วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ชัดๆเลยนะครับ ถุยส์!

On June 6, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 7-14 มิถุนายน 2562 )

ไม่มีอะไรพลิกสำหรับการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนมาเพื่อการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ไม่ได้เขียนเพื่อเป็นระบอบประชาธิปไตยของประชาชนและเพื่อประชาชน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ใช้เสียงจาก 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์เองมาโหวต ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ชนะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเสียง 500 คะแนน ต่อ 244 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน จากองค์ประชุม 747 คะแนน

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องได้เสียงของที่ประชุมรัฐสภาอย่างน้อย 376 เสียง จึงอยู่ที่ 250 ส.ว. ที่ถูกเปรียบเหมือน “สภาหุ่นยนต์” ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถอ้างความชอบธรรมในฐานะรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ขณะที่ 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. มี ส.ส. 246 เสียง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเสียงที่ชนะในรัฐสภา 500 ต่อ 244 เสียง โดยย้ำว่า “คะแนนเสียงที่มากกว่านั้นได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วค่อยรวมกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเป็น 500 คะแนน ซึ่งก็เป็นไปตามกติกาเดิม”

ขณะที่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเพจเฟซบุ๊ค เพจข่าว เพจวาไรตี้หลายแห่ง ได้จัดทำโพลคู่ชิงนายกรัฐมนตรีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับนายธนาธร แม้ผลการโหวตต้องการให้นายธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า 90% แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นไปไม่ได้เลยตราบใดที่ยังให้ 250 ส.ว.ลากตั้งร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี

THE STANDARD ได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (5 มิถุนายน) ในหัวข้อ “อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมโหวตเกือบ 50,000 คน โดยส่วนใหญ่โหวตให้นายธนาธรประมาณ 47,994 คน คิดเป็น 97% เพราะอยากได้นายกรัฐมนตรีเป็นคนยุคใหม่ ซึ่งมีบุคลิกและการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำสูงและมีความเพียบพร้อมในการบริหารบ้านเมืองในเวลานี้

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ได้แค่ 1,642 คน คิดเป็น 3% เพราะเห็นว่าเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจไปในทางที่ดีขึ้นได้

ถล่ม “ลุงตู่” ทั้งวัน

ขณะที่การอภิปรายก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (4) (5) และ (6) ที่จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ และต้องไม่เป็นพนักงานของรัฐอื่น ซึ่งยังไม่มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์รับเงินเดือนประจำจากภาษีประชาชนในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการกระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติเพราะการยึดประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกบฏล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วยังเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือการสืบทอดอำนาจ ที่ผ่านมาเกือบ 5 ปียังลุแก่อำนาจใช้มาตรา 44 คุกคามสิทธิเสรีภาพและสร้างความเสียหายด้านต่างๆมากมาย

หนึ่งเสียงภูมิใจไทยงดออกเสียง

ที่สร้างเสียงฮือฮาในการโหวตคือ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย งดออกเสียงสวนมติของพรรคและนั่งร้องไห้ในที่ประชุมหลังออกเสียง ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบเพียงสั้นๆว่า คิดว่าเป็นความสวยงาม ถือว่าเราไม่ได้บีบบังคับใคร ทุกคนสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองได้

ที่น่าสังเกตคือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครอภิปรายเลย ซึ่งทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องควบคุมเสียงในสภามากยิ่งขึ้นและดูว่าการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ออกมาแถลงว่า พรรคพลังประชารัฐควรได้กระทรวงสำคัญที่ดูแลในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ริเริ่มไว้หลายโครงการ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แค่เกมต่อรองผลประโยชน์

ไม่มีใครแปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์ลงมติอย่างท่วมท้น 61 เสียงให้ร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ จากองค์ประชุมทั้งหมด 80 คน โดยมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพียง 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และบัตรเสีย 1 ใบ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค เสนอให้เป็นฝ่ายค้านอิสระเพื่อรักษาอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค

การลงมติร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ยึดถือผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ซึ่งหนึ่งใน 10 ข้ออุดมการณ์ของพรรคคือ “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคให้เหตุผลที่ร่วมรัฐบาลว่า ไม่ว่าตัดสินใจไปทางใดก็อาจมีทั้งผลบวกและผลลบ จึงต้องยึดผลประโยชน์ของชาติมากกว่าของพรรค โดยพรรคพลังประชารัฐยอมรับ 3 ข้อเสนอของพรรคคือ 1.นโยบายแก้จน สร้างคนสร้างชาติ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างสุจริต หากผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าวก็อาจทบทวนเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล

