วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ม.อ.โพลเผยคนใต้หนุน”ธนาธร”นายกฯ-85%ไม่เลือกพรรคเดิม

On March 12, 2019

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ศูนย์บริการวิชาการ ผศ.ดร.คณน ไตรจันทร์ และ ดร.อิศรัฏฐ์ รินไธสง คณะทำงานโครงการสำรวจความคิดเห็นประเด็นเลือกตั้ง “ภาคใต้ 62” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด กระจายทุกพื้นที่ เพศ รายได้ ศาสนา และระดับการศึกษา จำนวน 1,431 กลุ่มตัวอย่าง จัดเก็บระหว่างวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2562

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่าตัวอย่างกระจายอยู่ในทุกกลุ่มจังหวัดของภาคใต้คือ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย คิดเป็นร้อยละ 36.30 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน คิดเป็นร้อยละ 35.60 และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน คิดเป็นร้อยละ 28.20 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตชนบท (องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาลตำบล) คิดเป็นร้อยละ 54.60 ส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง (เทศบาลเมือง/เทศบาลนคร) คิดเป็นร้อยละ 45.40 เพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 58.30 เพศชาย คิดเป็นร้อยละ 41.70 นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 69.70 ศาสนาอิสลาม คิดเป็นร้อยละ 29.60 ศาสนาคริสต์ คิดเป็นร้อยละ 0.60 และศาสนาอื่นๆ เช่น พราหมณ์ ฮินดู คิดเป็นร้อยละ 0.10 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างมีช่วงอายุในจำนวนที่ใกล้เคียงกันคือ อายุระหว่าง 31-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 28.50 อายุระหว่าง 41-55 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.90 ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี คิดเป็นร้อยละ 27.70 ส่วนอายุมากกว่า 55 ปี เป็นกลุ่มช่วงอายุที่น้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 13.80 ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งมีระดับการศึกษาปริญญาตรีหรือสูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 52.70 มีรายได้ระหว่าง 9,001–30,000 บาท มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 61.70 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย/รับจ้าง/ธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 40.70 รองลงมาคือ อาชีพราชการ/รัฐวิสาหกิจ คิดเป็นร้อยละ 19.80 ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น ว่างงาน ข้าราชการบำนาญ เป็นต้น เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 4.20

จากการสำรวจนโยบายหาเสียงที่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงมากที่สุด พบว่ากลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เกินกว่าครึ่งมองว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ/ปากท้อง เป็นนโยบายที่มีผลต่อการตัดสินใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.60 แต่จากการสำรวจพบข้อมูลที่สำคัญคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดเลย คิดเป็นร้อยละ 66.00 ในขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกพรรคใดนั้น พบว่าเลือกพรรคอนาคตใหม่ คิดเป็นร้อยละ 8.10 รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็นร้อยละ 7.30 และพรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 5.80 ตามลำดับ ส่วนนายกรัฐมนตรีที่คนใต้อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดในกลุ่มที่ตัดสินใจแล้วคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คิดเป็นร้อยละ 16.10 รองลงมาคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดเป็นร้อยละ 12.00 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดเป็นร้อยละ 10.30 ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 41.00 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

จากการสำรวจประเด็นการเคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. มาก่อนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 87.50 ส่วนที่ไม่เคยไป (ครั้งแรก) คิดเป็นร้อยละ 12.50 และจากคำถามที่ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 92.10 จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีเพียงร้อยละ 1.20 ที่จะไม่ไป และยังไม่ตัดสินใจ คิดเป็นร้อยละ 6.70

ประเด็นบุคคลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างว่าจะเลือกใคร/พรรคใดมากที่สุด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตัดสินใจด้วยตัวเองมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 89.60 รองลงมาคือบุคคลในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 8.20 ส่วนปัจจัยอื่นๆมีอิทธิพลเพียงส่วนน้อยเท่านั้นต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกใคร/พรรคใด อยู่ที่ร้อยละ 0.20-0.60

สำหรับเกณฑ์หรือปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจเลือก ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด พบว่าส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 55.30 พิจารณานโยบายพรรค รองลงมาคือพิจารณาคุณสมบัติตัว ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 33.70 และมีเพียงร้อยละ 1.70 ที่พิจารณาจากความผูกพันต่อตัว ส.ส. เดิม และจากคำถามที่ว่าจะเลือกพรรคการเมืองเดิมที่เคยเลือกหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่จะไม่เลือกพรรคเดิม คิดเป็นร้อยละ 84.80 แต่กลุ่มตัวอย่างที่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเดิม คิดเป็นร้อยละ 15.20


You must be logged in to post a comment Login