วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ไม่ยอมจำนน

On June 24, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 24 มิ.ย.62)

ประเด็นการเมืองที่น่าสนใจก่อนหมดเดือนมิถุนายนมี 2 เรื่องคือ รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีคำร้องสอบคุณสมบัติ ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายคุมอำนาจกำลังเร่งหาทางสู้สุดกำลังทั้งแง่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่ต่อให้แพ้ภัยกติกาที่เขียนมาเพื่อตัวเอง แม้จะมี ส.ส. หายไป 30-40 เสียง ก็จะไม่ยอมจำนนยุบสภา แต่จะขอสู้ในการเลือกตั้งซ่อม และยังแอบหวังด้วยว่าอาจยึดพื้นที่ ส.ส.ฝ่ายค้านที่กระเด็นตกเก้าอี้จากกรณีเดียวกันได้ มองมุมบวกเลือกตั้งซ่อมจะเป็นคุณมากกว่าโทษ

ถ้านับจากวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 10 วัน “ลุงตู่” ยังไม่สามารถฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อทูลเกล้าฯให้ทรงแต่งตั้งได้

ถ้านับย้อนไปถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ครบ 3 เดือนที่ยังไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้

เท่าที่ฟังมาปัญหาการฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่เริ่มมีมาตั้งแต่การแบ่งโควตาต่างๆให้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จนถึงการแบ่งโควตาภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ

แม้ตอนนี้ปัญหาต่างๆได้คลี่คลายไปแล้ว แต่ก็มาติดที่รายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐเองและพรรคร่วมรัฐบาลที่หลายคนมีคดีความติดตัว หลายคนมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีโดยรวม จนมีกระแสข่าวว่า “ลุงตู่” ตีกลับไปให้ต้นสังกัดพิจารณาใหม่หลายรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีในทางการเมืองนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่นักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ในช่วงที่ผู้นำไม่ได้มีอำนาจทุบโต๊ะ จะเอาอะไรได้ดั่งใจไปทุกเรื่อง

ตีชื่อกลับไปก็ส่งชื่อเดิมกลับมาโดยอ้างว่าต้นสังกัดตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมแล้ว ที่สำคัญยังอ้างธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาว่านายกฯมีหน้าที่เพียงเสนอแต่งตั้งบุคคลตามรายชื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา ไม่มีหน้าที่เลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาใครเป็นรัฐมนตรี

ในขณะที่ “ลุงตู่” ต้องการได้เครดิตจากการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ต้องการให้รัฐบาลมีภาพลักษณ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องตามว่าที่สุดแล้ว “ลุงตู่” จะยืนยันความต้องการของตัวเองหรือจะยอมตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา

ทั้งนี้ หากพิจารณาความเป็นไปได้คงต้องให้น้ำหนักไปที่ยอมเสนอแต่งตั้งบุคคลตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในมุมมารยาททางการเมืองที่ไม่ควรก้าวล่วงกิจการภายในพรรคอื่น หรือเสียงสนับสนุนรัฐบาลที่มีปัญหาปริ่มน้ำอยู่ อย่างไรก็ต้องยอม

ส่วนภาพลักษณ์หลังการแต่งตั้ง เสียงยี้ที่จะมีตามมา ถึงจะกระทบต่อรัฐบาลโดยรวม แต่ก็เป็นเรื่องที่พรรคต้นสังกัดต้องรับไปด้วยเช่นกัน

การเมืองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนมีเรื่องให้ลุ้น 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่น่าจะได้ฤกษ์คลอดเสียที ต้องดูว่าเป็นไปตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอหรือเป็นอย่างที่ใจ “ลุงตู่” ต้องการ แต่ไม่ว่าอย่างไรย่อมกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลไม่มากก็น้อย

อีกประเด็นต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดชี้ขาดว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ตีความคุณสมบัติ ส.ส. กรณีถือหุ้นสื่อเมื่อไรหลังจากเรื่องถูกยื่นไปพักใหญ่ๆแล้ว

ที่สำคัญต้องดูด้วยว่าจะชี้ขาดคำร้องในส่วนของพรรคพลังประชารัฐที่ขอให้จำหน่ายคดี และพ่วงขอให้คุ้มครองชั่วคราวให้ ส.ส. ที่ถูกฟ้องได้ทำหน้าที่ตามปกติกรณีศาลรับเรื่องไว้พิจารณา

ฝ่ายคุมอำนาจเหมือนจะทำใจไว้ส่วนหนึ่งแล้วเกี่ยวกับเรื่อง ส.ส. ขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อ ไม่อย่างนั้นคงไม่ดิ้นขอคุ้มครองชั่วคราว

ยิ่งกว่านั้นเนติบริกรบางคนเริ่มออกมาชี้ประเด็นแล้วว่าถ้าจะมี ส.ส. ขาดคุณสมบัติ ต้องกระเด็นตกเก้าอี้ 30-40 คน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนไม่กระทบต่อการทำงานของสภา เพราะองค์ประชุมยังครบถ้วนทำงานต่อได้ แต่ถือเป็นปัญหาของรัฐบาลที่ต้องไปหาทางแก้ไขเอาเอง

หมายความว่ามี ส.ส. กระเด็นตกเก้าอี้ก็ไปแข่งขันกันในการเลือกตั้งซ่อม ไม่จำเป็นต้องยุบสภา รัฐบาลก็ทำงานต่อไปเพราะไม่เกี่ยวกัน ส่วนปัญหาเสียงโหวตก็ไปหาทางแก้เป็นครั้งๆไป

หากจะเอากันอย่างนี้ทางทฤษฎีรัฐบาลก็อยู่ต่อได้ แต่ทางปฏิบัติคงเป็นเรื่องยาก เว้นแต่ว่าจะชนะเลือกตั้งกลับมาในปริมาณเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม


You must be logged in to post a comment Login