นายจุรินทร์อ้างว่า การตั้งรัฐบาลโดยเร็วเสมือนเป็นการหยุดและปิดสวิตช์อำนาจ คสช. ลงด้วย ส่วนก่อนหน้านี้ที่พูดว่า 250 ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนประชาธิปไตยวิปริตนั้น ตนยังมีความเห็นเหมือนเดิมว่าการเมืองมีทั้งประชาธิปไตยทุจริต ประชาธิปไตยสุจริต และประชาธิปไตยวิปริต การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขประชาธิปไตยวิปริต

นายจุรินทร์ยังระบุอีกว่า “พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯที่ถูกตรวจสอบได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ต้องมาสภา ต้องพร้อมถูกญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่มีสิทธิได้รับการยกเว้นใดๆ เราไม่เห็นด้วยหากนายกฯไม่มาสภา นายกฯในระบบรัฐสภาต้องมาสภา ปชป. เคยปฏิบัติอย่างนี้ในทุกครั้งที่เราเป็นนายกฯและรัฐบาล”

ส่วนตำแหน่งในรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับคือ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

“อภิสิทธิ์” ไขก๊อกไม่เอา “ลุงตู่”

นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (5 มิถุนายน) ก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อยืนยันจุดยืนทางการเมืองไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งช่วงการเลือกตั้งมีการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน หรือพฤติการณ์สรรหา ส.ว. การแทรกซึมสื่อมวลชนบางแขนง การทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบ ทัดทาน รักษาความถูกต้องตามกติกาได้ ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ตนยืนยันว่ายังมีอยู่จริง ทำให้การใช้คำว่าสืบทอดอำนาจไม่ใช่เป็นเพียงแค่วาทกรรมทางการเมือง ถ้านึกไม่ออกให้ไปอ่าน Animal Farm จะเข้าใจว่าพฤติการณ์การต่อต้านบางสิ่งบางอย่าง แต่เมื่อได้อำนาจกลับทำสิ่งเดียวกับสิ่งที่ต่อต้าน

นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ตนเหลือทางเดียวที่ต้องรักษาเกียรติภูมิของตนและของพรรคที่ต้องรักษาคำพูดและรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวไว้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าการยึดมั่นอุดมการณ์และหลักการถึงจะเดินต่อได้ สร้างประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาวได้ โดยมหาตมะ คานธี เคยเขียนจดหมายถึงหลานเรื่องบาป 7 ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ไม่ยึดหลักการ “ผมไม่สามารถทำตามนั้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.พรรคตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

“จุรินทร์” กลืนน้ำลายตัวเอง

การลาออกจาก ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์เพื่อแสดงจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์ประกาศชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล พปชร.”

การลาออกของนายอภิสิทธิ์แสดงถึงจุดยืนชัดเจน ตรงข้ามกับนายจุรินทร์ที่ “กลืนน้ำลายตัวเอง” ที่ปราศรัยตอนหาเสียงชัดเจนว่าไม่เอาประชาธิปไตยวิปริตที่มาจากการยึดอำนาจ โดยใช้คนไม่กี่คนเลือก ส.ว. 250 คน ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากประชาชน 500 คน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ที่ตัดสินใจลาออกว่า พรรคประชาธิปัตย์มีเจ้าของหรือไม่ พรรคไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ดังนั้น จะมีใครออกไปสักกี่คนจะเป็นอะไรล่ะ

ความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณมาตลอดนับตั้งแต่ให้กลุ่ม กปปส. กลับเป็นสมาชิกพรรค ขณะที่มีข่าวการพยายามยึดอำนาจพรรคมาตลอดเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการเลือกหัวหน้าพรรคทั้ง 2 ครั้ง ขณะที่ก่อนพรรคประชาธิปัตย์จะมีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. ที่สนับสนุนนายพีระพันธุ์ลงแข่งหัวหน้าพรรค ได้ประกาศว่า ส.ส.ในกลุ่ม 27-30 คนพร้อมจะเข้าร่วมรัฐบาลไม่ว่าพรรคจะมีมติเป็นอย่างไร

NEW DEM ล่มสลาย

หลังพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทันทีหลังจากทราบผลมติพรรคร่วมรัฐบาล 61 ต่อ 16 เสียง ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยให้โอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งและให้การสนับสนุนต่างๆ ทำให้มีประสบการณ์ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย “แต่เมื่อแนวทางอุดมการณ์แตกต่างกัน คงขออนุญาตที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคครับ”

