วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

บอดี้การ์ดมือสังหาร

On September 27, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 27 กันยายน – 4 ตุลาคม 2562)

นายทหารนาซีระดับสูงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปกป้องคุ้มครองนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน แต่เขากลับเป็นผู้ลั่นกระสุนสังหารนักวิทยาศาสตร์คนนั้นเสียเอง

วันที่ 11 กันยายน 1962 ไฮนซ์ ครูก นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันวัย 49 ปี ออกจากบ้านไปทำงานในโครงการวิจัยขีปนาวุธให้กับรัฐบาลอียิปต์ แต่วันนี้ไฮนซ์ไม่ได้กลับบ้านเหมือนอย่างที่เคย เขาหายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย

17 ปีก่อนหน้านี้ ไฮนซ์เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์โครงการวิจัยขีปนาวุธให้กับพรรคนาซี เป้าหมายหลักคือการสร้างขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลกว่าเดิม ประสิทธิภาพในการทำลายล้างมากกว่าเดิม และมีความแม่นยำมากขึ้น

หลังจากที่เยอรมันพ่ายแพ้ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านวิจัยขีปนาวุธชาวเยอรมันก็ถูกรัฐบาลอเมริกาดึงตัวไปช่วยเหลือในโครงการอวกาศของนาซ่า แต่ไฮนซ์และพรรคพวกจำนวนหนึ่งไม่สนใจ กลับไปทำงานด้านวิจัยขีปนาวุธให้กับรัฐบาลอียิปต์

อิสราเอลมองว่าโครงการวิจัยขีปนาวุธของอียิปต์เป็นภัยต่อความมั่นคงของอิสราเอล เนื่องจากอียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาหรับที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิสราเอล จึงมอบหมายให้หน่วยข่าวกรองมอสสาดทำการวินาศกรรมโครงการวิจัยขีปนาวุธของอียิปต์

นักวิทยาศาสตร์โครงการวิจัยขีปนาวุธของอียิปต์หลายคนได้รับจดหมายข่มขู่เอาชีวิต บางคนได้รับพัสดุบรรจุระเบิดแสวงเครื่อง เห็นได้ชัดว่าพวกเขาตกเป็นเป้าของทีมสังหาร ไฮนซ์เริ่มกังวลต่อความปลอดภัยของตัวเองจึงติดต่อขอความช่วยเหลือจากอดีตนายทหารพรรคนาซี ผู้ที่ตอบรับให้ความคุ้มครองไม่ได้เป็นแค่บอดี้การ์ดทั่วๆไป แต่มีตำแหน่งเป็นถึงอดีตผู้บัญชาการรบและเป็นผู้ช่วยมือต้นๆของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ตัวอันตราย

พันโทออตโต สกอร์เซนี อดีตนายทหารหน่วยเอสเอสวัย 54 ปี ชื่อของเขาปรากฏในแฟ้มของหน่วยข่าวกรองอเมริกาและอังกฤษ ระบุว่าเป็น “บุคคลอันตรายที่สุดในยุโรป” ออตโตสร้างผลงานให้กับพรรคนาซีไว้มากมาย แต่ที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดเห็นจะได้แก่ภารกิจบุกเข้าชิงตัวเบนิโต มุสโสลินี ปลดปล่อยเพื่อนคนสำคัญของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้เป็นอิสระ เมื่อเดือนกันยายน 1943

ออตโตเกิดในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 1908 เข้าร่วมรบกับกองโจรออสโตร-ฮังกาเรียนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ต่อมาในปี 1931 สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซี สาขาออสเตรีย ปี 1939 เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น ออตโตสมัครเข้าเป็นทหารสังกัดไลป์สตันดาร์ท เอสเอส หรือหน่วยคุ้มกันอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ความสำเร็จในภารกิจปลดปล่อยเบนิโต มุสโสลินี ทำให้ออตโตได้รับเหรียญกล้าหาญ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพันโท และได้รับสิทธิพิเศษพบปะกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นการส่วนตัว เดือนกันยายน 1944 ออตโตได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญอีกครั้ง คราวนี้เป็นการโค่นล้มรัฐบาลฮังการี

ปี 1944 มิกโลช โฮร์ตี ผู้นำฮังการี แถลงการณ์ประกาศถอนตัวจากฝ่ายอักษะและจับมือสงบศึกกับรัสเซีย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จึงสั่งให้ออตโตนำกำลังทหารไปจับกุมตัวมิกโลช บังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคนของพรรคนาซีนั่งตำแหน่งแทน

