วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

อนุกก.ค่าจ้างเดินหน้าชงบอร์ดใหญ่ขึ้นค่าจ้าง2-10บาท

On February 26, 2019

จากกรณีที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างขั้นต่ำได้พิจารณาอัตราตัวเลขปรับค่าจ้างที่แต่ละจังหวัดเสนอ และมีมติว่าให้ปรับขึ้นทั่วประเทศ 2-10 บาท โดยมี 49 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข แต่จะมีการปรับขึ้น 2 บาทเท่ากัน ส่วนอีก 28 จังหวัด เสนอปรับ 10 บาท 4 จังหวัดคือ กทม. สมุทรปราการ ภูเก็ต และชลบุรี ปรับขึ้น 7 บาท มี 1 จังหวัดคือ สิงห์บุรี ปรับขึ้น 5 บาท อาทิ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ระยอง สมุทรสาคร นครราชสีมา ปรับขึ้น 4 บาท อาทิ นราธิวาส ชัยภูมิ ปรับขึ้น 3 บาท อาทิ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ โดย กทม. มีการเสนอปรับขึ้นสูงสุด 14 บาท แต่ถูกพิจารณาปรับลดเหลือ 10 บาทเท่ากับสมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ส่วนบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่จะมีมติตามที่เสนอหรือไม่ยังต้องรอมติที่ประชุมในระบบไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ในฐานะ 1 ในคณะอนุกรรมการวิชาการค่าจ้าง กล่าวถึงกรณีนายจ้างมีการคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตรา 2-10 บาทใน 40 จังหวัดเพราะได้รับผลกระทบว่า เรื่องนี้มีการพิจาณาอย่างรอบคอบแล้ว การให้ปรับขึ้นค่าจ้างใน 40 จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้มองแค่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แต่เรามองในภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจด้วย อย่างเชียงใหม่ได้ขึ้นค่าจ้าง แต่ลำพูนอยู่ใกล้ๆกันจะไม่ขึ้นอย่างนั้นหรือ หรือปากน้ำไม่ขึ้นค่าจ้างทั้งที่กรุงเทพฯขึ้น นนทบุรีไม่ได้ขึ้น แล้วถามว่าเวลากินข้าวแกงที่นนทบุรีราคาถูกกว่ากรุงเทพฯหรือไม่ อีกประเด็นคือการปรับขึ้นค่าจ้างจะเป็นการช่วยเกลี่ยและตรึงแรงงานอยู่ในจังหวัดต่างๆ ไม่ไปกระจุกตัวอยู่เฉพาะจังหวัดที่ได้ขึ้นค่าจ้างเท่านั้น ถ้าจังหวัดนี้ขึ้น จังหวัดนี้ไม่ขึ้น จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้างจะเอาคนที่ไหนมาทำงาน

นายพนัสกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องปรกติที่จะมีการคัดค้าน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นว่านายจ้างจะเห็นด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นต้องทบทวนอะไร และคงไม่มีการเชิญหรือส่งหนังสือชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะตนได้เสนอไปยังบอร์ดใหญ่แล้ว อยู่ที่บอร์ดใหญ่จะเป็นคนพิจารณา

ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะขอให้มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ต้องถามว่าใน 40 จังหวัดนี้เคยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างมาก่อนหรือไม่ ปีที่แล้วเขาได้ขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ จะทบทวนอะไรก็ต้องดูสภาพเศรษฐกิจ และนี่เป็นมติแล้ว จะทบทวนก็ให้เป็นการพิจารณาของบอร์ด การชักเข้าชักออกเสียเวลา ถ้าบอร์ดเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างสมเหตุสมผลก็ยืนยันไป

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าหากจะมีการทบทวนอยากให้มีการปรับขึ้นเป็น 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศมากกว่า เพราะแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยตอนนี้ค่าครองชีพไม่ได้ถูกกว่ากันเลย ขนาดแรงงานภาคเกษตรทุกวันนี้จ้างถูกก็ไม่มีใครทำ อย่างต่ำก็ 300-400 บาท เพราะงานหนัก อยู่กลางแดด


You must be logged in to post a comment Login