วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ทักษิณ”กู๊ดมันเดย์Ep3″ชวนโลกมาเที่ยวไทย กระจายรายได้ทุกจังหวัด”

On January 28, 2019

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดรายการกู๊ด มันเดย์ (Good Monday) ซึ่งจัดทุกวันจันทร์ โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เกี่ยวกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก (EP.3 ชวนโลกมาเที่ยวไทย กระจายรายได้ทุกจังหวัด” เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก ประเด็นสำคัญคือเราต้องกระจายรายได้ไปถึงประชากรทุกระดับ และสร้างให้ไทยเป็น Hub ด้านการบินของภูมิภาค เพื่อที่การท่องเที่ยวไทยจะกลายเป็น Growth Engine ที่แข็งแรง สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนจนสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยระบุว่า

สวัสดีครับ พี่น้องที่เคารพรักครับ วันนี้พบกันเป็น Episode ที่ 3 ตอนแรกว่าจะพูดเรื่องอะไรดี แต่ไปตื่นเต้นข้อมูลรายงานของ World Bank ของธนาคารโลก ที่ประเมินว่าปี 2028 ประเทศไทยสามารถที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 5.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 28.2% ของ GDP หรือของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรามีรายได้อยู่ที่ประมาณ 3.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 22% ของ GDP ก็หมายความว่าอีก 10 ปีไม่ถึงดี เราจะมีรายได้กระโดดขึ้นมา และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนมากมาย ฟังแล้วตัวเลขมันดีครับ แต่ถามว่าจะให้เป็นอย่างนั้นมันต้องทำอะไรอีกเยอะเลย เพราะไม่งั้นเรารองรับนักท่องเที่ยวแบบนั้นไม่ได้ จะรองรับได้ต้องไปอีกเยอะ แล้วที่สำคัญคือมันช่วยเศรษฐกิจด้วย เพราะมันเป็นประมาณเกือบ 30% ของ GDP ต้องทำให้รายได้เหล่านี้ลงไปถึงประชาชนข้างล่าง ถ้าลงได้จริงประเทศเราจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และมีประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องตอบ

ถ้าเริ่มต้นผมก็อยากจะยกตัวอย่างอันนึง ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงมากคือดูไบ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เขาใช้เครื่องมือทุกอย่างว่าจะดึงคนมาที่ดูไบอย่างไร แล้วดึงมาแล้วจะให้อยู่นานอย่างไร จะให้ใช้ตังค์อย่างไร เขาทำกันเป็นขบวน เป็นขั้นเป็นตอน นั่นคือเขามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และก็มีการให้อำนาจในการจัดการอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ เป็นสายการบินที่กลายเป็นใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อประมาณสัก ถ้าผมจำ ค.ศ. ไม่ผิดคือประมาณ 1983 ประมาณสัก 30 กว่าปีที่แล้ว เขาเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียนแค่ 10 ล้านเหรียญ แล้วเครื่องบินที่มาเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เช่ามาจากปากีสถาน แอร์ไลน์ 2 ลำ แต่วันนี้เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 380 เยอะที่สุดในโลก

เขาดึง เขากระจายการบินไปทั่วโลก แล้วให้ดูไบเป็นศูนย์กลาง ใครจะไปไหนก็ผ่านดูไบ แล้วเขาก็มีแรงจูงใจว่าถ้าแวะตั๋วถูกลง ถ้าแวะหลายวันหน่อยตั๋วยิ่งถูกลง สมมุติว่าคนไปเที่ยวดูไบ ถ้าจองตั๋ว 2 วัน กับ 4 วัน ตั๋ว 4 วันกลับ ถูกกว่า 2 วันกลับ เพราะว่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนได้อยู่นาน ได้ไปช่วยโรงแรมนะครับ เพราะงั้นระบบการท่าอากาศยานก็ดี ระบบอะไรหลายๆอย่างมันไปอยู่กับเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ หมด เดี๋ยวผมจะกลับมาพูดถึงของเรา

