วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

“ทักษิณ”กู๊ดมันเดย์Ep.7แนะ”คิดให้เป็น ตัดสินใจด้วยข้อมูล”

On February 25, 2019

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการ “กู๊ด มันเดย์ (Good Monday) กับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร” EP.7 “คิดให้เป็น ตัดสินใจด้วยข้อมูล” โดยแนะนำให้ฟังความคิดแบบ “บิล เกตส์” แบบที่ตนเองเคยนำมาใช้เปลี่ยนตัวเองและองค์กรก่อนที่จะถูกกระแสโลกบังคับให้เปลี่ยนแปลง โดยระบุว่า

การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรทั้งหลายหรือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคน ผมอยากจะย้ำว่าวิธีคิดที่สำคัญคือ ต้องคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องมีคำตอบทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือจะต้องแสวงหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ตลอดเวลานะครับ เขาเรียกว่า “need scientific answer”

สวัสดีครับพี่น้องที่เคารพรักครับ พบกันอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ผมอยากจะพูดเรื่องวิธีคิด เพราะวิธีคิดเป็นหัวใจสำคัญของเราที่จะทำให้เราก้าวหน้าหรือผิดพลาด แล้วมันไม่ได้เกิดเฉพาะตัวเรา มันจะมีผลต่อครอบครัวเราด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยอยากพูดเรื่องวิธีคิด แต่ก่อนพูดถึงวิธีคิดก็เริ่มต้นด้วยวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ถ้าวัฒนธรรมนั้นถูกต้องต่อยุคสมัย ต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้องค์กรนั้นขับเคลื่อนไปได้ดี แต่ถ้าหากว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นไม่ตรงไม่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับยุคสมัยก็ต้องเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น วัฒนธรรมขององค์กรที่ชอบเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยให้ทันต่อเทคโนโลยีก็จะไม่ตกโลก ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา บางองค์กรมีวัฒนธรรมที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ล้าหลัง ถดถอยนะครับ วัฒนธรรมองค์กรมักจะถ่ายทอดโดยคนที่เป็นผู้นำองค์กรเป็นหลัก ถ้าผู้นำองค์กรถ่ายทอดสิ่งที่ดีให้กับองค์กร สิ่งเหล่านั้นก็จะติดอยู่ อย่างสมัยผมตั้งตัวใหม่ๆ บริษัทผมชินคอร์ปตอนนั้น ตอนนี้ขายไปแล้ว แล้วก็เปลี่ยนชื่อเป็นอินทัชแล้วนะครับ ไม่เกี่ยวกับผมแล้ว แต่ว่าวัฒนธรรมที่ผมเคยทิ้งไว้ยังอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ผมชอบพาผู้บริหารไปดูนิทรรศการเพื่อจะได้เพิ่มพูนความรู้และทันสมัยในวิชาชีพของเราเอง ในสิ่งที่เราทำมาหากินเองว่างั้นเถอะ ผมจะไปดูนิทรรศการเกี่ยวกับ Telecom ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเจนีวา สิงคโปร์ ฮ่องกง เยอรมนี หรือบาร์เซโลนา ผมไปหมด เพื่ออยากจะรู้ว่าอะไรไปถึงไหนแล้ว แนวโน้มมันจะเป็นยังไง เขาจะเอาของใหม่ๆมาโชว์ ทำให้เรารู้ว่าคอนเซ็ปต์ใหม่ๆกำลังจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะไปตามเขาไหม หรือเราคิดว่าเราไม่ไป เราจะไปอีกทางหนึ่ง เราจะได้เห็นชัด อันนี้ก็เป็นวัฒนธรรมอันนึงที่เราพยายามทำไว้

