วันพฤหัสที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ฆาตกรใต้แสงจันทร์

On January 4, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 4-11 มกราคม 2562)

หลังตะวันลับฟ้าในเมืองเล็กๆที่เงียบสงบ ฆาตกรโรคจิตออกอาละวาดไล่สังหารคู่รักตามถนนสายเปลี่ยว หลังชาวบ้านหวาดกลัวไม่กล้าออกจากบ้านยามค่ำคืน ฆาตกรก็ตามสังหารเหยื่อถึงในบ้าน

หนึ่งในเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องที่ตำรวจไม่สามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฆาตกรเป็นใครเกิดขึ้นในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อเทกซาร์คานา ตั้งอยู่ชายแดนรัฐเทกซัสติดกับรัฐอาร์คันซอ โดยปรกติแล้วเทกซาร์คานาเป็นเมืองที่เงียบสงบตามแบบเมืองในชนบททั่วไป ชาวเมืองเห็นหน้าก็รู้จักกันว่าใครเป็นใคร

ทุกสิ่งเปลี่ยนไปในค่ำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1946 เมื่อคู่รักวัยหวาน จิมมี่ ฮอลลิส หนุ่มวัย 25 ปี พาแฟนสาว แมรี่ จีนน์ ลาเรย์ วัย 19 ปี ไปชมภาพยนตร์ในเมือง หลังจากนั้นจิมมี่ก็ขับรถพาแฟนไปพลอดรักกันบนถนนสายเปลี่ยวแห่งหนึ่งในชานเมือง

ทั้งคู่นั่งจู๋จี๋กันอยู่ในรถได้เพียงแค่ 10 นาที พวกเขาก็ถูกขัดจังหวะด้วยแสงไฟจากไฟฉายสาดส่องเข้ามาในรถ ชายร่างใหญ่สวมถุงผ้าสีขาวคลุมศีรษะปรี่เข้ามาหาพร้อมกับออกคำสั่งด้วยน้ำเสียงดุดันให้คู่รักลงมาจากรถ โดยให้คำมั่นว่าจะไม่สังหารพวกเขา

ทันทีที่จิมมี่ลงจากรถ คนร้ายก็ใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะอย่างแรง 2 ครั้งจนเขาสลบ จากนั้นคนร้ายก็หันมาทุบตีแมรี่จนล้มลงกับพื้น คนร้ายสั่งให้แมรี่ลุกขึ้นและวิ่ง แมรี่รีบวิ่งลงไปที่ข้างทาง แต่คนร้ายตะโกนบอกให้แมรี่กลับขึ้นมาวิ่งตามถนน

คนร้ายวิ่งตามแมรี่มาจนทัน ถามเธอว่าวิ่งหนีทำไม แมรี่ตอบว่าก็คุณบอกให้วิ่ง คนร้ายกล่าวหาแมรี่ว่าตอแหล จากนั้นก็ทุบตีเธอและใช้ลำกล้องปืนล่วงละเมิดทางเพศ แมรี่ดิ้นขัดขืนจนสามารถหนีรอดมาได้และได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในบริเวณนั้น

คู่รักรอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่จิมมี่ได้รับบาดเจ็บสาหัส กะโหลกศีรษะร้าว เขาให้การกับตำรวจว่าคนร้ายเป็นชายผิวขาว ขณะที่แมรี่ให้การว่าคนร้ายเป็นชายผิวดำ สิ่งเดียวที่คำให้การตรงกันคือคนร้ายสูงราว 180 ซม.

สังหารโหด

1 เดือนต่อมา วันที่ 24 มีนาคม มีคนพบศพคู่รักวัยหวานถูกสังหารภายในรถยนต์ของพวกเขาบนถนนริช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถนนที่หนุ่มสาวนิยมมาพลอดรักกันอีกสายหนึ่ง ริชาร์ด กริฟฟิน วัย 29 ปี และพอลลี แอน มัวร์ วัย 17 ปี ถูกยิงที่ศีรษะทางด้านหลังด้วยกระสุนขนาด .32

ลิ้นกระเป๋ากางเกงของริชาร์ดถูกดึงออกมาด้านนอก ทำให้สันนิษฐานว่าอาจเป็นคดีฆ่าชิงทรัพย์ ตำรวจพบรอยโคลนและรอยเลือดลากเป็นทางบนถนนบริเวณท้ายรถ ทำให้อนุมานได้ว่าผู้เคราะห์ร้ายถูกสังหารนอกรถก่อนที่คนร้ายจะลากศพกลับมาไว้ในรถ

คืนวันที่ 13 เมษายน เบตตี้ โจ บุ๊กเกอร์ วัย 15 ปี นักดนตรีแซ็กโซโฟน เปิดการแสดงร่วมกับวงของเธอ หลังจบการแสดง พอล มาร์ติน เพื่อนชายวัย 16 ปี ขับรถมารับกลับบ้าน แต่ทั้งคู่เดินทางไม่ถึงบ้าน

เวลา 06.30 น. เช้าวันที่ 14 เมษายน มีคนพบร่างพอลนอนเสียชีวิตอยู่ริมถนนนอร์ทปาร์ค เขาถูกยิง 4 นัดด้วยกระสุนขนาด .32 ต่อมาเวลา 11.30 น. มีคนพบร่างเบตตี้นอนเสียชีวิตหลังต้นไม้ริมถนน ห่างจากจุดที่พบร่างพอลราว 2 ไมล์ เธอถูกยิง 2 นัดด้วยกระสุนขนาด .32 ตำรวจสันนิษฐานว่าคนร้ายเป็นคนเดียวกับผู้ก่อคดีก่อนหน้านี้ รถยนต์ของพอลถูกพบจอดอยู่ริมถนนห่างจากจุดที่พบร่างเขาในทิศตรงกันข้ามกับที่พบร่างเบตตี้ราว 1.5 ไมล์

