วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“พรเพชร”สั่งถอนร่างพ.ร.บ.ข้าวอ้างเนื้อหายังไม่ชัดเจน

On February 26, 2019

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ยอมรับว่าได้ขอเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด และ สนช. ชุดนี้จะไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกแล้ว ส่วนรัฐบาลหน้าจะหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจ กรรมาธิการได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่ายังมีเสียงคัดค้าน จะมีม็อบมาต่อต้าน สังคมไม่เข้าใจ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากัน และมีพรรคการเมืองนำประเด็นนี้ไปหาเสียงและโจมตี

“เราก็รักประเทศเหมือนกัน เมื่อมีความไม่เข้าใจ ฝ่ายหนุนให้ออกก็มีมาก ฝ่ายต้านก็มี เกรงว่าจะมีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เราจึงเสนอให้เลื่อนไปไม่มีกำหนด อยากจะทำความเข้าใจกับทั้งพี่น้องการเมืองและชาวนาว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้มีเจตนาดี ต้องการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ ไม่มีโอกาสออกกันง่ายๆ และยังคาอยู่ในสภา รัฐบาลหน้าจะหยิบมาหรือไม่ก็ได้”

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า การถอนร่างกฎหมายไม่มีใบสั่งจากนายกรัฐมนตรีหรือใคร และไม่ได้กังวลว่าพรรคการเมืองบางพรรคจะเสียคะแนน ร่างกฎหมายดังกล่าวทำเพื่อชาวนาอย่างแท้จริง มีการรับฟังความเห็นจากชาวนาอย่างรอบด้าน ดำเนินการตามกฎหมาย และมาตรา 77 และเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดสัดส่วนให้ชาวนามีโอกาสได้เข้ามานั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ตนมีเจตนาดีที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้แตะต้องหรือควบคุมเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองอย่างที่มีการเข้าใจผิด และร่างกฎหมายยังเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมด้านการตลาดให้กับชาวนาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเดิมร่าง พ.ร.บ.ข้าวบรรจุอยู่ในวาระลำดับที่ 1 ของการพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันนี้ แต่ทันทีที่เปิดการประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้หารือเลื่อนระเบียบวาระเรื่องที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศมาพิจารณาก่อน ทำให้สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามถึงความชัดเจนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวกับ พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ซึ่งได้รับคำตอบว่าประธาน สนช. ได้สั่งถอนร่างดังกล่าวออกจากวาระการประชุม เนื่องจากยังมีเนื้อหาที่ไม่ชัดเจน

การเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าววันนี้ (26 ก.พ.) เป็นท่าทีตรงข้ามจากวานนี้ (25 ก.พ) ที่กรรมาธิการยืนยันจะเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ถอนออกไป แต่ได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระใหม่ให้ชาวนาที่มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์ข้าวใหม่ ที่ได้รับการจดทะเบียนว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งชาวนาปลูกเองหรือผู้อื่นใช้เพาะปลูกโดยไม่มีการโฆษณา ให้ใช้เพาะปลูกได้โดยไม่ต้องผ่านการรับรองพันธุ์ หากพบพันธุ์ข้าวที่อาจสร้างความเสียหายต่อชาวนาหรือเศรษฐกิจของประเทศ ให้อำนาจอธิบดีกรมการข้าวโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวสั่งระงับผู้ทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้ หากผู้ทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรการลงโทษชาวนานั้น สาระของร่างที่ปรับปรุงได้ตัดออกทั้งหมด


You must be logged in to post a comment Login