อาชญากรสงคราม

ปี 1944 ออตโตได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญอีกอย่างคือ ทำหน้าที่คัดสรรทหาร 150 นายที่มีความสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว สร้างกองร้อยเฉพาะกิจขึ้นมา สวมเครื่องแบบทหารอเมริกันที่ได้มาจากเชลย แทรกซึมเข้าไปในสนามรบสมรภูมินอร์มังดี ขโมยรถถังและโจมตีฝ่ายพันธมิตรจากด้านใน

ออตโตยังมีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทำให้หลังจากที่เยอรมันพ่ายแพ้สงคราม ออตโตถูกหมายหัวจากฝ่ายพันธมิตรในอันดับต้นๆ เขาถูกคุมขังในฐานะอาชญากรสงคราม จนกระทั่งในปี 1948 ออตโตสามารถหลบหนีออกจากค่ายกักกันได้สำเร็จ

อดีตนายทหารนาซีส่วนใหญ่หลบหนีไปอาศัยอยู่ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน เนื่องจากฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการสเปนในสมัยนั้น ให้ความคุ้มครองอดีตนายทหารนาซี ซึ่งออตโตก็เป็นหนึ่งในผู้หลบภัยในสเปน

ในช่วงเวลานี้ออตโตทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาแก่ฮวน เปรอง ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา และรัฐบาลอียิปต์ ทำให้เขาได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ทำงานวิจัยขีปนาวุธให้กับอียิปต์

ยืมมือโจรฆ่าโจร

วีรกรรมของออตโตเป็นภัยต่ออิสราเอลอย่างมหันต์ หน่วยข่าวกรองมอสสาดต้องการเด็ดหัวเขา แต่อีสเซอร์ ฮาเรล ผู้อำนวยการมอสสาด มีแผนอื่นอยู่ในใจ แทนที่จะกำจัดออตโต อีสเซอร์เลือกวิธีดึงออตโตให้มาเป็นพวก เนื่องจากมอสสาดกำลังหาวิธีวินาศกรรมโครงการวิจัยขีปนาวุธของอียิปต์ และออตโตก็อยู่ในฐานะที่สามารถเข้าถึงตัวบรรดานักวิทยาศาสตร์ในโครงการนี้

มอสสาดส่งตัวสายลับ เคิร์ก ไวส์มัน และสายลับสาววัยยี่สิบปลายๆใช้นามแฝงว่า “อันเคอ” ปลอมตัวเป็นคู่รักนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมายังกรุงมาดริด ทั้งคู่ถูกโจรปล้นจนหมดเนื้อหมดตัว จึงแวะเข้ามานั่งดื่มในบาร์หรูแห่งหนึ่งเพื่อปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อไป

บาร์เทนเดอร์ได้ฟังเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันรู้สึกสงสาร จึงไปเล่าต่อให้ออตโตและภรรยาซึ่งเป็นลูกค้าขาประจำได้รับทราบ เผื่อว่าจะช่วยเหลืออะไรนักท่องเที่ยวได้บ้างเพราะเป็นชาวเยอรมันเหมือนกัน ออตโตและภรรยาชวนคู่รักนักท่องเที่ยวมาร่วมดื่มที่โต๊ะและเสนอให้ไปพักที่คฤหาสน์

เมื่อมาถึงคฤหาสน์ของออตโต โดยที่นักท่องเที่ยวไม่ทันตั้งตัว ออตโตก็ชักปืนออกมาส่องไปที่เคิร์กพร้อมกับพูดว่า “ฉันรู้ว่าแกเป็นใครและต้องการอะไร พวกแกคือมอสสาด มาเพื่อฆ่าฉัน”

ประกันสุขภาพ

เคิร์กและอันเคอมีสีหน้าเรียบเฉยไม่สะทกสะท้าน “คุณถูกแค่ครึ่งเดียว ใช่พวกเราเป็นมอสสาด แต่ถ้าเราอยากจะฆ่าคุณ คุณตายไปหลายวันก่อนแล้ว” ออตโตยังไม่สิ้นความระแวง “หรือบางทีผมน่าจะสังหารพวกคุณ”

อันเคอตอบแบบไม่ต้องคิด “หากคุณฆ่าพวกเรา คนต่อไปที่คุณจะได้เจอจะไม่เสียเวลามาร่วมดื่มกับคุณ สมองคุณจะกระจุยก่อนที่คุณจะทันได้เห็นหน้าเขา เรามาเพื่อขอให้คุณช่วย” เคิร์ตอธิบายแผนการพร้อมกับเสนอเงินก้อนโตให้กับออตโต

