วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

สันโดษได้ แต่ต้องไม่ทิ้งโลก

On June 12, 2019

คอลัมน์ สันติธรรม
สันโดษได้ แต่ต้องไม่ทิ้งโลก
โดย บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 14-21 มิถุนายน 2562)

ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิต ตราบนั้นแสดงว่ามนุษย์ยังมีวิญญาณอยู่ในตัว ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาความนิรันดร เพราะวิญญาณมนุษย์เคยอยู่ในโลกนิรันดรมาก่อน แต่เพราะมนุษย์หลงใหลวัตถุและยึดติดอยู่กับมัน วิญญาณมนุษย์จึงไม่สามารถหลุดพ้นโลกวัตถุที่ก่อกิเลสไม่รู้จบ

ด้วยเหตุนี้ในอดีตที่ผ่านมาโลกจึงมีมนุษย์บางกลุ่มพยายามจะหาทางหลุดจากโลกวัตถุให้ได้ โดยใช้ชีวิตสันโดษในรูปของนักพรตหรือฤาษีชีไพรที่ปฏิเสธความต้องการใดๆแม้แต่เสื้อผ้าห่อหุ้มตัว การปฏิบัติตัวของคนกลุ่มนี้ทำให้มีผู้คนเลื่อมใสเคารพนับถือ และฤาษีหลายคนได้กลายเป็นเจ้าลัทธิ

อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตที่ปฏิเสธโลกวัตถุมิใช่แนวทางของศาสนา เพราะศาสนาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอนให้มนุษย์ใช้ชีวิตโดยตอบสนองความต้องการของร่างกายและวิญญาณอย่างสมดุลเพื่อทำให้ชีวิตสมบูรณ์
itikaf_nedir
เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของนบีหรือศาสดาผู้นำศาสนามาสั่งสอน เราจะไม่พบว่านบีคนใดดำรงตนเป็นนักพรตหรือฤาษี คัมภีร์กุรอานได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่า

“เรา (พระเจ้า) ได้ส่งบรรดาศาสนทูตของเรามาคนแล้วคนเล่า และตามมาด้วยเยซัส บุตรของมารีย์ เราได้ประทานคัมภีร์แก่เขา และเราได้ทำให้ความสงสารและความเมตตาเกิดขึ้นในหัวใจของบรรดาผู้ปฏิบัติตามเขา แต่เรามิได้กำหนดเรื่องการเป็นนักบวชถือสันโดษแก่พวกเขา พวกเขาอุตริคิดกันขึ้นมาเองเพื่อที่จะแสวงหาความโปรดปรานของพระเจ้า แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมันอย่างที่มันควรจะต้องได้รับการปฏิบัติตาม” (กุรอาน 57.27)
ข้อความดังกล่าวข้างต้นกล่าวไว้ชัดเจนว่าพระเจ้าไม่ได้กำหนดเรื่องการเป็นนักบวชถือสันโดษแก่บ่าวของพระองค์ แต่มนุษย์คิดกันขึ้นมาเอง โดยคิดว่าการละทิ้งโลก ทิ้งครอบครัว จะเป็นหนทางที่ทำให้วิญญาณกลับไปหาพระเจ้าได้

หลังสมัยพระเยซูประมาณ 200 ปี มีความคิดว่าการดำรงชีวิตเป็นโสดดีกว่าการแต่งงาน และการไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกเป็นอุดมคติทางศีลธรรม ความคิดนี้ได้แพร่ไปจนการครองตนเป็นโสดเป็นที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับความเจริญทางวัตถุของอาณาจักรไบแซนตินทำให้ศีลธรรมตกต่ำเสื่อมทราม ผู้คนที่ใฝ่ศีลธรรมจึงหาทางปลีกตัวออกจากสังคมที่ฟอนเฟะมากขึ้น

มาถึงสมัยของนบีมุฮัมมัด มีสาวกของท่านบางคนหาทางจะบรรลุธรรมและความหลุดพ้นด้วยการละหมาดทั้งคืน อีกคนหนึ่งกล่าวว่าจะถือศีลอดต่อเนื่องกันโดยไม่พัก อีกคนหนึ่งกล่าวว่าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงหรือแต่งงาน

เมื่อนบีมุฮัมมัดได้ยินเช่นนั้นท่านจึงได้เตือนสาวกของท่านมิให้ทำเช่นนั้น เพราะตัวท่านเองเป็นผู้มีความผูกพันกับพระเจ้ามากที่สุด แต่ถึงกระนั้นท่านก็ถือศีลอดและละศีลอด ท่านละหมาดเพิ่มเติมในตอนกลางคืนหลังจากนอนพักผ่อนแล้ว และท่านแต่งงานมีครอบครัว หลังจากนั้นท่านได้บอกสาวกของท่านว่า “ใครที่ไม่ปฏิบัติตามฉันก็ไม่ใช่คนของฉัน”

อย่างไรก็ตาม อิสลามได้เตรียมวิธีการไว้สำหรับตอบสนองมุสลิมบางคนที่ต้องการความหลุดพ้นจากโลกวัตถุเป็นบางเวลา แต่มิใช่ตลอดเวลา วิธีการนี้เรียกว่า “เอี๊ยะติก๊าฟ” ซึ่งไม่บังคับให้ทุกคนทำ

“เอี๊ยะติก๊าฟ” คือการปลีกตัวเองออกจากครอบครัวไปอยู่ในมัสยิดตามลำพังในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ในช่วงเวลานี้ผู้ปลีกตัวจะไม่ออกไปจากบริเวณของมัสยิด ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องไปห้องน้ำหรือกินอาหารที่ยังคงอยู่ในอาณาบริเวณของมัสยิด

สิ่งที่ผู้ปลีกวิเวกปฏิบัติในระหว่างการเอี๊ยะติก๊าฟก็คือ การละหมาดเพิ่มเติม การนั่งสงบจิตสงบใจ การกล่าวคำรำลึกถึงพระเจ้า การอ่านหรือการศึกษาคัมภีร์กุรอาน เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่าการเอี๊ยะติก๊าฟเป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการฝึกจิตวิญญาณให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าการถือศีลอดที่อดแต่เฉพาะข้าวและน้ำเท่านั้น เพราะการเอี๊ยะติก๊าฟคือการทำใจให้หลุดพ้นจากการยึดติดกับครอบครัวและการงานที่เคยทำเป็นประจำมาตลอดทั้งปี


You must be logged in to post a comment Login