วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

กองทัพซูดานยึดอำนาจ ‘โอมาร์ อัล-บาเชียร์’

On April 12, 2019

บีบีซีไทยรายงานว่า อาวัด อิบิน อุฟ รัฐมนตรีกลาโหมซูดาน แถลงทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลว่า กองทัพได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนาน 3 เดือน เข้ามากำกับประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง
sudan
“ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ผมขอประกาศโค่นล้มรัฐบาลและควบคุมตัวหัวหน้ารัฐบาลไว้ในที่ปลอดภัย” นายอิบิน อุฟ ระบุในแถลงการณ์

ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่า นายบาเชียร์ ถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหนนายอิบิน อุฟ ระบุว่า ประเทศเผชิญกับความทุกข์ยากจาก “การบริหารจัดการที่ย่ำแย่, การทุจริต และการไร้ความยุติธรรม” ของนายบาเชียร์ ซึ่งปกครองซูดานมาตั้งแต่ปี 1989

ซูดานเผชิญกับความวุ่นวายจากการประท้วงที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน ทำไมผู้คนจึงออกมาประท้วง และพวกเขาต้องการอะไร

การประท้วงเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
ในเดือน ธ.ค. รัฐบาลพยายามหยุดยั้งการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ที่เป็นผลมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นานต่อเนื่องหลายปี และการขาดรายได้จากน้ำมัน และมีมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง การลดลงของค่าเงินอย่างรุนแรง
การตัดลดการสนับสนุนด้านเชื้อเพลิงและอาหาร ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นหลายแห่งทางตะวันออกของประเทศ เพราะไม่พอใจต่อมาตรฐานการครองชีพ แต่ความไม่พอใจนั้นก็ได้แผ่ขยายเข้ามายังกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ภายในเวลาอันรวดเร็ว

เป้าหมายของการประท้วงคืออะไร
เริ่มแรก พวกเขาพุ่งเป้าไปที่ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ต่อมาไม่นาน ก็ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ที่อยู่ในตำแหน่งมานานเกือบ 30 ปี ออกจากตำแหน่ง และให้รัฐบาลภายใต้การนำของเขายุติการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ประท้วงซึ่งเห็นการพัฒนาของแอลจีเรีย จึงต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของตัวเองบ้าง เหตุการณ์นี้คล้ายกับช่วงที่เกิดการประท้วงในกลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศเมื่อปี 2011 โดยประชาชนในซูดานได้มีการเรียกร้องให้ตั้งรัฐบาลเพื่อการเปลี่ยนผ่านขึ้น
ใครคือผู้ประท้วง

ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ชาวซูดานทุกหมู่เหล่าออกมาประท้วงบนท้องถนน แต่องค์กรที่จัดการประท้วงคือ สมาคมวิชาชีพชาวซูดาน (Sudanese Professionals Association) ซึ่งประกอบด้วยแพทย์, เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และทนายความ

จำนวนผู้หญิงที่ออกมาประท้วงมีสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของผู้ประท้วง พวกเธอมาจากทุกช่วงวัยและภูมิหลัง พวกเธอบอกว่า พวกเธอต้องการประท้วงต่อต้านทัศนคติเหยียดเพศในสังคมมุสลิมอนุรักษ์นิยมของซูดานด้วย โดยในซูดานมีการใช้กฎหมายอิสลาม หรือ ชารีอะห์

ความไม่สงบเลวร้ายแค่ไหน

มีการปราบปรามผู้ประท้วง หลังจากเดือนธันวาคม แต่การประท้วงก็ยังดำเนินต่อไปทั้งที่ถูกห้าม ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 50 คน
ประธานาธิบดีบาเชียร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีบาเชียร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีซูดาน ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมมา ดูเหมือนว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่ง แต่เขากลับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และปลดเจ้าหน้าที่ทางการบางส่วนออก

เขากล่าวว่า ผู้ประท้วงมีความชอบธรรมที่จะไม่พอใจเขา แต่ควรจะหาคนมาทำหน้าที่แทนเขาผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือน เม.ย. 2020 โดยเขาระบุว่า จะก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงนั้น

เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
ก่อนการยึดอำนาจ มีรายงานจากหลายแหล่งระบุว่า ทหารบางส่วน สนับสนุนผู้ประท้วง มีการการประท้วงที่ด้านนอกสำนักงานใหญ่ของกองทัพในกรุงคาร์ทูม ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความพยายามในการให้ทหารช่วยกำจัดประธานาธิบดี


You must be logged in to post a comment Login