อีกอันนึงเวลาผมเดินทาง ผมไปเมืองนอกกลับมาตอนเช้ามืด กลับจากยุโรปตีห้ากว่า 6 โมงเช้า ผมเข้าที่ทำงานอาบน้ำทำงานเลย ทำงานทั้งวันเลย ตอนนี้ผู้บริหารทุกคนก็เป็นอย่างนั้นครับ เพราะว่าเมื่อผมเป็นทั้งเจ้าของ เป็นทั้งผู้บริหาร ยังขยันอย่างนั้น ทุกคนก็เลยต้องขยันตาม ก็เป็นวัฒนธรรมที่ผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนก็ยังทำอย่างนั้น

วัฒนธรรมองค์กรนี่ถ้ามันไม่ดีต้องเปลี่ยนครับ ถ้าไม่เปลี่ยนมันตามไม่ทัน เหมือนที่ Jack Welch ที่เคยเป็นประธานของบริษัท GE ซึ่งตอนนั้นรุ่งเรืองมาก แต่ตอนนี้ GE เจ๊งไปหลายตัวแล้ว เหลือนิดหน่อย ตอนนั้น Jack Welch ก็สอนตลอดเวลาว่า คุณต้องเปลี่ยนก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน ถ้าเราเปลี่ยนแปลงช้าก็หมายความว่า เหมือนกับคลื่นมันมาแล้ว เรายังไม่เตรียมตัวที่จะว่ายไป ตามคลื่นให้ได้ คลื่นมันก็พัดเราตกทะเลจมน้ำไปนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลง เราสามารถรู้ว่าจะเปลี่ยนยังไง เราวางแผนการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเราไม่ทันได้เปลี่ยน แต่เหตุการณ์มันบังคับให้เราเปลี่ยน ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปี 1997 ต้นต้มยำกุ้งเรานี่แหละ คือเราไม่ยอมปรับค่าเงินให้มันเป็นความเป็นจริง เรายืนค่าเงินแข็งอยู่ ผลสุดท้ายถูกโจมตี พังเลยตอนนั้น เป็นหนี้เป็นสินต้องไปกู้หนี้ IMF มาเป็นหลายแสนล้านบาท นั่นคือสิ่งที่เขาเรียกว่าต้องเปลี่ยนก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยน ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนก็ถูกเขากระแทกต้องเปลี่ยนเนี่ยพังเลย นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่านักธุรกิจทุกคนที่ตั้งบริษัทใหม่ๆขึ้นมาต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมที่ถูกต้อง วัฒนธรรมที่ถูกต้องก็คือวัฒนธรรมของการใฝ่รู้นะครับ ขยันที่จะเรียนรู้ แล้วก็ปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา แล้วก็ต้องให้ทุกคนมีความสามัคคีปรองดองกัน ช่วยกันทำงานเป็นทีมให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่บริษัทยังเล็กๆ ถ้าบริษัทใหญ่แล้วมันแก้ยาก ต้องพยายามเริ่มสร้างโดยเฉพาะเถ้าแก่ใหม่ทั้งหลาย ต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมที่ดีไว้ เพราะว่าลูกน้องจะได้เลียนแบบ ทำตาม แล้วก็จะกลายเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่ดีงามและพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลานะครับ

การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรทั้งหลาย หรือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคน ผมอยากจะย้ำว่าวิธีคิดที่สำคัญคือ ต้องคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องมีคำตอบทางวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือจะต้องแสวงหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ตลอดเวลานะครับ เขาเรียกว่าเรา need scientific answer การแสวงหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์เกิดจากอะไรบ้าง 1.เกิดจากการที่เราอ่านตำราที่ถูกต้อง แล้วก็ดูผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เราทำ หรือทำวิจัยซะเองเลย อย่างตอนนั้นผมลงทุนทำธุรกิจ มีคนมาเสนอผม ธุรกิจผมอันนี้ดีมากนะครับมาลงทุนเถอะครับ ผมสงสัยไม่แน่ใจ ผมยอมเสียตังค์ล้านห้าแสนบาทไปจ้างทำ Research เลยว่าถ้าธุรกิจเป็นอย่างนี้ สินค้าเป็นอย่างนี้ มีประชาชนสนใจจะซื้อไหม แล้วกำลังซื้อในราคาขนาดนี้เป็นเท่าไร ก็จ้างบริษัทมืออาชีพทำ หมดไปล้านห้า ล้านห้านี้ผมอาจจะทิ้งน้ำเลยก็ได้ถ้าผมไม่ลงทุน แต่ถ้าผมลงทุน ผมมั่นใจได้เลยว่ามันไปได้ มันกำไร ไม่ขาดทุนแน่นอน เพราะฉะนั้นผมก็ยอมจ่ายล้านห้าไป แล้วผลสุดท้ายออกมามันดีเกินคาด ผมก็เลยลงทุน นี่คือหลัก วิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่าไปคิดว่าชอบหรือไม่ชอบไม่ได้เลยนะครับ เดี๋ยวผมจะปิดท้ายว่าถ้าบอกชอบไม่ชอบแล้วมันมีผลยังไงนะครับ

