วันพฤหัสที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ซูเปอร์คอนเนกชัน ” ส.ว.- คสช. – ครม.”

On June 24, 2019

เว็บไซต์ thaipublica รายงานกล่มอำนาจที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักและน่าจะถูกวิจารณ์ต่อไปจนกว่าจะหมดวาระ สำหรับ “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ ส.ว. จำนวน 250 คน ที่นอกจากจะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายด้วยอำนาจนิติบัญญัติแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังกำหนดอำนาจในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกให้สามารถร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้จะผ่านการออกเสียงประชามติด้วยคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ในกระบวนการสรรหาที่ถูกคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรงในขั้นสุดท้าย รวมไปถึงการไม่เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาอย่างเป็นทางการ จึงเป็นที่มาของเสียงวิจารณ์ต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและการเมืองแบบพวกพ้องในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคการเมืองหลายพรรคจะออกมาเรียกร้องให้ ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งไม่ออกเสียง เพื่อป้องกันคำครหาถึงการเอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง รวมไปถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการสรรหา และคนในรัฐบาลอีกหลายคน ที่ออกมายืนยันว่าการคัดเลือกเป็นไปตามกระบวนการ ไม่มีการเลือกจากพวกพ้องคนรู้จักใกล้ชิด แต่เมื่อถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหนึ่ง โดยไม่แตกแถวแม้แต่คนเดียว

แม้ว่าภายหลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งที่ต้องปกปิดรายชื่อคณะกรรมการฯ ว่าอาจจะมีการ “วิ่งเต้น” ขอตำแหน่งได้ แต่ก็เป็นช่วงหลังจากที่ทำหน้าที่ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยรายชื่อของคณะกรรมการฯ ได้แก่

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน สรรหาในสายความมั่นคงจำนวน 50 รายชื่อ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ สรรหาในสายเศรษฐกิจ 50 รายชื่อ
พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี สรรหาในสายเกษตรและสังคม 50 รายชื่อ
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี สรรหาในสายวิทยาศาสตร์ การศึกษาและยุติธรรม และสื่อมวลชน 50 รายชื่อ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สรรหาในตำแหน่งกฎหมาย 50 รายชื่อ
พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช.
พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช.
พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.
พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช. และปัจจุบันเป็นประธานวุฒิสภา
ซูเปอร์คอนเนกชัน1
ปรากฏการณ์เหล่านี้นำมาสู่ประเด็นคำถามที่ว่า ส.ว.ที่ถูกคัดเลือกเหล่านี้ “รู้จัก” หรือ “เชื่อมโยง” กับ คสช.หรือ ครม.หรือไม่

และการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีมีลักษณะของผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ หรือในความเป็นจริงแล้ว ส.ว.ทั้ง 250 คน ถูกคัดเลือกขึ้นมาตามกระบวนการโดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถเป็นหลัก และมองว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเหมาะสมด้วยความรู้ความสามารถที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต่ออีกสมัยหนึ่ง

ด้วยสังคมไทยที่มีความสายสัมพันธ์ เชื่อมโยง โครงข่ายเครือญาติและที่ไม่ใช่เครือญาติ หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เพื่อนโรงเรียน เพื่อนมหาวิทยาลัย เพื่อนบ้าน ความเป็นญาติที่โยงใยหลายชั้นในหลายมิติตามวัฒนธรรมของไทย เป็นต้น และบางครั้งถึงแม้จะไม่มีความสัมพันธ์หรือเครือข่าย ก็สามารถประสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันได้ ด้วยเงื่อนไขต่างๆมากมาย

“ไทยพับลิก้า” จึงได้ตรวจสอบข้อมูล จากหนึ่งในการหาความเชื่อมโยง หรือ “คอนเนกชัน” ที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอในสังคมไทยคือบรรดา “หลักสูตรซูเปอร์คอนเนกชัน” ที่ผู้บริหารระดับสูงต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่อคิวเข้ามาเรียนกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.), หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงของสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.), หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) ของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และยังมีอีกหลายๆหลักสูตรที้เปิดขึ้นอีกมากมาย

สำหรับหลักสูตรเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมองว่าหลักสูตรช่วยเพิ่มศักยภาพและความร่วมมือของบุคลากรจากสถาบันต่างๆ ของสังคม แต่อีกด้านหนึ่งมีคำวิจารณ์ว่าหลักสูตรเหล่านี้เป็นแหล่งของการแสวงหาคอนเนกชันและผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่จากเดิมควรจะต้องคานอำนาจหรือกำกับดูแลกัน แต่ด้วยหลักสูตรที่เข้ามาเรียนด้วยกันจนรู้จักเป็นเพื่อนกันอาจทำลายหลักการดังกล่าวได้

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รวบรวมฐานข้อมูลเครือข่ายคอนเนกชัน 5 หลักสูตร แต่ด้วยข้อจำกัดของการเปิดเผยข้อมูลบุคคลที่เข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ ทำให้ฐานข้อมูลบางส่วนยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะหลักสูตร ปรอ. โดยหลักสูตร วปอ.จะรวบรวมข้อมูลตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นที่ 54 จำนวน 4,525 คน, หลักสูตร วตท.ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นที่ 25 จำนวน 2,202 คน, หลักสูตร บยส.ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นที่ 21 จำนวน 1,381 คน และหลักสูตร ปรอ.เฉพาะรุ่นที่ 20 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ร่วมเรียนด้วย จำนวน 107 คน รวมเป็นจำนวนฐานข้อมูลทั้งสิ้น 7,492 คน (เนื่องจากมีบางส่วนที่เรียนหลายหลักสูตร) อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลเบื้องต้นยังสามารถฉายภาพความเชื่อมโยงของเหล่า ส.ว., คสช. และ ครม.ได้อย่างน่าสนใจ

