วันพฤหัสที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ศาลนัดไต่สวนโจทก์คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรปากแรก3มิ.ย.

On February 15, 2019

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะทั้ง 9 คนนัดตรวจพยานหลักฐานคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 และหมายเลขดำ อม.อม.102/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 61 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 และแกนนำพรรคเพื่อไทย, นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 55 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และพวกรวม 14 คน เป็นจำเลย ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91

วันนี้นายวัฒนา, นายอริสมันต์ กับจำเลยอื่นที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ส่วนเสี่ยเปี๋ยงกับลูกน้อง จำเลยที่ 4-5 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวจากเรือนจำมาศาล ขณะที่จำเลยที่ 6, 7, 11 และ 12 ไม่มาศาล ศาลได้ออกหมายจับไว้ก่อนหน้านี้เป็นเวลาครบ 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลได้ จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (วิ อม.) มาตรา 28 ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

ก่อนหน้านี้ที่โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันตรวจบัญชีพยานหลักฐานตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา จำเลยได้นำเสนอบัญชีพยานขึ้นไต่สวนรวมทั้งสิ้น 57 ปาก ซึ่งคดีนี้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร ควรมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมมาเป็นพยานด้วย จึงให้หมายเรียกนายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ มาเป็นพยานของศาล เห็นควรอนุญาตให้นำพยานขึ้นไต่สวนทั้งหมด 82 ปาก ส่วนพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตามหมายเรียกของศาล หากจำเลยประสงค์ที่จะนำผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายตนเองมาไต่สวนด้วย ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ โดยกำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์วันที่ 3, 10 มิ.ย. 8,12, 15, 19 ก.ค. และ 5, 16, 19, 26 ส.ค. รวม 10 นัด และกำหนดไต่สวนพยานจำเลยวันที่ 4, 13, 20, 27 ก.ย. รวม 4 นัด ทั้งนี้ กรณีที่นายวัฒนา จำเลยที่ 1 ขอศาลแถลงเปิดคดีด้วยวาจา ศาลให้นายวัฒนายื่นคำร้องต่อศาล โดยศาลจะมีคำสั่งในวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการซึ่งรับมอบอำนาจจากอัยการสูงสุด โจทก์ ได้ยื่นเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับมาตรการร้องขอให้ริบทรัพย์สินหรือการใช้เงิน หรือทรัพย์สินอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการยื่นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 83 ประกอบ พ.ร.บ.วิ อม. มาตรา 42, 43 โดยศาลก็ได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดยื่นคำให้การในประเด็นดังกล่าวต่อศาลภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 12 ก.พ.

ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณา นายวัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลนัดไต่สวนพยานในเดือน มิ.ย.นี้ ว่า เป็นเรื่องที่ดี จะได้มีโอกาสหาเสียงก่อน คดีนี้ศาลให้ไต่สวนพยานจำเลยเพียง 4 นัด ตนก็ไม่มั่นใจว่าจะไต่สวนได้ทันหรือไม่ เพราะพยานของตนก็มี 10 กว่าคน แต่ตนก็จะพยายามทำให้เต็มที่เพื่อให้เสร็จทัน ทั้งนี้ วันนี้ตนก็ได้ขออนุญาตศาลแถลงเปิดคดีด้วยวาจา เพื่อทำความเข้าใจให้เห็นภาพความเป็นมาอย่างไร เพราะคดีนี้ประเด็นคือ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติลงมากระทำผิดเลย ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติโครงการไม่มีใครขาดทุน ทุกคนทำถูกต้องตามระเบียบ คณะกรรมการการเคหะฯ ทั้ง 10 คน ถูกแจ้งข้อหาเพียงคนเดียว และผู้ประกอบการที่ถูกอ้างว่ามีการจ่ายสินบน 11 ราย แต่เอามาฟ้องแค่ 3 ราย อีก 8 รายไม่ฟ้อง ก็ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด และเรื่องนี้ทางการเคหะฯ และราชการ ไม่มีใครได้รับความเสียหาย ทุกอย่างประสบความสำเร็จหมด ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนไม่มีใครทำผิด ตรงนี้คือข้อเท็จจริง ตนจึงต้องขอศาลแถลงด้วยวาจา เพื่อให้ได้เห็นภาพว่าคดีนี้มันมีอะไรที่เป็นพิรุธบ้าง มีที่ไหนคดีที่ปกติธรรมดา ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวน 12 ปี แล้วก็มาถึงศาลในช่วงที่ตนทะเลาะกับ คสช. ที่ผ่านมาก็เห็นว่าตนนั้นโดนอะไรมาบ้าง ทุกวันนี้หายใจแรงยังผิดเลย