โรงแรมก็เกิดมากขึ้น แล้วเขาก็ไปสร้าง man-made หรือสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น สวนสนุกบ้าง ศูนย์การค้าบ้างอะไรบ้าง ก็พยายามทำตามกฎประชากร เป็นประเทศที่มีประชากรน้อย แต่ดึงประชากรจากทั้งโลกมาช่วยสร้างเศรษฐกิจ อันนี้คือเทคนิคที่เขาใช้ แม้กระทั่งเรื่องของประชากร เขาไม่มีคนทำงานในภาคบริการมาก เขาก็ให้วีซ่ากับคนที่จะมาทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือที่เมืองดูไบได้ง่ายมาก คือให้มาทำงาน คนของเขามีหน้าที่กู้แบงก์ลงทุน แล้วคนต่างชาติมีหน้าที่มาทำงานให้เขา ภาคบริการก็ขยายอย่างรวดเร็วมาก วันนี้คนไปดูไบใช้เงินเป็นอันดับ 1 ของโลก คือเฉลี่ยต่อคน นี่คือรายงานของมาสเตอร์การ์ด หรือบริษัทเครดิตการ์ด

ทีนี้ของเราถ้าอยากได้นักท่องเที่ยวเยอะขนาดนั้น ปัญหาคือสนามบิน วันนี้สุวรรณภูมิที่เราสร้างไว้รองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี แต่วันนี้เราใช้ไป 60 กว่าล้านคนแล้ว เราใช้เกิน 62.8 ล้านคน ดอนเมืองเราสร้างไว้ 30 ล้าน ตอนนี้ใช้ไป 40.5 ล้าน ภูเก็ตสร้างไว้ 12.5 ล้าน ใช้ไป 18.2 ล้าน เชียงใหม่ 8 ล้าน ใช้ไป 10.8 ล้าน นั่นคือวันนี้ สนามบินที่มีอยู่ในประเทศไทยเล็กไปสำหรับการท่องเที่ยวในปัจจุบันแล้ว

เราอยากเร่งให้มีรายได้มากขึ้นก็ต้องขยายสนามบินมากขึ้น สนามบินสุวรรณภูมิตอนที่ผมทำไว้แพลนไว้ว่าจะสร้างมิดฟิลด์คองคอร์ด และก็สร้างเทอร์มินอลที่ 2 แล้วทำถนนจ่อมาแล้วทางด้านใต้นะครับที่มาจากทางบางนาตราด มันช้าไปหน่อย แล้วรันเวย์ที่ 3 ก็ถมไว้แล้ว อัดดินอัดแน่นไปแล้ว ก็เหลือแค่ทำรันเวย์ ก็ช้าไปหน่อย ถ้าเราเร็วขึ้นมันจะทำให้เรารองรับเที่ยวบินเข้ามาเมืองไทยได้เยอะขึ้น วันนี้มีเที่ยวบินอยากเข้าเมืองไทยเยอะ

ที่ดูไบเขาทำไงรู้ไหม ร้านอาหารในดูไบ ยกตัวอย่าง La Petite Maison มีหลายสาขาทั่วโลก แต่ที่ดูไบอร่อยที่สุด เพราะระบบการนำเข้าวัตถุดิบมันสดตลอดเวลา เนื่องจากว่าเครื่องบินมาจากทุกแห่งทั่วโลก และมันมาแวะที่ดูไบคือ Belly cargo คือหมายถึงว่าการขนส่งของผ่านใต้ท้องเครื่องบินมันมีมาจากทุกแห่ง เพราะฉะนั้นของจะสด เมืองไทยก็เหมือนกัน เรานอกจากจะเอาของเข้าและของออกด้วย เราสามารถเอาสินค้าเกษตรออก ถ้ายิ่งเรามีเที่ยวบินมาเยอะๆ การใช้บริการ Belly cargo คือติดท้องเครื่องบินโดยสารไปด้วย จะทำได้เยอะ ถี่ เร็ว นะครับ ผลพลอยได้มันมีเยอะ

ของเรามีจุดอ่อนอีกอันนึงก็คือ การท่าฯกับการบินไทย ตอนนั้นผมอยากสร้างการบินไทยให้ผงาดอยู่ในสุวรรณภูมิ เป็น home-base ลงมาเห็นความยิ่งใหญ่ของการบินไทย แต่ปรากฏว่าการทำงานร่วมกันระหว่างการบินไทยกับการท่าอากาศยานฯมันอ่อนไปหน่อย มันขาดความร่วมมือที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะเป็น hub หรืออยากเป็นศูนย์กลางการบิน เราจะต้องจัดเวลาเที่ยวบินมาถึงและออกต่ออีกชั่วโมงเพื่อให้การต่อเครื่องมันสะดวก ไม่ใช่เครื่องบินมาเช้าแล้วออกอีกทีตอนดึก คนไม่อยากมานอนเล่นอยู่สนามบินรอ มันเสียเวลา แล้วก็เหนื่อยด้วย เพราะฉะนั้นระบบการสร้างการเป็น hub เป็นศูนย์กลาง ซึ่งโดยทางภูมิศาสตร์เราเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางอาเซียนอยู่แล้ว ในทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เราเป็นศูนย์อยู่แล้ว แต่ทางด้านบริหารเราไม่สามารถทำให้มันเป็นศูนย์ได้

