วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คลังประมาณการเศรษฐกิจปี2561-2562

On January 28, 2019

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมกราคม 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.5) โดยได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า และนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5-1.5) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง”

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว”

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 4.2 เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย โดยปริมาณส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของ GDP เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 20.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 14.2 ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5

เศรษฐกิจไทยในปี 2562 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.5) โดยได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.8-5.8) ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8-2.8) นอกจากนี้ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะยังขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8-4.8) จากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลดีจากภาวะตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7-3.7) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า และนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3-5.3) สอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะชะลอลงเช่นกัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5-1.5) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 36.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.3-7.3 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 19.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 19.1-20.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 5.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.9-5.9) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0)


You must be logged in to post a comment Login