เรื่องการพิสูจน์ความจริงมันมีตั้งแต่สมัยโบราณหลายร้อยปีพันปีแล้ว สมัยนักปราชญ์สมัยโบราณเขาก็บอกว่า อย่างสมมุติแม้กระทั่งว่าเราจะกล่าวหาใครผิดไม่ผิดทางอาญา เขาใช้คำว่า Proof Beyond a Reasonable Doubt หมายถึงว่าต้องพิสูจน์จนสิ้นกระแสความนั้น จนสิ้นสุด คือไม่มีความสงสัยแล้ว หมดความสงสัยแล้ว ถึงจะมาพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิดนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ยังไม่ตัดสินใจ นั่นคือสิ่งที่สมัยโบราณยังไม่มีวิทยาศาสตร์ แต่วันนี้วิทยาศาสตร์ชัดเจน ทำวิจัยก็ดีอะไรก็ดี เขาก็บอกว่าขอให้พิสูจน์แบบชนิดที่สิ้นกระแสความ หรือว่าเราจะเอาวิทยาศาสตร์มาตอบก็ตอบให้ชัดเจนว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ ตอนสมัยผมทำการเมืองก็เหมือนกัน ผมทำโพลทุกรอบ เพราะฉะนั้นผมจะไม่เดาว่า…ถ้าเราไปถึงนี่คนก็จะเชียร์ๆๆ เราก็นึกว่าดีหรือเปล่า เราไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆก็ต้องทำโพลหรือทำวิจัยนะครับ อันนี้คือหลักที่ผมคิดมาตลอดว่าทุกอย่างต้องเป็นคำตอบทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นนะครับ

อย่างแม้กระทั่งบิล เกตส์ เศรษฐีใหญ่เขายังชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมคิดว่าเขาเป็นต้นแบบอันหนึ่งที่ผมชอบในการเอาวิธีคิดของเขา เขามีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเขียนเองนะครับ Business@the Speed of Thought เป็นหนังสือเก่า คือเขาบอกว่ามันต้องมีระบบเครือข่ายทางดิจิตอลเพื่อให้คนในองค์กรได้ใส่ข้อมูล ในสมัยก่อนยังไม่มี Cloud Computing นะครับ เขาก็ใช้วิธีการเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ ทุกบริษัทเขาก็แนะนำว่าต้องมีระบบเครือข่ายทางดิจิตอลเพื่อให้ผู้ที่ทำงานสามารถสื่อสารข้อมูลถึงกันได้ แล้วก็ล้วงข้อมูลกลางของบริษัทในการตัดสินใจได้ เพื่อจะทำให้เราตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว คือด้วยความเร็ว คือคิดได้ปุ๊บก็กดปั๊บ ตัดสินใจได้ปั๊บเลย เพราะว่ามันมีข้อมูลพร้อม เพราะฉะนั้นการตัดสินใจทุกอย่างก็ต้องอาศัยระบบข้อมูลที่มีจำนวนถูกต้องมากพอและรวดเร็ว นี่คือวิธีที่เขาสอน แล้วบิล เกตส์ ก็แนะนำหนังสือ 30 กว่าเล่ม แต่มีเล่มหนึ่งนะครับเป็นเล่มที่เขียนโดย Daniel Kahneman เป็นคนที่ได้รับรางวัลโนเบล หนังสือเก่านะครับ 2011 แต่ว่า Nobel Prize สาขาเศรษฐศาสตร์ เขาก็พูดถึงเรื่อง Thinking fast and slow หนังสือชื่อ Thinking fast and slow คือเขาจะบอกวิธีคิดแนวคิดว่า เวลาคิดเร็วเป็นยังไง คิดช้าเป็นยังไง และคิดโดยไม่มีอคติ คิดโดยวิเคราะห์วิจัยเป็นยังไง ก็เพื่อจะให้จิตวิทยาในการหัดคิดของคนนะครับ