อย่างที่ดูไบเขาเป็นศูนย์ เขาถึงเรียกว่า Middle East เป็นศูนย์กลางตรงนั้น ซึ่งมันมีหลายประเทศที่เป็นศูนย์กลางได้ เขาดึงเข้ามาโดยใช้สายการบินของเขาเป็นตัวดึง เพราะฉะนั้นวิธีการบริหารการจัดการมันสร้างความแตกต่างเยอะเลย การบริหารการจัดการเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขนะครับ

นอกจากนั้นเรื่องของการรักษาความปลอดภัยก็ดี เรื่องของการสร้างระบบไอดีก็ดี เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกำลังคนที่จะใช้ในภาคบริการ เราต้องการประมาณ 8 ล้านกว่าคน 8,570,000 คน เข้ามาอยู่ในภาคบริการทางด้านการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะต้องเริ่มคิดว่าเราจะเทรนคนของเรายังไง จุดแข็งของการท่องเที่ยวไทยเขาบอกว่าเป็นความมีน้ำใจของคนไทยในการต้อนรับแขก เขาชอบตรงที่เราแฮปปี้ โรงแรมบริการดี สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของเมืองไทย นอกเหนือจากอาหาร นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ธรรมชาติอะไรทั้งหลาย เดี๋ยวค่อยพูดกันเรื่องนั้น เราจะต้องสร้างคนในภาคบริการให้เป็นมนุษย์พันธุ์ที่ทำงานด้านบริการได้ดี จะต้องทำอย่างไร

วันนี้เราต้องถือโอกาสแล้วครับว่าหุ่นยนต์มันจะมาไล่คนออกจากภาคอุตสาหกรรม เราก็ต้องเอาภาคอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งพัฒนาให้เป็นนายหุ่นยนต์ อีกส่วนหนึ่งเอามาสู่ภาคการเกษตร อีกส่วนหนึ่งเอามาสู่ภาคการบริการ มนุษย์มันมีหลายประเภท หลายนิสัย เราก็คัดมา แล้วก็เอามาเทรนได้ วันนี้ต้องคิดแล้วครับว่าจะเตรียมคนเข้าสู่ภาคบริการอย่างไร ภาคอุตสาหกรรมเรามีคนเหลือ ต่อไปเราจะเหลือคนจากภาคอุตสาหกรรม เราก็เอามาสู่ภาคบริการ แล้วภาคเกษตรเดี๋ยวคราวหน้า คราวต่อไปผมจะพูดเรื่องภาคเกษตร ให้รู้ว่าภาคเกษตรสามารถยกระดับทั้งการทำผลผลิต ยกระดับการทำการเกษตร และยกระดับคนที่ทำภาคการเกษตรได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องยกระดับคนเข้ามาสู่ภาคบริการ โดยดึงมาจากภาคอื่นที่จะมีการเหลือ

ในอนาคตข้างหน้าแม้กระทั่งภาคการบริการด้านอื่นๆ เช่น ภาคธนาคาร คนในธนาคารก็จะเหลือแน่นอนครับต่อไปข้างหน้า ออนไลน์แบงกิ้งมันเข้ามาแรงขึ้น ใช้กันมากขึ้น ในที่สุดผลสุดท้ายก็จะใช้คนพนักงานแบงก์น้อยลงไป จะต้องมีการ lay off พนักงานแบงก์อีกเป็นหมื่นๆคน ตอนนี้ภาคบริการน่าจะเปิดรับได้กว้างขึ้นถ้าหากว่าเรามีการจัดบริหารให้ดีนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องคนก็เป็นเรื่องสำคัญ

อีกอันที่เราบอกว่าจะกระจายรายได้ไปสู่ระดับล่างได้ไง นั่นก็คือเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยี และ Business Model ที่เราเรียกกันว่า sharing economy เหมือนกับ UBER ก็ดี เหมือน Airbnb ก็ดี เราสามารถจัดโฮมสเตย์ทำเป็นเว็บไซต์เหมือนกับ Airbnb เพื่อจะแยกกลุ่มว่าใครจะไปเที่ยวชนบทประเภทไหนอยู่ในกลุ่มนี้ ประเภทไหนอยู่ในกลุ่มนั้น เช่น ประเภทซี ซัน แซนด์ ก็โฮมสเตย์อยู่แถวบ้าน แถวซี ซัน แซนด์ ก็คือ เที่ยวชายหาด ดูทราย ดูแสงแดดอะไรพวกนี้ ก็คือทะเล

