วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

เร็วเป็นปรกติ

On February 14, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 14 ก.พ. 62)

มติให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว วันนี้ (14 ก.พ.) ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าไม่รับก็ยุติ ถ้ารับก็ต้องติดตามว่าทั้ง กกต. และพรรคไทยรักษาชาติจะนำเสนอพยานหลักฐานหักล้างกันอย่างไร โดยเฉพาะพยานบุคคล ส่วนผลการตัดสินหากชี้ขาดให้ยุบพรรค การยุบก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ยุบก่อนหรือหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ให้ผลแตกต่างกัน ทั้งนี้ หากดูจากคำให้สัมภาษณ์ของมือกฎหมายรัฐบาลที่ว่า “โดยปรกติคดีแบบนี้ศาลจะพิจารณาด้วยความรวดเร็วอยู่แล้ว” คงทำให้พอมองเห็นทิศทางว่าคดีนี้จะรู้ผลก่อนหรือหลังเลือกตั้ง

หลังยื้อมา 1 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เนื่องจากเห็นว่ากระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตามเอกสารข่าวของสำนักงาน กกต. ที่แจกจ่ายสื่อมวลชนระบุว่า กกต. อาศัยอำนาจตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พร้อมมอบหมายให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เข้ายื่นคำร้องและดำเนินคดี ตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญแทน กกต.

เมื่อเรื่องถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็มีเอกสารข่าวแจกจ่ายกับสื่อมวลชนแจ้งว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของ กกต. เอาไว้พิจารณาชี้ขาดหรือไม่

ผลตามกฎหมายที่จะตามมาหากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบมีหลายประเด็น

ประเด็นที่เกี่ยวกับพรรคและกรรมการบริหารพรรคคือ กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะไม่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ ไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นได้ ไม่สามารถใช้ชื่อ โลโก้ ชื่อย่อ ซ้ำกับพรรคที่ถูกยุบได้

ประเด็นที่เกี่ยวกับสมาชิกพรรคคือ สมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ จะถูกโละชื่อจากการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ทันทีหากการตัดสินยุบพรรคเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม

หากยุบพรรคหลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีแรก หากยุบพรรคก่อน กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง คะแนนปาร์ตี้ลิสต์จะไม่ถูกนำมาคิดคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. พูดง่ายๆคือคะแนนส่วนนี้จะถูกเททิ้ง ส่วนผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

กรณีที่สอง หากยุบพรรคหลัง กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และ ส.ส.เขตที่ชนะเลือกตั้งสามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้ ไม่มีผลต่อสถานะความเป็น ส.ส.

ยุบหรือไม่ยุบ ยุบก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ยุบก่อนหรือหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ล้วนมีผลที่แตกต่างกัน

คนที่เชียร์ให้ยุบก็อยากให้จบเร็ว จบก่อนเลือกตั้ง

ส่วนพรรคไทยรักษาชาติก็ต้องสู้เพื่อซื้อเวลา เพราะสุดท้ายแล้วถึงจะโดนยุบพรรค แต่หากถูกยุบหลังเลือกตั้งหรือยุบหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งก็ถือว่ามีผลกระทบไม่มาก เพราะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่ผู้เล่นหลัก

สิ่งที่ต้องติดตามคือ ความชัดเจนที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร หากไม่รับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณา ทุกอย่างเป็นอันยุติ

แต่หากรับคำร้องก็ต้องติดตามต่อว่าจะรับคำร้องขอความเป็นธรรมของพรรคไทยรักษาชาติที่ต้องการให้มีการนำเสนอพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ก่อนตัดสินคดีไว้พิจารณาหรือไม่

ถ้าไม่รับคดีนี้จะตัดสินได้เร็ว

ถ้ารับก็ต้องให้เวลากับการนำเสนอพยานหลักฐาน ซึ่งก็ต้องติดตามดูอีกว่าถ้าเปิดให้นำเสนอพยานหลักฐานจะให้พรรคไทยรักษาชาตินำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือให้นำตัวพยานมาขึ้นเบิกความที่ศาล กรณีนี้ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯอาจต้องมาเบิกความที่ศาลด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ถ้าว่ากันตามหลักการเมื่อศาลรับคดีไว้พิจารณาก็ต้องให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหานำเสนอพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนความน่าจะเป็นที่ว่าคดีนี้จะตัดสินก่อนหรือหลังเลือกตั้งนั้น หากฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นมือกฎหมายของรัฐบาลที่ว่า

“โดยปรกติคดีแบบนี้ศาลจะพิจารณาด้วยความรวดเร็วอยู่แล้ว”

คงทำให้พอมองเห็นทิศทางว่าคดีนี้จะรู้ผลก่อนหรือหลังเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login