วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ม.รังสิตเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์

On April 23, 2019

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย และ ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ เปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ นำสื่อมวลชนดูความพร้อมการพัฒนาวิจัยสารสกัดจากกัญชาของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้รับกัญชาของกลางจาก ป.ป.ส. 40 กิโลกรัม พร้อมเตรียมโรงเรือนบนตึก อาคาร 5 ชั้นดาดฟ้า ขนาด 32 ตารางเมตร ในการปลูกกัญชา เพื่อพัฒนาสายพันธุ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นเอกชนรายแรกที่มีการปลูกกัญชา คาดว่าจะสามารถปลูกได้ 50 ต้น

นายอาทิตย์กล่าวว่า ในการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ขณะนี้จากการทดลองของนักวิจัยพบว่าสามารถสกัดสารสำคัญออกมาได้ 3 ชนิด ได้แก่ CBD, THC และ CBN ซึ่งคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดให้ประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน และเหมาะสมสำหรับการรักษาผู้ป่วยแต่ละโรค ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรังสิตจะได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และใช้ประโยชน์จากสารสำคัญเหล่านี้ในการรักษาโรคให้ตรงจุด โดยสาร THC ออกฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ขณะที่สาร CBN ซึ่งเป็นสารที่ได้จากกัญชาแห้ง ก็ให้ประสิทธิผลในการยับยั้งเซลล์มะเร็งเช่นกัน ขณะนี้กระบวนการทดลองของมหาวิทยาลัยรังสิตพบในสัตว์ทดลอง เหลือการทดลองในมนุษย์เท่านั้น ซึ่งได้มีการประสานเตรียมการทดลองในมนุษย์ใน 3 โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

ทั้งนี้ ยังได้เปิดตัว 4 ผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากกัญชาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ได้แก่ แคนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก ช่วยการนอนหลับคลายเครียด, ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ช่วยในการกลืนอาหารสำหรับผู้มีปัญหาได้รับเคมีบำบัด, น้ำมันกัญชาที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน และยาประสะกัญชา ช่วยในการเจริญอาหาร

ภญ.สุรางค์กล่าวว่า จากการศึกษาทดลองเลี้ยงเซลล์มะเร็งปอดในหนูทดลอง และมีการฉีดสาร THC และ CBN พบว่ายับยั้งเซลล์มะเร็งได้ผลเท่าเทียมกัน แสดงให้เห็นว่าสาร THC และ CBN มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งปอดในหลอดทดลองและหนูทดลองได้ โดยสาร CBN เกิดจากปฏิกิริยาที่ได้จากกัญชาแห้งเท่านั้นและพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดี โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตของคนไทยอันดับ 1 มาจากมะเร็งปอด

นายปานเทพกล่าวว่า การพัฒนากัญชาและสารสกัดจากกัญชานี้เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ในการปลูกกัญชาต่อไปในระดับเกษตรกร และยังจะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ที่พุ่งเป้ารักษาโรค โดยใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในกัญชา ทั้ง THC, CBD และ CBN ซึ่งเป็นในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็เกิดตำรับยาไทยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 10 ทำให้เกิดรสยาใหม่และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง หลังจากที่ตำรับยาแผนไทยล่าสุดเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5


You must be logged in to post a comment Login