เบื้องต้นจากจำนวน ส.ว. 250 คน มี ส.ว.ที่เคยเข้าเรียนอย่างน้อย 1 หลักสูตรจำนวน 105 คน หรือคิดเป็น 42% ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ขณะที่จำนวน ส.ว.ที่มีความเชื่อมโยง “โดยตรง” กับ คสช. และ ครม.ผ่านหลักสูตรเหล่านี้จำนวน 24 คน และเชื่อมโยงทางอ้อมในลักษณะ “เพื่อนของเพื่อน” อีก 57 คน รวมเป็น ส.ว.ที่มีความเชื่อมโยงทั้งหมด 81 คน หรือคิดเป็น 32.4% ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด และหากมองเฉพาะ ส.ว.ที่ “เคย” เข้าเรียนหลักสูตรเหล่านี้ในฐานะกลุ่มคนที่มี “โอกาส” รู้จัก คสช.และ ครม.ผ่านคอนเนกชันของหลักสูตรเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า 77.1% ของ ส.ว.ที่เคยเรียนหลักสูตรเหล่านี้ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับ คสช.หรือ ครม.ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ซูเปอร์คอนเนกชัน3
อีกประเด็นที่น่าสนใจและถูกพูดถึงอย่างมากว่าการแต่งตั้ง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการสรรหา ส.ว. อาจจะทำให้การสรรหาเป็นไปอย่างไม่โปร่งใสและอาจจะเห็นการแต่งตั้งเพื่อนพ้องน้องพี่เป็น ส.ว.ในฐานะพี่ใหญ่ผู้มากบารมีและคอนเนกชันของ คสช. อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูล พล.อ. ประวิตร ในฐานะนักเรียน วปอ. รุ่นที่ 40 เชื่อมโยงโดยตรงกับ ส.ว.เพียง 2 คนคือ “นพดล อินทปัญญา” และ “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า พล.อ. ประวิตร อาศัยเครือข่ายในลักษณะอื่นๆ
ซูเปอร์คอนเนกชัน2
ในทางตรงกันข้าม หัวหน้า คสช.อย่าง พล.อ. ประยุทธ์ กลับมีเครือข่ายเกี่ยวกับ ส.ว.มากที่สุด 27 คน โดย 9 คนเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ปรอ. 20 ของ พล.อ. ประยุทธ์ ตัวอย่างเช่น กล้านรงค์ จันทิก, ปนัดดา ดิศกุล, ฉัตรชัย สาริกัลยะ, สังศิต พิริยะรังสรรค์, วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นต้น และที่เหลือ 17 คนจะเป็นการเชื่อมโยงผ่านเพื่อนของเพื่อนจากหลักสูตรอื่นๆ โดยมีสังศิต พิริยะรังสรรค์, วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ และกล้านรงค์ จันทิก เป็นตัวเชื่อมโยงสำคัญ นอกจากนี้ ในเครือข่ายของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีความเกี่ยวข้องไปยังรัฐมนตรีอีก 3 คน ได้แก่ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปิยะสกล สกลสัตยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ซูเปอร์คอนเนกชัน4
ขณะที่เครือข่ายอื่นๆ รองลงไป ได้แก่ ด้านเครือข่ายของ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ในฐานะสมาชิกของ คสช. พบว่าเชื่อมโยงกันในเครือข่าย 18 คน โดย พล.ต.อ. จักรทิพย์ เป็นนักเรียน วตท. รุ่น 13 และ บยส. รุ่น 14 โดยเชื่อมโยงผ่านสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ที่เป็นทั้งนักเรียน วปอ. รุ่น 49, วตท. รุ่น 24 และ บยส. รุ่น 14 เช่นเดียวกับ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ก่อนจะเชื่อมโยงผ่านหลักสูตร วตท. รุ่น 24 ไปยังวิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ที่เป็นนักเรียน วตท. รุ่น 24 และ วปอ. รุ่น 51 ซึ่งเป็นหลักสูตร วปอ. รุ่น 51 ที่ พล.อ. อุดมเดช เป็นนักเรียนร่วมรุ่น
ซูเปอร์คอนเนกชัน6
ด้านเครือข่ายของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา หนึ่งในสมาชิก คสช. มีขนาด 12 คน โดยในฐานะนักเรียน วปอ. รุ่น 46 จะมีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นรัฐมนตรีอย่างอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ส.ว.อย่างพะจุณณ์ ตามประทีป, กิตติ วะสีนนท์, ถวิล เปลี่ยนศรี, พิศาล มาณวพัฒน์ โดยมีพะจุณณ์ ตามประทีป เป็นตัวเชื่อมโยงออกไปยังเครือข่าย ส.ว.ของหลักสูตรอื่นๆ ได้แก่ หลักสูตร วตท. รุ่นที่ 21 อย่างไตรโรจน์ ครุธเวโช, มารุต ปัชโชตะสิงห์ และชัยชาญ ช้างมงคล ซึ่งชัยชาญ ช้างมงคล จะเชื่อมโยงออกไปยังหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 52 อีกต่อหนึ่ง ได้แก่ ถาวร มณีพฤกษ์, ปรีชา จันทร์โอชา และสมชาย หาญหิรัญ
ซูเปอร์คอนเนกชัน5
ด้านเครือข่ายของ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง สมาชิก คสช. พบว่ามีขนาด 12 คน โดยทั้ง 2 เรียนหลักสูตร วปอ. รุ่น 48 ก่อนจะเชื่อมโยงไปยังหลักสูตร บยส. รุ่น 15 ผ่านธวัชชัย สมุทรสาคร และหลักสูตร วปอ. รุ่น 47 ผ่านพรทิพย์ โรจนสุนันท์

สุดท้ายสำหรับเครือข่าย พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี และ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมาชิก คสช. มีขนาด 7 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน วตท. รุ่น 5 รวมไปถึงสมาชิก คสช.ทั้ง 2 คน โดย พล.ต.อ. อดุลย์ ยังเป็นนักเรียน วปอ. รุ่น 42 ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงมนัส รูปขจร และด้านศุภชัย สมเจริญ ในฐานะนักเรียน วตท. รุ่น 5 ยังเชื่อมโยงไปยังอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านหลักสูตร วปอ. รุ่น 45


You must be logged in to post a comment Login