ขณะที่กลุ่ม NEW DEM หลายคนได้ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ “ไอติม” โพสต์เฟซบุ๊ค (5 มิถุนายน) ว่า การตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมีทั้งคนที่เสียใจและดีใจ เพราะส่งผลกระทบต่อทิศทางของประเทศ จึงขอแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้พูดไว้กับประชาชน 3.9 ล้านเสียงที่เลือกเพราะหวังว่าเราจะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ โดยการเดินออกจากพรรค เพราะการคิดต่างที่เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติและประชาชน

นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว (4 มิถุนายน) ระบุว่า ยินดีที่ได้รู้จักและร่วมงานกันกับทุกท่าน และขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่เลือกตนในเขต 15 มีนบุรีและคันนายาว รวมถึงทุกคะแนนทั่วประเทศ “ผมขอยุติบทบาททางการเมืองไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอเป็นกำลังใจให้พรรคประชาธิปัตย์เสมอ และเชื่อในฝีมือของ ส.ส. และว่าที่ รมต. ทุกท่านว่าจะทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองได้แน่นอน”

นายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ทายาทของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “ขอขอบพระคุณประสบการณ์และมิตรภาพที่พรรคประชาธิปัตย์มอบให้ครับ ผมขอลาออกจากสมาชิกพรรคทันทีครับ”

น.ส.นัฏฐิกา โล่ห์วีระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้โอกาสเป็นผู้สมัคร ส.ส. และขอบคุณทุกคะแนนเสียงของจังหวัดชัยภูมิที่มอบให้ แต่การตัดสินใจและมติของพรรคในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐไม่ตรงกับความคิดเห็นและอุดมการณ์ส่วนตัว จึงขอยุติบทบาททางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้พรรคได้ทำงานอย่างมีเอกภาพและเข้มแข็ง และขอเป็นกำลังใจให้ ส.ส. ที่ผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชน

นายทัดชนม์ กลิ่นชำนิ หนึ่งในกลุ่ม NEW DEM โพสต์เฟซบุ๊คลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยุติการสนับสนุนทุกรูปแบบ เพราะเป็นแค่สมาชิกตัวเล็กๆ ไม่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือขัดขืนใดๆได้ จึงขอเลือกที่จะรักษาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์เอาไว้กับตัว ขอออกมาจากพรรคปลอมๆที่ไม่เหลือแก่นแท้ของประชาธิปัตย์อีกต่อไป

“เมียน้อย” ต้องยอมรับอนาคต

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้ส่งจดหมายถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร (2 มิถุนายน) เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่พรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาล ได้ให้สัมภาษณ์สื่อช่อง “นิวส์วัน” ว่า ทุกอย่างบนโลกนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะดับไปไหม มีคนที่สนับสนุนร่วมรัฐบาลพยายามชักจูงตนบอกว่าต้องร่วม ไม่อย่างนั้นพรรคดับ ซึ่งเขาเชื่ออย่างนั้นก็ต้องพิสูจน์ดู เพราะเมื่อตัดสินใจไปเป็นเมียน้อยก็ต้องยอมรับ แล้วก็คงต้องยอมรับผลที่ตามมาในอนาคต

“ประยุทธ์” ขาดคุณสมบัติ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยื่นหนังสือขอเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อภิปรายว่า เรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีมีความสำคัญมากตามมาตรา 159 และคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 160 เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อ 5 ต้องยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การยึดอำนาจมีความผิดฐานกบฏ แม้นิรโทษกรรมตัวเองโดยใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งต่างๆ โดยให้มีผลในทางกฎหมายแทนอำนาจในทางนิติบัญญัติ ซึ่งไร้ข้อจำกัดทางกฎหมายและไม่จำเป็นต้องทรงลงพระปรมาภิไธยรองรับ พล.อ.ประยุทธ์จึงมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนเเละไม่ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงยังมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นถึงความต้องการสืบทอดอำนาจ

นายปิยบุตรจึงเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจด้วยการไม่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

“ประยุทธ์” เข้าข่ายผิดจริยธรรม

นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คระบุถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า กกต. ยังไม่เคยวินิจฉัยประเด็นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (5) และ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม 2562 มาตรา 5 (1) หรือไม่อย่างชัดแจ้ง กกต. วินิจฉัยเพียงประเด็นหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐอื่น และไม่ขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ตั้งแต่การยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร แม้จะมีการนิรโทษกรรมตัวเองไม่ผิดกฎหมายอาญาฐานกบฏ แต่มีอำนาจมาตรา 44 ถึงวันที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตำแหน่ง คสช. ที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้รับโทษทางอาญาเพราะนิรโทษกรรมตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งไม่มีวันหมดอายุและจะติดตัวไปจนตาย

