วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เทคนิคบริหารเงินฉบับผู้ประกอบการ

On November 28, 2019

สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบในการบริหารเงินคือข้อมูล ทั้งรายรับ รายจ่าย และกระแสเงินสด ยิ่งข้อมูลละเอียดมากเท่าไร การวางแผนจัดการเงินย่อมมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น เพราะการจะบริหารธุรกิจให้เติบโตหรือล้มเหลวส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะพลาดไม่ได้

การบริหารเงินอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ โดยฟลุค-เกริกพล มัสยวาณิช นักแสดง นักธุรกิจ และนักลงทุน แนะนำเกี่ยวกับการจัดการเงินแบบผู้ประกอบการว่า ต้องเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เริ่มจากวางรูปแบบการจัดเก็บที่ดี มีระบบบัญชีที่ถูกต้อง จัดเก็บเอกสารและข้อมูลต่างๆอย่างมีมาตรฐาน

ข้อมูลการเงินเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากธุรกิจไม่เก็บข้อมูลทางการเงินจะไม่ทราบสถานะทางการเงินที่แท้จริงว่ามีรายรับ รายจ่ายเท่าไร มีกำไรหรือไม่ อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการวางแผนการเงินผิดพลาด แต่ถ้ามีการเก็บข้อมูลการเงินอย่างเป็นระบบก็จะสามารถจัดระเบียบการเงินของตัวเอง และยังส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบเพื่อชำระภาษีได้อย่างถูกต้อง

อีกประการสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องอ่านงบการเงินของบริษัทให้เป็น โดยงบการเงินที่ผู้ประกอบการควรรู้ ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด เพราะตัวเลขต่างๆในงบการเงินนั้นสะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานของธุรกิจ อย่างน้อยต้องดูกระแสเงินสดที่หมุนเวียนในธุรกิจ รู้สภาพคล่อง และหาอัตราส่วนกำไรต่อยอดขายได้ ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องบัญชีจะยิ่งเพิ่มแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

ผู้ประกอบการต้องรู้จักควบคุมค่าใช้จ่าย เพราะแม้จะมีรายรับมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ธุรกิจก็จะไม่มีกำไร การควบคุมค่าใช้จ่ายจึงเป็นพื้นฐานของการสร้างผลกำไร และเมื่อควบคุมค่าใช้จ่ายได้แล้ว ผู้ประกอบการยังต้องทราบว่าภาระที่ต้องชำระมีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร และเมื่อไร ที่สำคัญไม่ควรนำรายรับไปใช้จ่ายด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนการเงินล่วงหน้า ในที่นี้อาจรวมถึงการวางแผนลงทุน เช่น การขยายสาขา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เทคนิคคือ เมื่อมีรายได้เข้ามาต้องทราบว่ามีภาระค่าใช้จ่ายใดบ้าง แล้วคำนวณว่าเงินที่เหลือนี้สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจด้านใดบ้าง ยิ่งคิดล่วงหน้าเท่าไรยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น

เงินหมุนเวียนอย่าใช้ผิดประเภท

การใช้จ่ายเกินจำเป็นเกิดขึ้นได้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมือใหม่ ในกรณีที่มีกระแสเงินสดเข้ามาจำนวนมากอาจทำให้ผู้ประกอบการพลั้งเผลอนำเงินไปใช้จ่ายผิดประเภท เกิดภาวะค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งจะกระทบกับเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ หรืออาจเกิดการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้

ความจำเป็นในการใช้เงินขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ยกตัวอย่างเช่น ทำธุรกิจร้านอาหาร ปกติใช้เครื่องสไลด์พาร์มาแฮมราคาเครื่องละ 20,000 บาท แต่ในท้องตลาดมีเครื่องสไลด์พาร์มาแฮมคุณภาพสูงราคา 600,000 บาทวางขายอยู่

“คำถามคือ ถ้ามีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ 2-3 ล้านบาท คุณจะซื้อหรือไม่ เครื่องที่ราคาแพงกว่าอาจจะสไลด์พาร์มาแฮมได้บางกว่า รสชาติดีกว่าเครื่องเดิมที่มีอยู่ คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือเปล่า ถ้าประเมินแล้วว่าคุ้มค่า ส่งผลดีต่อธุรกิจก็น่าซื้อ แต่ต้องดูความจำเป็นด้วย”

สิ่งสำคัญในการใช้เงินทุนหมุนเวียนคือ อย่านำเงินไปใช้ผิดประเภท บางขณะการที่ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนเยอะ ผู้ประกอบการอาจนำเงินทุนหมุนเวียนไปลงทุนด้านอื่นเพื่อหวังผลประกอบการที่สูงขึ้น บางครั้งต้องระมัดระวังให้มาก ควรดูความจำเป็นและเหมาะสม ไม่นำเงินไปลงทุนธุรกิจอื่น ให้มุ่งเป้าไปที่ธุรกิจหลักจะดีที่สุด

เงินสำรองมีเท่าไรถึงปลอดภัย

ธุรกิจต้องมีเงินสำรองขั้นต่ำคือ 6 เดือน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เริ่มต้นธุรกิจ เพราะยังไม่สามารถประมาณการได้ว่าอนาคตของธุรกิจจะเป็นเช่นไร ดังนั้น จึงต้องเตรียมเงินทุนสำรองไว้ให้เพียงพอ

ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนธุรกิจร้านอาหาร 10 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 500,000 บาท เงินสำรองที่ต้องเตรียมคือ 3 ล้านบาท เพราะเดือนแรกอาจไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลย เดือนที่สองลูกค้าเริ่มรู้จัก เริ่มไม่ขาดทุน แต่อาจยังไม่มีกำไร ดังนั้น ประมาณระยะปลอดภัยสำหรับทุกธุรกิจควรต้องเตรียมเงินทุนสำรองไว้ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ทำธุรกิจ เครดิตนั้นสำคัญ

ธุรกิจอาจใช้เวลาสร้างชื่อเสียงและการยอมรับนับ 10 ปี แต่ชื่ออาจเสียได้ภายใน 10 วัน หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา กลายเป็นลูกหนี้เครดิตไม่ดี ในอนาคตหากต้องการขอสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจแต่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้บ่อย สถาบันการเงินอาจไม่ปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้

ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการรักษาเครดิต และชำระหนี้ให้ตรงเวลา รวมถึงการจ่ายหนี้ให้คู่ค้าทางธุรกิจด้วย เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดี และสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง

ใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการได้ง่ายขึ้น

การทำธุรกิจในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ การนำซอฟต์แวร์มาใช้จัดการงานด้านบัญชี ออเดอร์ รวมถึงบริหารจัดการสต็อก สามารถทำได้เบ็ดเสร็จในซอฟต์แวร์เดียว นอกจากนี้ยังสั่งงานได้แบบเรียลไทม์ จึงช่วยประหยัดทั้งแรงงานคนและเวลาให้กับเจ้าของธุรกิจได้

แอพพลิเคชั่นในปัจจุบันมีมากมาย อาทิ แอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการชำระเงิน จะช่วยลดการทุจริตของพนักงาน การทำบัญชีออนไลน์จะช่วยให้สามารถดูงบการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนการเงินเพื่อลดหรือจ่ายภาษีน้อยลงได้

ติดตามสถานะทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ

สุดท้าย วินัยการเงินที่ดีที่ผู้ประกอบการควรทำคือ การติดตามสถานะทางการเงินของธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเทคนิคในการบริหารเงินของธุรกิจจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นสิ่งที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการมือใหม่เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นและเติบโต

 


You must be logged in to post a comment Login