาคม

ข่าวนี้อาจทำให้หลายท่านวิตกเกี่ยวกับโควิด-19 ว่าขนาดท่านเป็นคนแข็งแรง แม้อายุ 58 ปี แต่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนอย่างดีถึง 15 วันยังเสียชีวิตได้ แต่เราก็ไม่ทราบว่าขณะนั้นท่านพักผ่อนไม่เพียงพอหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนซึ่งอาจมีส่วนให้เสียชีวิตหรือไม่ แต่เรื่องนี้ไม่อาจสืบค้นเพราะอาจเป็นการก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของท่าน

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าผู้ร่วมคณะ 11 ท่าน ไม่มีใครติดโควิด-19 ด้วยเลย (แม้มีข่าวบางกระแสว่ามีบางท่านติดเชื้อแต่ได้รับการยืนยันว่าไม่จริง) เราพึงระวังโควิด-19 แต่ต้องไม่กลัวจนทำให้จำนวนคนตายเพราะพิษเศรษฐกิจมากกว่าตายเพราะโรคนี้ ยิ่งกว่านั้นจำนวนคนตายเพราะโรคนี้ยังน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ วัณโรค เอดส์ และอื่นๆ เราสามารถป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ (https://bit.ly/2wkb9Wy)

ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ทำลายชีวิตของคนไทย แต่ทำลายประเทศไทยในระยะยาว โปรดสังวร

ปล. ท่านสามารถดูอ้างอิงทั้งหมดได้ที่ https://bit.ly/3bQnCR9


You must be logged in to post a comment Login