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (5) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะต้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม 2562 มาตรา 5 (1) คือต้องเป็นผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะเดียวกันยังล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและมีอำนาจมาตรา 44 คงอยู่แม้แต่วันที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์จึงฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 160 (5)

ตรรกะวิบัติ-จัดตั้งรัฐบาล

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ทวีตข้อความถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ พร้อมติดแฮชแท็ก #ตรรกะวิบัติ #จัดตั้งรัฐบาลว่า เลอะเทอะกันตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่เขียนกติกาเองมาจนวันขานชื่อ โกงทุกขั้นตอน ยังไม่วายขู่ว่าจะยุบสภาบ้าง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบ้าง ประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจบ้าง ถ้ามีความชอบธรรมสักนิดคงไม่ต้องทำอย่างนี้

การเมืองมาถึงจุดที่เลอะเทอะเละเทะขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะนักการเมือง พรรคการเมืองเอง หรือระบอบเผด็จการและเนติบริกรจงใจให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น? ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ชัด เผด็จการก็อยู่ยาว มีปัญหามากก็ยึดอำนาจอีก

น่าสยองประชาธิปไตยในฝัน

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว “Arthit Ourairat” (4 มิถุนายน) ว่า “ข่าวน่าสยองประชาธิปไตยในฝันยกมือทุกครั้งอย่างต่ำ 5 ล้าน” โดยก่อนหน้านี้ (2 มิถุนายน) ได้โพสต์เปรียบเทียบการตั้งนายกรัฐมนตรีปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและปี 2562 ที่หลายคนถามว่า ปี 2535 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสียงข้างมากในสภา เสียงข้างมากชัดเจน เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี 195 ต่อ 165 แต่ถูกต่อต้านว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. จึงออกมาประท้วงไม่เห็นด้วย และมีการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากที่สภาเสนออีกก็คาดว่าประชาชนจะประท้วงอีก รัฐบาลซึ่งมีทหารสนับสนุนก็จะต้องปราบปรามกวาดล้างอีก

แม้ประธานสภาซึ่งสังกัดพรรคเสียงข้างน้อยได้รับทั้งคำร้องขอ คำสั่ง คำขู่ และอามิสสินจ้างทั้งตำแหน่งและเงินทองให้เสนอชื่อตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอ แต่ไม่อาจทำตามได้ จึงจำเป็นต้องยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน

สถานการณ์ในปี 2562 มีทั้งเหมือนและแตกต่างจากปี 2535 ส่วนที่เหมือนนั้นในลักษณะที่การสืบทอดอำนาจของ คสช. มีอยู่ชัดเจน ซึ่งหากการบริหารประเทศของ คสช. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นผลดี ได้สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ปฏิรูปประเทศ และบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้ากัน ประชาชนก็อาจจะยินดีและเรียกร้องให้สืบทอดอำนาจต่อไปได้ แต่มิได้เป็นเช่นนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้งใหม่ก็แสดงชัดเจนว่าตั้งใจจะสืบทอดอำนาจตั้งแต่ต้นและไม่เป็นธรรม ประชาชนจึงไม่ยอมรับอยู่แล้ว

ในส่วนที่แตกต่างจากปี 2535 ประการสำคัญคือ พรรคต่างๆที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันกระจัดกระจาย และมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ไม่เป็นปึกแผ่นเอกภาพ แม้จะรวมตัวได้มากที่สุดก็ยังเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงในการบริหารประเทศ นำรัฐนาวาไปสู่ความเป็นปึกแผ่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ จึงใคร่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ปี 2562 นี้หนักหน่วงยิ่งกว่าปี 2535 มากนัก

