วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แพทย์เตือน4กลุ่มเสี่ยงป่วยโรคฮิตฤดูร้อน

On April 8, 2019

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยด้วย 5 กลุ่มโรคที่มากับฤดูร้อน คือ 1.โรคฮีทสโตรก เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน หรือผู้ใช้แรงงานกลางแดด เป็นต้น อาการของโรคนี้ คือ อ่อนเพลีย หน้ามืด หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นลม ซึ่งในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ 2.ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน เพราะอากาศ ร้อน แล้ง แดดจ้า เสี่ยงเกิดไฟป่า โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขา จึงเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ง่าย ประกอบกับมีการเผาขยะต่างๆ และเผาไร่สวน เพื่อเตรียมที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร ดังนั้นปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือจึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังดังกล่าว 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า 3.โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิ เป็นต้น ซึ่งฤดูร้อนเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี หากได้รับเชื้อจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางรายมีอาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิต 4.โรคติดต่อที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. โรคไข้เลือดออก มียุงลายพาหะพบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยจะมีอาการ ไข้สูงฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขน ขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ 2.โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ทั้งปี แต่หน้าร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง และบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน แต่หากถูกกัด ข่วน เลีย ให้รีบไปพบแพทย์ และ5.การจมน้ำ ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กจะชวนกันไปเล่นน้ำเพื่อคลายความร้อนโดยลำพัง โดยไม่บอกผู้ปกครองให้ทราบ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิต

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมฯ ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่เตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ 2.การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.ผู้สูงอายุ 3.กลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก เป็นต้น 4.กลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ทั้งนี้หากเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติ อย่างชะล่าใจ ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะในกลุ่มเสี่ยงถ้าเจ็บป่วยแล้วมักมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


You must be logged in to post a comment Login