- ต้องรู้ทันแก็งค์คอลเซ็นเตอร์Posted 21 hours ago
- อวิชชาบังตาPosted 2 days ago
- รักษาราชประเพณีPosted 3 days ago
- สำนึกผิด โอกาสเป็นบัณฑิตได้Posted 4 days ago
- ระวังฟืนไฟให้ดีPosted 5 days ago
- ต้องควบคุมผัสสะให้ดีPosted 1 week ago
- วัดสวนแก้วจัดงานวันเด็กปี 68Posted 1 week ago
- ว่าด้วย “นิสมฺม กรณํ เสยฺโย”Posted 1 week ago
- สร้างบารมีพาอยู่เย็นเป็นสุขPosted 2 weeks ago
- ต้องทำชีวิตให้ดีกว่าเก่าPosted 2 weeks ago
แพ้อาการรุนแรง
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : พญ.ชามาศ วงค์ษา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 6-13 ธันวาคม 2562)
อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบฉับพลัน โดยมากมักเกิดภายใน 5-30 นาทีหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดรับประทาน อาจมีความรุนแรงถึงชีวิต อาการแพ้รุนแรงมักมีอาการทั่วร่างกายหรือมีอาการแสดงหลายระบบ ได้แก่
1.ระบบผิวหนังและเยื่อบุ เช่น อาการคัน ตัวแดง ผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม
2.ระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด หลอดลมตีบ คัดจมูก
3.ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการเวียนศีรษะ วูบ หมดสติ ความดันต่ำ
4.ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว
ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก เด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ มีโรคร่วมเป็นโรคหัวใจ โรคหืด โรคทางจิตเวช และรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงหรือยารักษาโรคหัวใจในกลุ่ม beta-blocker, ACEI เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแพ้รุนแรงพบว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ
สาเหตุของอาการแพ้รุนแรงที่พบบ่อย ได้แก่
1.ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด
2.อาหาร เช่น อาหารทะเล แป้งสาลี ไข่ นม ถั่ว
3.มดกัด หรือแมลงมีพิษต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน
4.ยางลาเท็กซ์
เมื่อสงสัยว่าอาการแพ้รุนแรงให้ผู้ป่วยโทร.เรียกรถพยาบาลหรือรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หลีกเลี่ยงการลุกยืนหรือเปลี่ยนท่าฉับพลัน เนื่องจากหากขณะนั้นมีความดันโลหิตต่ำอาจทำให้หมดสติได้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากประวัติและการตรวจร่างกาย ยาสำคัญที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้รุนแรงคือ ยาอะดรีนาลิน (Adrenaline หรือ Epinephrine) ขนาดในผู้ใหญ่คือ 0.3-0.5 มิลลิกรัม บริหารยาเข้าในชั้นกล้ามเนื้อ นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษาประคับประคองอื่นๆตามอาการแสดงของผู้ป่วย แพทย์อาจจะพิจารณารับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการหลังจากเกิดอาการแพ้รุนแรงแล้วอย่างน้อย 8-24 ชั่วโมง เนื่องจากมีโอกาสเกิดอาการแพ้รุนแรงซ้ำได้ในช่วงเวลานี้
การวินิจฉัยหาสารก่อภูมิแพ้ทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การตรวจทางผิวหนัง (skin test) การตรวจเลือดหา specific IgE และวิธีการทดสอบโดยให้สารที่สงสัยซ้ำ (challenge test) ซึ่งเป็นการทดสอบที่มีความเสี่ยงสูง ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง
1.ควรพกยาอะดรีนาลินเพื่อใช้ฉุกเฉินหากเกิดอาการแพ้รุนแรงซ้ำ ในปัจจุบันยาอะดรีนาลินแบบพกพามี 2 รูปแบบคือ Epinephrine auto-injector (Epi-pen®) และอะดรีนาลินที่เตรียมใส่ syringe พร้อมฉีด ทั้ง 2 รูปแบบนี้มีประสิทธิภาพของยาอะดรีนาลินในการรักษาอาการแพ้รุนแรงเหมือนกัน การเลือกรูปแบบใดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
2.ควรทบทวนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการแพ้รุนแรงอยู่เสมอ และควรบอกคนใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เสมอว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ใด ยาอะดรีนาลินที่พกติดตัวอยู่ที่ใด หากผู้ป่วยหมดสติบุคคลเหล่านี้จะสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้
3.ในผู้ป่วยที่ทราบสาเหตุของอาการแพ้รุนแรงแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้นอย่างเคร่งครัด
4.ควรมีบัตรพกติดตัวว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใด เช่น บัตรแพ้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพ้ซ้ำ
5.หากไม่สามารถระบุสารก่อภูมิแพ้ได้ชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้
6.หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ หรือแม้จะหลีกเลี่ยงอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังเกิดอาการแพ้รุนแรงซ้ำ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยวิธีภูมิบำบัด (Immunotherapy)
You must be logged in to post a comment Login