อีกประเภทนึงบอกว่าอยากไปด้านธรรมชาติทางภูเขา ก็ไปทางเหนือ อีกประเภทนึงก็คือว่าอยากจะไปอยู่กับชาวบ้าน ไปดูวิถีชีวิต เช่น ไปดูว่าเขาทำนาอย่างไร เกี่ยวข้าวอย่างไร ก็ไปอยู่แถวร้อยเอ็ด แถวอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้อย่าให้รายได้มันกระจุกอยู่ไม่กี่จังหวัด กระจายออกไป และให้สนามบินต่างๆที่บางที่ได้ใช้เป็นที่ปลูกหญ้าเลี้ยงวัวไปแล้ว ก็ต้องเอามาฟื้น และให้การท่องเที่ยวมันกระจายออกไปสู่ชนบท เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวมันมีมากพอแล้ว ต่อไปจะมากขึ้นไป ซึ่งผมเคยพูดไว้ว่าเราต้องทำให้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเท่ากับจำนวนประชากรของเรา มันเป็นไปได้แล้วนะครับที่ World Bank พูดถึงปี 2028 และวันนี้ถ้าดูยอดคนมาเที่ยว อย่างคนอินเดียมีตั้งพันสามสี่ร้อยล้านคน เพิ่งมาล้านสี่แสนคนเอง เพราะงั้นยังดึงมาได้อีกเยอะ เที่ยวได้อีกเยอะ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องปรับปรุง เตรียมการเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ถ้าให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่พอนะครับ แล้วก็ต้องมียุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ไปถึงเรื่องการกระจายลงไปให้นักท่องเที่ยวไม่ว่าไทยหรือต่างชาติ

ในที่สุดมนุษย์อยู่กับชีวิตที่เหนื่อย ที่แข่งขัน ที่เครียดมาเยอะ บางคนได้ตังค์แล้วก็ไม่รู้ว่า..ใช้ไม่เป็นนะครับ บางคนก็อยากจะกลับไปสู่ธรรมชาติ คือ Back to nature กลับไปสู่สภาพที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ อยากจะไปเห็นไปสัมผัสวิถีชีวิต สิ่งเหล่านี้อีกหน่อยจะเป็นการท่องเที่ยวที่ดึงคนไปได้เยอะ อย่างวันก่อนมีคนส่งรูปมาให้  Bill Gates เศรษฐีอันดับต้นๆของโลก ไปยืนเข้าคิว แต่งตัวธรรมดาๆเข้าคิวซื้อแฮมเบอร์เกอร์อยู่ที่เมือง Seattle เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่าในที่สุดมนุษย์ก็คือมนุษย์ อย่าไปคิดว่าคนมีตังค์เป็นเทวดา มนุษย์ก็คือมนุษย์อยู่ดี เพราะงั้นในที่สุดมนุษย์จะมีความสุขได้ต้องมีความสุขแบบมนุษย์ ถ้ามนุษย์คิดว่าจะมีความสุขแบบเทวดาไม่มีทางมีความสุข เพราะเราไม่ใช่เทวดา มนุษย์ต้องมีความสุขแบบมนุษย์ถึงจะมีความสุข นั่นคือสิ่งที่มนุษย์เริ่มแสวงหาความสุขที่แท้จริง ก็จะไปค้นคว้าอะไรต่างๆเยอะ

ประเทศไทยเรามีความพร้อมในสิ่งเหล่านี้จริงๆ ต้องจัดและบริหารให้ดี ผมคิดว่าเดี๋ยวผมจะมาพูดต่อเพราะว่าเรื่องท่องเที่ยวมันมีเรื่องยาว แต่วันนี้เราพูดกว้างๆแค่นี้ก่อน แล้วคราวหน้ามีเวลาก็จะพูดต่อ และก็พูดเรื่องการย้ายผู้คนจากภาคต่างๆที่อาจจะล้นงานหรือที่ต้องปรับตัวเข้าสู่เรื่องที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะมาคุยกันต่อนะครับ วันนี้ผมขออนุญาตเอาสั้นๆแค่นี้ก่อนครับ สวัสดีครับ


You must be logged in to post a comment Login