อีกคนหนึ่งที่เขียนหนังสือในเรื่องความคิด ก็มีคนแก่คนหนึ่งเคยเจอผมตอนผมเป็นนายกฯ Dr.Edward de Bono เขียนหนังสือเกี่ยวกับความคิดทั้งนั้นเลย หนังสือเล่มแรกๆของเขาคือ Teach Yourself to Think คือสอนตัวเองให้หัดคิด คือบางทีเราไม่คิดไง เราอยู่กับเรื่องง่ายๆ เพราะฉะนั้นบางทีบางครั้งการเรียนรู้วิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญ แม้กระทั่งอีกเล่มหนึ่งเขาเขียนหนังสือเรื่อง Six Thinking Hats ก็คือว่า สมมุติว่าเราใส่หมวกสีฟ้าบ้าง สีขาวบ้าง สีแดงบ้าง สีดำบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง เพื่อเตือนให้รู้ว่า direction เราคิดยังไง สมมุติว่าคิดเป็น creative ก็สมมุติใส่สีเขียว บังคับให้เราคิดในเชิงสร้างสรรค์อย่างเดียว ใส่หมวกสีเหลืองก็ลองคิดว่ามองโลกในแง่ดีอย่างเดียว ใส่หมวกนี้ให้คิดในแง่ร้ายไว้ก่อน เราจะได้รู้ว่าคำตอบจริงๆคืออะไร ถ้าคิดทุกอย่างออกมาในแง่ร้าย ในแง่ดี คิดในเชิงสร้างสรรค์ หรือว่าคิดในเชิงที่มีข้อมูล คิดในเชิงที่เป็นอารมณ์ อะไรพวกนี้ เขาก็จะสอนวิธีคิด พวกนี้มันเล็กๆน้อยๆ มันทำให้เราได้พัฒนาวิธีคิดของเรานะครับ