นายวัฒนา กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องนี้ยังมีความพิสดารที่สุดอีก คือว่าการส่งสำนวนมาศาลของ ป.ป.ช. จะต้องมีแถลงและอยู่ในเว็บไซต์ แต่คดีนี้ปิดเงียบไม่ให้ใครรู้ จนวันหนึ่งมีนักข่าวเข้าไปถามเจ้าของสำนวน มีการแจ้งนักข่าวคนนั้นว่าถ้าหากมีการเผยแพร่ข้อมูลให้รู้ เดี๋ยวเกิดจำเลยมาขอความเป็นธรรมก็จะทำให้ส่งสำนวนไม่ได้ ตรงนี้แปลว่า ป.ป.ช. กลัวการร้องขอความเป็นธรรมอย่างนั้นหรือ จึงแอบส่งสำนวนมา คดีที่ควรจะเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ทำไมถึงต้องใช้เวลาขนาดนั้นถึงจะมาศาล และที่มาศาลได้ก็เพราะว่าเป็น ป.ป.ช. ที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่มันจะได้จบสิ้น คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายของ คตส. ซึ่งขณะนั้นในการไต่สวนพยานของ คตส. มีการข่มขู่พยานถึงขนาดที่ว่าใครให้การไม่เป็นประโยชน์ก็จะโดนเอาเข้าคุก เรื่องนี้มีหลักฐานทั้งหมด เพราะฉะนั้นคดีนี้ตนจึงจำเป็นต้องแถลงให้เห็นภาพ อย่างเรื่องที่นายแก้วสรร อติโพธิ ซึ่งเป็นประธานกรรมการไต่สวนตน พอไต่สวนเสร็จก็ไปสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องนี้อเมซิ่งมาก
ถามว่าหากชนะคดีนี้จะฟ้องกลับ ป.ป.ช. หรือไม่ นายวัฒนา กล่าวว่า ตนยังไม่มีเวลาคิดเรื่องนั้น เนื่องจากขณะนี้ ป.ป.ช. มีกฎหมายคุ้มครองจนใครไม่สามารถแตะต้องได้ การที่จะฟ้องได้จะต้องได้เสียงในสภา 1 ใน 5 หรือประชาชนเข้าชื่อ 2 หมื่นชื่อ ตรงนี้ถือเป็นจุดบกพร่องของกฎหมายที่ทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ เรื่องนี้ควรจะต้องนำไปสู่การแก้ไข เพื่อให้องค์กรอิสระมีความรับผิดชอบมากขึ้น หลายๆ เรื่องมันออกมาค้านกับสายตาประชาชน อยากฝากไปถาม ป.ป.ช.ว่าหานาฬิกาเจอหรือยัง เรื่องง่ายขนาดนั้นยังหาไม่เจอ ชาวบ้านเขาเจอตั้งนานแล้ว

“ผมเห็นว่าวันนี้ความยุติธรรมมันไม่ได้อยู่ข้างผม ผมหายใจยังผิด ผมแถลงข่าวที่พรรคผมยังเป็นภัยต่อความมั่นคง เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว เรื่องอะไรก็เกิดขึ้นได้ หากวันที่อำนาจกลับคืนมาเป็นของประชาชน ผมก็คิดว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เราต้องรอให้อำนาจกลับมาเป็นของประชาชน วันที่ 24 มี.ค. นี้ ผมขอให้ประชาชนไปใช้สิทธิเยอะๆ”นายวัฒนากล่าว

ส่วนเรื่องที่อัยการยื่นคำร้องเพิ่มตามมาตรการริบทรัพย์นั้น นายวัฒนา กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในคดีอาญามีความเสียหาย 2 ประเภท ประเภทแรกถ้าเราก่อความเสียหายให้เกิดขึ้น จะมี พ.ร.บ.เจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่ทำละเมิดเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่คดีนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมันไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น แต่มันมีเรื่องหากว่ามีการกล่าวหาความผิดตามมาตรา 157 ก็ให้ริบทรัพย์เป็นของแผ่นดิน จึงเป็นที่มาของการร้อง แต่หากว่าศาลพิพากษาว่าตนไม่ผิด ก็จะไม่มีเรื่องการยึดทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าศาลพิพากษาว่าตนผิด ก็ไม่สนใจยังไงก็ติดคุกอยู่แล้ว ไม่ต้องไปดูอีกว่าจะยึดทรัพย์หรือไม่ ตนอยากขอว่าหากศาลอนุญาตก็ให้มาฟังการแถลงเปิดสำนวนในคดีนี้ จะเห็นข้อเท็จจริงในคดี


You must be logged in to post a comment Login