“ผมไม่ต้องการเงิน ผมมีมากพอแล้ว ผมต้องการให้ลบชื่อผมออกจากรายชื่อตามล่าตัวอาชญากรสงครามของชาวยิว” ออตโตมองสถานการณ์อย่างทะลุปรุโปร่ง เคิร์กและอันเคอเป็นข้อพิสูจน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหากมอสสาดต้องการกำจัดเขา เขาคงตายไปนานแล้ว การลบชื่อออกจากรายชื่อตามล่าเป็นวิธีเดียวที่จะกันไม่ให้มือสังหารตามล่าตัวเขาอีก เคิร์กตอบตกลง ออตโตจึงลดปืนลง

หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์โครงการวิจัยขีปนาวุธของอียิปต์ได้รับจดหมายข่มขู่เอาชีวิต พัสดุบรรจุระเบิดแสวงเครื่องถูกส่งมายังโรงงานผลิตอาวุธ การระเบิดส่งผลให้คนงานชาวอียิปต์ 5 คนเสียชีวิตทันที และทำให้นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันหลายคนขอถอนตัวจากโครงการ

เกือบไม่รอด

ไฮนซ์ร้องขอให้ออตโตคุ้มกันชีวิต ออตโตขับรถพาไฮนซ์ออกจากโรงงานผลิตอาวุธ โดยมีรถยนต์อีกคันขับตามหลัง ออตโตบอกกับไฮนซ์ว่าไม่ต้องกลัว เพราะรถยนต์คันหลังมีบอดี้การ์ด 3 คนให้ความคุ้มครองตลอดทาง

เมื่อไปถึงสถานที่เปลี่ยวนอกเมือง ออตโตจอดรถและบอกให้ไฮนซ์ลงจากรถโดยอ้างว่าจะอธิบายแผนการหลบหนีให้เขาและบอดี้การ์ดได้เข้าใจ โดยไม่ทันได้ตั้งตัว ออตโตชักปืนออกมายิงไฮนซ์เสียชีวิต บอดี้การ์ด 3 คนที่ตามมาช่วยกันนำร่างไฮนซ์ไปทิ้งลงในหลุมที่ขุดเอาไว้ล่วงหน้า ใช้น้ำกรดทำลายศพ และใช้ปูนซีเมนต์เทลงในหลุมเพื่อป้องกันกลิ่นศพและป้องกันสัตว์มาขุดคุ้ย

ออตโตรอดจากการถูกลอบสังหารโดยมอสสาด แต่เขาไม่รู้ว่ามอสสาดไม่สามารถลบชื่อเขาออกจากรายชื่ออาชญากรสงครามได้ เพราะผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกรายชื่อคือ ไซมอน ไวเซนตอล ซึ่งทำงานเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใดๆทั้งสิ้น เขาไม่เห็นด้วยและปฏิเสธที่จะลบชื่อออตโต

ขณะเดียวกันสายลับชาวอิสราเอล 2 คน ถูกจับในข้อหาข่มขู่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันในสวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง แต่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากผู้พิพากษาเห็นใจที่อิสราเอลจำเป็นต้องเกรงกลัวโครงการวิจัยขีปนาวุธของอียิปต์ ถึงกระนั้นก็สร้างความอับอายขายหน้าให้กับหน่วยข่าวกรองมอสสาด ปฏิบัติการตามล่าอาชญากรสงครามจึงถูกระงับ

ออตโตจึงปลอดภัยจากการถูกตามล่าและใช้ชีวิตในฐานะสายลับให้กับมอสสาดในกรุงมาดริดจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 67 ปีเมื่อปี 1975 โดยเคิร์กมาร่วมพิธีฝังศพแบบเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เขาเป็นผู้ติดต่อโน้มน้าวให้ออตโตมาทำงานลับให้มอสสาด

1

1.ไฮนซ์ ครูก

2

2.ออตโต สกอร์เซนี และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

Gran Sasso, Mussolini vor Hotel

3.ออตโต สกอร์เซนี และเบนิโต มุสโสลินี

4

4.ออตโตและภรรยา

5

5.ออตโตในห้องคุมขัง

6

6.ไซมอน ไวเซนตอล

7

7.เคิร์ก ไวส์มัน (กลาง) ในวัยเด็ก


You must be logged in to post a comment Login