สมัยผมเป็นนายกฯผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Blink ที่เขียนโดย Malcolm Gladwell นานแล้ว หนังสือเก่าแล้ว Blink บอกว่าคิดโดยไม่ต้องคิด Blink แปลว่า กะพริบตา คิดโดยไม่ต้องคิด คือว่ามีอะไรเข้ามาตัดสินใจได้ทันที แต่สิ่งเหล่านี้เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ข้อมูล ความผิดถูก ล้มเหลว ความสำเร็จมานาน จนสามารถคิดอย่างนั้นได้ เช่นว่า คนที่จัดงานแต่งงานพวก Wedding planner ทั้งหลาย เขาเห็นคู่บ่าวสาวมาร่วมงานกับเขา เช่นว่ามาเตรียมถ่ายพรีเวดดิ้งบ้าง ถ่ายรูปบ้าง มาเตรียมมาปรึกษาเรื่องงานตรงนั้นตรงนี้บ้าง เขาสามารถเดาได้เลยว่าคู่นี้จะไปรอดหรือไม่รอด เพราะประสบการณ์ที่เขาเห็นมาเยอะ เห็นมาแล้วว่ามาถึงก็ทะเลาะกันท่าจะไปไม่รอด อะไรทำนองนี้ หรือไม่ก็นักเล่นของเก่า ไปเห็นของเก่าติดราคาหลายร้อยล้านบาท แต่เขาเห็นปั๊บเขาบอกอันนี้ปลอม เขาบอกอย่างนั้นได้ยังไง ก็แสดงว่าต้องสั่งสมประสบการณ์และความรู้มาเยอะ เหมือนกับอดีตนายกฯของสิงคโปร์ชื่อลีกวนยู ท่านอายุมากกว่าผม ท่านมาเยี่ยมผมตอนผมเป็นนายกฯ ผมถามท่านว่าทำไมท่านอายุเยอะแล้วท่านยังคมมาก ความรู้ยังแน่นอยู่เลย ท่านอ่านหนังสือเยอะเหรอ ท่านบอกว่าหนังสืออ่านไม่ไหวหรอกมันเยอะ ท่านก็อาศัยว่าพูดคุยกับคน หนังสือนี่อ่านอยู่ แต่พูดคุยกับคน คนแต่ละคนที่มาหาเรานี่เขามีประสบการณ์ในชีวิต ลองผิดลองถูกกับชีวิตเขามาเป็นสิบๆปี เพราะฉะนั้นเวลาเขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเราทำให้เราเรียนรู้ได้ บางมุมเราอาจจะมองไม่เห็น เขามองเห็น เช่นว่าเรามองว่าสถานการณ์บ้านเมืองของโลกตอนนี้เป็นอย่างนี้ ท่านมองยังไง เขาก็วิเคราะห์ในมุมของเขา เราก็จะได้เข้าใจว่า เอ้อ..บางมุมเราไม่มีนะครับ สิ่งเหล่านี้มันเกิดประโยชน์

เราไปดูสิ่งที่มันเป็นสารคดี เป็นเรื่องนิยายที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเอาอนาคตมาเล่าให้ฟัง และสิ่งเหล่านี้มันเป็นจริง ในอีก 10 ปีต่อมาก็เป็นจริงไปเรื่อยๆ อย่างนี้น่าจะได้ประโยชน์กว่านะครับ

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวิธีคิดหรือการพัฒนาวิธีคิดของคนไทยเราสำคัญ เพราะไม่งั้นจะเสียเปรียบนะครับ ถ้าคนไทยเราคิดเป็น เพราะระบบการเรียนการสอนเราสอนให้ท่องจำมานานเกินไป สุดท้ายมันไม่สร้างวิธีคิดให้กับเรา เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าอยากจะให้ลูกหลานเก่งในอนาคตข้างหน้า หรือลูกหลานปัจจุบันนี่มันไม่สายเกินไปหรอกครับ อ่านหนังสือ มีเหตุมีผลกับวิทยาศาสตร์ แล้วเราจะได้เชื่อในสิ่งที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชื่อเพราะเขาบอกมา เหมือนที่พระพุทธเจ้า ปิดท้ายพระพุทธเจ้าบอกว่า กาลามสูตร 10 นะครับ กาลามสูตร 10 ของพระพุทธเจ้า ท่านสอนไว้ว่า อย่าเชื่อเพราะว่าคนที่พูดเป็นครูบาอาจารย์เรา คือฟังได้ทุกคน แต่อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าเราได้คำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลถึงค่อยเชื่อ อย่างนั้นเราจะได้ฝึกวิธีคิดเรา

ปิดท้ายด้วยคำสอนของท่านพุทธทาส ท่านบอกว่า โลภ โกรธ หลง ทำให้เป็นม่านบังตา หรือทำให้โง่ ก็คือว่าถ้าเมื่อไรเราต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความโลภ ความโกรธ และความหลง มันจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เพราะมันเป็นม่านบังตาให้เราขาดความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นขอให้คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วเราจะได้คำตอบที่ถูกต้อง เป็นทางเดินของชีวิตเราที่ถูกต้อง เราคิดถูก เราสำเร็จ แล้วคนรอบตัวเราก็จะมีความสุขและสำเร็จไปด้วย ถ้าเราคิดผิดคนรอบตัวเราก็จะทุกข์และก็ลำบากไปด้วยครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ แล้วพบกันใหม่ครับ


You must be logged in to post a comment Login