วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

KTAMโชว์ผลงานปี61AUMโต7.76แสนล้าน

On January 21, 2019

บลจ.กรุงไทย ประเมินว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.8 % ต่อปีชะลอลงจากปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.2 % ต่อปีโดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้ง แรงกระตุ้นจากปัจจัยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และผลของการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ซึ่งต้องติดตามว่าภายหลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาจะเป็นแรงผลักดันในเรื่องของความเชื่อมั่นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่

ด้านการส่งออก คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง จากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าการขยายตัวจะอยู่ที่ระดับ 3.7 % ต่อปี ทรงตัวในระดับเดียวกับปี 2561 แต่อาจมีความเสี่ยงที่การเติบโตอาจต่ำกว่านั้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงเล็กน้อยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเกือบต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน รวมทั้งปัญหาสงครามการค้ากับจีนที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ขณะที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ยังคงถูกกดดันจากปัญหาการเมืองเป็นสำคัญ ทั้งในเรื่อง Brexit หรือโอกาสที่อาจจะมีประเทศอื่นตัดสินใจแยกตัวออกจาก EU ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยยังถูกกระทบจากปริมาณการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยเพียง

ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.6 % ต่อปี เนื่องจากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นทำได้ไม่ง่าย ดังนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเพียง 1 ครั้งในปี 2561 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0% ในช่วงสิ้นปี

ปัจจัยต้องติดตามโดยเฉพาะในช่วงต้นปี คือผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความเสี่ยงคือถ้าตกลงกันไม่ได้ และมีการขึ้นกำแพงภาษีก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เห็นทุกวันนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเด็นการเมืองในยุโรป ข้อสรุปของอังกฤษว่าตกลงจะออกจาก EU หรือไม่ ส่วนไทยคือเรื่องท่องเที่ยวและผู้นำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเพราะมีผลต่อนโยบายในอนาคต ซึ่งมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก”

แนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย(SET Index) ปี 2562 บริษัทประเมินกรอบดัชนีฯไว้ที่ 1,800 จุด โดยภาวะการลงทุนยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่องจากปี 2561 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยผ่านปริมาณการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางด้านการคลังและมาตรการทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจ หลังจากประกาศใช้ไปค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา
ทางด้านเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) อาจต้องเผชิญต่อปัญหาประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอังกฤษตัดสินใจแยกตัวออกจาก EU (Brexit) ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอิตาลีมีปัญหาเรื่องระดับหนี้สาธารณะ และเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาการชะลอตัวในเชิงโครงสร้าง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือผลลัพธ์ของการเลือกตั้งทั่วไป ว่าไทยจะได้รัฐบาลที่มีเอกภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ เพราะมีผลกระทบต่อนโยบายการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นนโยบายการลงทุนของบลจ.กรุงไทยในปีนี้จะเน้นการคัดสรรหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน้อยที่สุด รวมทั้งเลือกหลักทรัพย์รายตัวที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของวงจรการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งหลักทรัพย์กลุ่มที่ได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้ง

ถ้าดูสภาพตลาดปัจจุบัน นักลงทุนค่อนข้างมีความกังวล มีความกลัวความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้น ซึ่งถ้าดูราคาหุ้นในปัจจุบันก็มีการสะท้อนความกังวลดังกล่าวไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันราคาหุ้นปัจจุบันมี Valuation มี P/E ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีอัตราเงินปันผลที่สูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่น่ากังวลอยู่บ้าง แต่ระดับราคาหุ้นในปัจจุบันนี้ก็มี Downside risk ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นการทยอยเข้าลงทุนในระดับปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีซึ่งคาดว่าจะดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นๆ ในระยะยาวว

กลยุทธ์การลงทุนปี 2562 เราเน้นลงทุนในหุ้นที่มีรายได้และการเติบโตในประเทศ (Domestic Play) หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ได้รับประโยชน์จากมาตรการและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพาณิชย์ นอกจากนี้ การจัดพอร์ตหุ้นใน 2562 เรายังคงเน้นการกระจายการลงทุนไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย คัดเลือกหุ้นรายตัวที่ราคามีการปรับตัวลงมาต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน และหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีความคาดหวังการเติบโตที่สูง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต

สำหรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ปี 2562 มีแนวโน้มขยับตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก แต่ความถี่ของการขยับขึ้นลดลงตามชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ และความกังวลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงจะถูกกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงความไม่แน่นอนอื่นจากปัจจัยต่างประเทศ

ขณะที่ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยโลก อย่างไรก็ตามมองว่า อัตราผลตอบแทนในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าตราสารหนี้ในประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกภายใต้แรงกดดันจากความเสี่ยงสำคัญกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ด้านความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงกดดันหลักจากทิศทางของราคาน้ำมัน ซึ่งบริษัทคิดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากจากปีก่อน จึงเป็นผลดีต่อการลงทุนในตราสารหนี้ในภาพรวม

ปัจจัยด้านการใช้นโยบายการเงินคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งไทยและสหรัฐฯ แม้จะเป็นช่วงขาขึ้น แต่ความถี่ในการขยับขึ้นคงมีไม่มาก มีผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และปัจจัยทางด้านนโยบายการคลังในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ภายในประเทศมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินในระบบ แต่ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนภาครัฐหลังการได้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเป็นหลัก

ในปี 2562 ทิศทางค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หรืออาจอยู่ในระดับใกล้เคียงสิ้นปี 2561 ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุหลักจากไทยยังคงเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดจากมูลค่าการส่งออกและรายได้การท่องเที่ยว

———————————————————————–


You must be logged in to post a comment Login