วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

โอย! ปวดหลังจัง

On September 13, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์  ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 13-20 กันยายน 2562)

อาการปวดหลังเกิดได้บ่อยมากไม่น้อยกว่าปวดหัว พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ใช้แรงงานในประเทศอุตสาหกรรมจะต้องเคยปวดหลังอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตหรือมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดกับกลุ่มคนวัยทำงานและผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป ที่น่าเป็นห่วงคือนับวันแนวโน้มจะมีผู้ปวดหลังเพิ่มมากขึ้น และจากการรักษาผู้ป่วยมานาน พบว่าอาการปวดหลังมีสาเหตุมากมาย ได้แก่

– อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับหลัง

– สาเหตุจากการทำงาน การยกของหนัก

– นั่งทำงานใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมงทำให้ปวดหลังและปวดคอได้ด้วย

– จากการเล่นกีฬา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก หมอนรองกระดูกสันหลัง จนปวดหลัง

– สาเหตุจากโรคต่างๆ เช่น การอักเสบของข้อต่อ กระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม

– สาเหตุจากพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับอวัยวะข้างเคียงกับกระดูกสันหลัง เช่น ไต ตับ ตับอ่อน ลำไส้ อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง

– การติดเชื้อ อย่างเช่นวัณโรคกระดูกสันหลัง

– ในผู้สูงวัยอาจมาจากกระดูกเปราะบาง กระดูกหักยุบ

– หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อนเคลื่อนกดทับรากประสาทสันหลัง

– ที่ร้ายสุดคือเนื้องอกหรือมะเร็งกระดูกสันหลัง

อาการปวดหลังที่พบบ่อย

มีตัวอย่างผู้ป่วยที่มาหาหมอด้วยอาการปวดหลัง หรือมีอาการปวดร้าวลงขาร่วมด้วยที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของคุณไม่น้อย

• ผู้ชายอายุ 35 ปี ก้มยกของหนัก เกิดเสียงดังที่หลังแล้วมีอาการปวดหลังเสียวร้าวลงขา เดินไม่ถนัด ขาชาและอ่อนแรง เป็นอะไรได้บ้าง

ผู้ที่ทำงานก้มยกของหนัก ไม่ระมัดระวัง จะมีการเลื่อนหรือการแตกของหมอนรองกระดูกสันหลัง เนื้อหมอนรองกระดูกจะเคลื่อนเข้าไปในท่อไขสันหลัง แล้วกดทับรากประสาทสันหลัง ทำให้ปวดร้าวลงขา น่อง เท้าข้างนั้น พยาธิสภาพเช่นนี้มักเกิดที่กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว ที่ข้อต่อกระดูกสันหลังระดับ L4-L5, L5-S1 ต้องวิเคราะห์แยกโรคว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เนื้องอกกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังหักยุบ ซึ่งจะมีอาการคล้ายกัน การตรวจร่างกายอย่างละเอียดและเอกซเรย์ หรืออาจต้องทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) จะวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง

• วัยรุ่นชายอายุ 17-20 ปี หรืออาจมากกว่านี้ มีอาการปวดหลัง และหลังค่อยๆค่อมลง เป็นโรคอะไร

อาจเป็นโรครูมาติสซั่มชนิดหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกว่า Ankylosing Spondylitis พบมากในวัยรุ่นเพศชาย เมื่อเกิดโรคนี้จะมีอาการอักเสบที่ข้อต่อกระดูกซี่โครงกับกระดูกสันหลังส่วนหน้า ข้อกระดูกเชิงกราน ข้อกระดูกสันหลังทั้งด้านหน้าและหลัง ระยะแรกๆของโรคจะมีอาการปวดหลัง บางรายโรคลุกลามถึงข้อสะโพกจนทำให้ข้อสะโพกแข็งได้ และเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายคอจะงอเงยไม่ขึ้น หลังโก่งงอ ตัวแข็ง หายใจได้ไม่เต็มที่ และแทบไม่มีอาการปวดหลังให้ปรากฏเลย กระดูกสันหลังจะแข็งหมดตั้งแต่กระดูกคอถึงกระดูกบั้นเอว

• หญิงวัย 65 ปี รูปร่างท้วม มีอาการปวดหลัง เมื่อลุกเดินไปได้ 50-100 เมตร จะมีอาการปวดหลังร้าวลงสะโพกไปจนถึงน่องจนต้องหยุดพัก เมื่ออาการดีขึ้นแล้วลุกเดินต่อก็จะเป็นอีก แต่เมื่อหยุดพักจะหาย เป็นอาการที่สลับกันเรื่อยๆ เกิดจากอะไร

เกิดจากข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อหลวม ไม่มั่นคง และเกิดการเลื่อนของกระดูกสันหลังปล่องหนึ่ง (โดยเฉพาะที่ระดับ L4-L5) ไปทางด้านหน้า ทำให้ช่องไขสันหลังตีบแคบ ประสาทสันหลังถูกบีบรัด จึงทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงไปทางด้านหลังสะโพก โคนขา น่อง หรืออาจปวดถึงปลายเท้า โรคที่พบบ่อยคือ degenerative spondylolisthesis อาการเช่นนี้อาจเกิดในผู้ที่มีอายุน้อยกว่านี้ได้ แต่พยาธิสภาพของโรคไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ส่วนหลังของกระดูกสันหลังเกิดแยก ทำให้ส่วนหน้าของกระดูกเลื่อนไปทางด้านหน้า เป็นผลให้ท่อไขสันหลังตีบและเกิดการกดรัดประสาทสันหลังได้

• วัณโรคกระดูกสันหลังเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นอย่างไร

เกิดจากเชื้อวัณโรคชนิดเดียวกับที่ทำให้เป็นวัณโรคปอดหรือที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมาเชื้อแพร่กระจายไปที่กระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังทางระบบท่อน้ำเหลืองหรือหลอดเลือดดำ เข้าสู่ส่วนหน้าของกระดูกสันหลังส่วนที่อยู่ติดกับหมอนรองกระดูกสันหลัง แล้วเข้าไปทำลายกระดูกและหมอนรองกระดูก เมื่อถูกทำลายมากเข้าจะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูก หมอนรองกระดูกเลื่อน และเมื่อเข้าสู่ช่องไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลังจนทำให้เป็นอัมพาตที่ขา แต่ถ้าเป็นวัณโรคที่กระดูกและเกิดมีพยาธิสภาพเช่นเดียวกันก็จะทำให้เกิดอัมพาตที่แขนได้

ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคกระดูกมักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือความต้านทานของร่างกายต่ำ ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารที่ร่างกายต้องการ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัย หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากๆ รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นวัณโรคกระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังได้มาก แม้ในปัจจุบันจะมียารักษาวัณโรคให้หายขาดได้ แต่ในกรณีที่เป็นจนถึงขั้นอัมพาตต้องผ่าตัดรักษา ซึ่งนอกจากจะช่วยชีวิตแล้วยังแก้ไขความพิการของหลังด้วย

• ผู้ป่วยบางคนปวดหลัง แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดและให้ใส่โลหะยึดดามกระดูกสันหลัง

การผ่าตัดกระดูกสันหลังและยึดตรึงด้วยโลหะที่ประกอบด้วยสกรูแกนโลหะมีการทำค่อนข้างแพร่หลาย บางรายไม่มีความจำเป็นต้องยึดตรึงด้วยโลหะ รายที่ต้องยึดตรึงด้วยโลหะเพราะกระดูกสันหลังเลื่อน หรือเพราะกระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับรากประสาท จึงมีความจำเป็นต้องผ่าตัดตัดกระดูกและข้อรวมทั้งหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาทสันหลังออก แล้วดามกระดูกสันหลังด้วยโลหะพร้อมกับทำการตรึง (spinal fusion) กระดูกส่วนนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคง ป้องกันการเลื่อนของกระดูก และไม่ให้รากประสาทถูกกดทับอีกต่อไป ซึ่งอัตราการผ่าตัดในโรคกระดูกสันหลังเสื่อมมีเพียงประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้น

• มีความจำเป็นต้องรักษาผู้ป่วยปวดหลังด้วยการผ่าตัดทุกรายหรือไม่

อาการปวดหลังที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับคนที่ปวดหลังทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่าเป็นมากแค่ไหน ซึ่งหากรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัดไม่ได้ผลหรือโรคลุกลามมากขึ้นก็จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อนมาก หรือแตกกดทับรากประสาทสันหลัง ปวดร้าวลงขา ขาชาไม่มีแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ วัณโรคกระดูกสันหลัง เนื้อกระดูกถูกทำลายมากจนเป็นอัมพาต เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเลื่อนทับกดประสาทสันหลังจนมีอาการขาชา ไม่มีแรง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดหลัง

มีหลายอย่าง เช่น ผู้ที่ทำงานหนัก ก้มยกของหนักโดยไม่ระวังตัว จะทำให้กล้ามเนื้อหลังปริขาดเคล็ดยอก หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อน หรือผู้ที่นั่งทำงานนานๆ ลักษณะท่าทางไม่ถูกต้อง เช่น ก้มตัวมากอยู่นานๆ ก็จะทำให้เกิดอาการนี้ได้ สมัยนี้จะเกิดกับผู้ที่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ ตลอดจนนักกีฬาที่มีแนวโน้มทำให้เป็นโรคปวดหลัง เช่น กระโดดสูง ยกน้ำหนัก เทนนิส รวมทั้งกีฬาที่ต้องปะทะกันอย่างรักบี้เป็นต้น การสูบบุหรี่ อ้วน น้ำหนักตัวมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการมีอาการปวดหลังได้

ดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหลัง

ถ้าปวดหลังจากการยกของหนักหรือเอี้ยวบิดตัวแรงๆเพื่อหยิบของ แนะนำให้พักผ่อน ไม่ควรก้มยกของหนักหรือหิ้วของหนักอีก รับประทานยาแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ อาการจะดีขึ้นใน 2-3 วัน แต่ถ้าไม่ได้ผล ปวดมากขึ้น ปวดเสียวร้าวลงขา ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด อาจต้องเอกซเรย์กระดูกสันหลัง แพทย์มักแนะให้ทำกายภาพบำบัดร่วมกับรับประทานยา แต่ถ้าอาการปวดรุนแรงมากจนมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย อาจต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าช่องไขสันหลังและถ่ายภาพรังสีดูหรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ในกรณีที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับรากประสาทสันหลัง ถึงขั้นนี้อาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

มีวิธีการป้องกันการปวดหลังอื่นๆอีก เช่น ลดปัจจัยเสี่ยง หยุดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักตัว การก้ม ยกของหนัก การดึงหรือดันของหนักต้องทำด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และต้องดูแลตนเองให้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน จะป้องกันการปวดหลังได้อย่างดี

 


You must be logged in to post a comment Login