วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“Ananya Silk”หนึ่งในแบรนด์คุณภาพของ SACICT ครบวงจรสืบสาน-ต่อยอดงานหัตถศิลป์

On April 9, 2019

“Ananya Silk”หนึ่งใน 11 แบรนด์ Craft Tales โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เน้น สร้างสรรค์ ส่งเสริม อนุรักษ์ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยให้สามารถสร้างชื่อเสียงพร้อมสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันสู่สากล

“ไหมไทย”คือ หนึ่งในงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากผ้าไหมทั่วไป เพราะมีเนื้อผ้าแวววาวมันเลื่อม ฟูไม่เรียบ แต่อ่อนนุ่ม และมีน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม แม้ผ้าไหมไทยจะได้รับการยอมรับ และเป็นที่ชื่นชอบของตลาดไทยและต่างประเทศ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยาก ที่จะทำให้ช่างศิลปหัตถกรรมงานผ้าไหม ได้มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มตลาด หรือผู้ที่มีความชื่นชอบในงานไหมได้โดยตรง เนื่องจากส่วนใหญ่กลุ่มผู้ผลิต มักเป็นกลุ่มช่างหัตถกรรมที่รวมอยู่ในชุมชน ดังนั้น การได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ช่วยส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนขยายช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักดังเช่นการจัดงาน Crafts Bangkok 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นงานดีๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยมากขึ้น

2

ครูอนัญญา กล่าวถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมภายใต้แบรนด์ Ananya Silk ว่า จุดเริ่มต้นของ Ananya Silk เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านสตรีสหกรณ์หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิที่ในอดีตการทอผ้าไหม เป็นเหมือนกิจกรรมยามว่าง และสร้างอาชีพเสริมให้กับกลุ่ม โดยมีตลาดหลักคือ คนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผ้าไหมได้รับความนิยมมากขึ้น มีตลาดงานผ้าไหมที่กว้างมากขึ้นแต่ยังติดปัญหาเดิมคือ กลุ่มลูกค้าค้นหา และเข้าถึงร้านได้อย่างยากลำบาก ประกอบกับอยากให้งานผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของหนองบัวแดง สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงได้ และจดจำง่าย จึงเริ่มสร้างแบรนด์ Ananya Silk ขึ้น

จุดเด่นของผ้าไหม Ananya Silk ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาด และสร้างความดึงดูดใจให้กับกลุ่มคนรักผ้าไหม คือ กระบวนการทอผ้าไหมจากไหมพันธุ์พื้นบ้าน และตีเกลียวเอง ทำให้เกิดเป็นเส้นด้ายสลับขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ผสมผสานอย่างลงตัว เกิดเป็นลวดลายทางธรรมชาติของเส้นไหมที่ชวนมอง นอกจากนี้ยังใช้สีธรรมชาติ ให้เกิดสีในเส้นไหมถึง 3 สี คือ สีเหลือง ขาว ดำ พร้อมด้วยเนื้อผ้าที่มีคุณภาพสูง นุ่ม เป็นมันวาว เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Ananya Silk ทีโดดเด่น ไม่ซ้ำแบบใคร

3

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการสร้างแบรนด์ Ananya Silk คือ “จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงกลุ่มตลาดได้โดยตรง ให้ผู้ผลิตได้มีโอกาส พบปะ เชื่อมโยง ผู้ซื้อที่แท้จริง” ในส่วนนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของAnanya Silk เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ที่เข้ามามีส่วนช่วยผลักดัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเหนืออื่นใด คือ ช่วยเชื่อมโยงตลาด ส่งผลให้ Ananya Silk เป็นที่รู้จัก พร้อมสร้างการยอมรับในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศได้

ทั้งนี้ หากกล่าวถึงความสำเร็จของการพัฒนา อนุรักษ์ และต่อยอดงานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมภายใต้แบรนด์ Ananya Silk นับว่า ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่เพียงคนเพียงหนึ่งคนที่จะได้รับผลลัพธ์จากการส่งต่อผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด แต่ยังมีอีกกว่า 200 ชีวิตที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกในชุมชน ที่ได้รับโอกาสที่ดี มีอาชีพ มีรายได้  ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ Ananya Silk ที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างชื่อเสียงให้กับภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยสู่สากล.

4


You must be logged in to post a comment Login