“ธนาธร” แสดงวิสัยทัศน์นอกสภา

นายธนาธรในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์นอกรัฐสภาว่า พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง กล้าฝันและกล้าผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องคิดอย่างเป็นระบบและทำงานเป็นทีม ในอดีตประเทศไทยเคยผ่านวิกฤตมามากมาย และทุกครั้งที่เกิดขึ้นคนไทยมักจะร่วมแรงร่วมใจเพื่อผ่านวิกฤตมาด้วยกัน แต่ที่ทุกคนเจออยู่ตอนนี้ไม่ใช่สงครามที่มีการรบพุ่งกันด้วยอาวุธ แต่ไทยเป็นเหมือนกบที่ถูกต้มในน้ำที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวก็สาย เช่น การบริโภคและการลงทุนอ่อนตัวลง หนี้ในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น บริษัทใหญ่กำทุนไว้แต่บริษัทเล็กเป็นหนี้ ปัญหาการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ถ้าเราไม่เปลี่ยนน้ำก็จะสายไปแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้ในข้ามคืน และทำไม่ได้โดยตัวผู้นำเพียงคนเดียว เพราะปัญหามันทับถมมานาน และเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนอย่างแน่นแฟ้น ทางออกที่ชัดเจนผู้นำประเทศต้องเผชิญหน้ากับโครงสร้างและกลุ่มทุน ดังนั้น ต้องได้ผู้นำที่มีเจตนารมณ์แน่วแน่ กล้าชนกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ต้องรับฟังและยืนยันในสิทธิของผู้ที่เสียเปรียบ แต่จะใช้แค่ความรู้สึกไม่ได้ ต้องทำอย่างรอบคอบ รัดกุม และคิดอย่างเป็นระบบ ถ้าใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นจริง

นายธนาธรยืนยันว่า จะทำงานภายใต้หลักการประชาธิปไตย และจะเปลี่ยนแปลงประเทศโดยรัฐสภาที่ยึดโยงกับประชาชน มีการถ่วงดุลและตรวจสอบที่มีพระมหากษัตริย์คู่กับประชาธิปไตยอย่างมั่นคงสถาพร ทำให้ ส.ส. เป็นผู้แทนของประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนของอำนาจทุนหรืออำนาจทหาร ทำให้รัฐสภาเป็นสถานที่ถกเถียงหาทางออกปัญหาของประชาชน ไม่ใช่สถานที่ที่คนเบื่อหน่ายสิ้นศรัทธา

นายกฯลากตั้ง

การเลือกตั้งที่ถูกตั้งคำถามมากมายถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมและสูตรพิสดารการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลก็มีแต่ข่าวการต่อรองผลประโยชน์ จึงไม่แปลกที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัด อยากเห็นรัฐบาลโดยเร็ว และเบื่อหน่ายการจัดตั้งรัฐบาลที่ต่อรองผลประโยชน์

ขณะที่ “ทั่นผู้นำ” ก็เรียกร้อง (ซ้ำซาก) ให้ทุกพรรคการเมืองคำนึงถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ร่วมกันทำงานในระบบรัฐสภาเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันเดินหน้าประเทศให้ได้มากกว่าการชนะคะคานกันอย่างเดียว เพื่อให้สังคมมีความหวังและรู้สึกศรัทธาต่อระบบการเมืองไทย

แต่ฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจก็ยืนยันว่า “ทั่นผู้นำ” คือปัญหาและเป็นศูนย์กลางของปัญหา จึงเห็นว่าหาก “ทั่นผู้นำ” เสียสละเพียงคนเดียว บ้านเมืองก็จะเดินไปข้างหน้าและแก้ปัญหาไปตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ใช่วนเวียนกับการเมืองแบบเดิมๆ อำนาจแบบเดิมๆ เพราะการเป็นผู้นำในระบบรัฐสภาต้องรับฟังเสียงของประชาชน และพร้อมรับการตรวจสอบ ไม่ใช่แสดงอำนาจหรือออกอาการฉุนเฉียวอย่างที่ผ่านมา

การได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยเสียง ส.ว. ที่ตัวเองเลือกตั้งเอง จึงไม่ต่างอะไรกับ “นายกฯลากตั้ง” ซึ่งมีคำถามถึงความสง่างาม!!??

เช่นเดียวกับพรรคเก่าแก่ที่ตระบัดสัตย์อุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ฉีกสัญญาประชาคมที่มีต่อประชาชนว่าจะต่อต้านเผด็จการและการสืบทอดอำนาจ ทำให้คนรุ่นใหม่ในพรรคประกาศยุติบทบาททางการเมืองหลายคน และมีเสียงประณามมากมายจากประชาชนที่สนับสนุน

การยอมเป็นแมลงสาบเลียท็อปบู๊ตเปรียบเหมือนเป็นแค่ “เมียน้อย” ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่ยิ่งตกต่ำกว่าครั้งที่ไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเสียอีก..ถุยส์!!??


You must be logged in to post a comment Login