ไม่ปลอดภัยแม้ในบ้าน

จากการที่ผู้เคราะห์ร้ายใน 2 เหตุการณ์ถูกสังหารด้วยกระสุนปืนขนาดเดียวกัน ทำให้ตำรวจสันนิษฐานว่าคนร้ายเป็นคนคนเดียวกัน และเป็นที่แน่ชัดว่ายามค่ำคืนบนถนนในเมืองเทกซาร์คานาไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ชาวเมืองต่างหวาดกลัวที่จะออกจากบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน

หนังสือพิมพ์ตั้งฉายาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “The Texarkana Moonlight Murders” (ฆาตกรรมใต้แสงจันทร์ในเทกซาร์คานา) และ “Phantom Killer” (ฆาตกรปิศาจ) ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก ตำรวจต้องจัดกองกำลังออกสืบหาตัวคนร้ายอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่ได้เบาะแสใดๆแม้แต่น้อย

เวลา 21.00 น. คืนวันที่ 3 พฤษภาคม เวอร์จิล สตร๊ากส์ ชาวไร่วัย 37 ปี นั่งพักผ่อนฟังวิทยุอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้าน เคธี ภรรยาวัย 36 ปี นำแผ่นประคบร้อนมาให้สามีใช้ประคบหลังที่เมื่อยล้าจากการตรากตรำทำงานมาทั้งวันก่อนที่เธอจะขึ้นนอน

พักใหญ่ๆเกิดเสียงปืนดังขึ้น 2 ครั้ง กระสุนปืนพุ่งผ่านกระจกหน้าต่างเจาะเข้าด้านหลังศีรษะเวอร์จิล เสียงกระจกแตกทำให้เคธีลุกจากเตียงนอนลงมาดู เธอเห็นเวอร์จิลลุกขึ้นยืนก่อนจะล้มกลับลงไปบนเก้าอี้ มีเลือดไหลท่วมร่าง

เคธีรีบคว้าโทรศัพท์เพื่อโทร.หาตำรวจ แต่ยังไม่ทันที่จะต่อสายสำเร็จ เสียงปืนดังขึ้นอีก 2 นัด กระสุนเจาะเข้าที่แก้มด้านขวาทะลุหลังใบหูด้านซ้าย อีกนัดเจาะเข้าที่ปากถูกฟันกรามแตกกระจาย เคธีหนีตายวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน รอดชีวิตอย่างเฉียดฉิว

ไร้เงาฆาตกร

ตำรวจตั้งเงินรางวัลให้กับผู้ที่สามารถให้ข้อมูลเบาะแสคนร้าย สอบปากคำชาวบ้านกว่า 400 คน แต่ก็ไม่ได้อะไรคืบหน้า จนกระทั่งในปี 1948 เฮนรี บุเกอร์ เทนนิสัน นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ วัย 18 ปี ปลิดชีวิตตัวเองโดยทิ้งจดหมายสารภาพว่าเป็นคนร้ายในคดีสังหารโหดที่เมืองเทกซาร์คานา

อย่างไรก็ตาม ตำรวจไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงกับคดี และดูเหมือนเฮนรีจะป่วยทางจิต อีกทั้งเขาไม่ใช่คนแรกที่รับสารภาพว่าเป็นคนร้ายโดยปราศจากหลักฐานยืนยัน ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1946 ราล์ฟ เบามันน์ ทหารผ่านศึกวัย 21 ปี สารภาพว่าเขาคือคนร้ายที่ก่ออาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว เพราะความฟั่นเฟือนจากที่เคยถูกเยอรมันจับเป็นเชลย แต่ราล์ฟไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันการกระทำความผิดเหมือนกับรายอื่นๆอีกหลายราย

วันที่ 28 มิถุนายน 1946 ตำรวบรวบตัวเพกกี้ สวินนีย์ วัย 21 ปี ในข้อหาโจรกรรมรถยนต์ เธอรับสารภาพและให้การพาดพิงถึงสามี ยูเอลล์ สวินนีย์ วัย 30 ปี แถมยังบอกตำรวจด้วยว่ายูเอลล์คือคนร้ายในคดีฆาตกรรมใต้แสงจันทร์

ตำรวจตามรวบตัวยูเอลล์ได้ที่เมืองแอตแลนตา รัฐเทกซัส หลังจากยูเอลล์ถูกตำรวจจับกุมตัว เมืองเทกซาร์คานาก็กลับคืนสู่ภาวะปรกติ ฆาตกรใต้แสงจันทร์หยุดการล่าเหยื่อ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆเกิดขึ้นอีกเลย แต่เพกกี้เกิดเปลี่ยนใจกลับคำให้การ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เพกกี้จะไม่กลับคำให้การ กฎหมายสมัยนั้นห้ามสามีภรรยาให้การปรักปรำกันและกัน อีกทั้งเพกกี้ยังเป็นพยานที่ไม่น่าเชื่อถือ ตำรวจจึงไม่สามารถแจ้งข้อหาฆาตกรรมคดีฆาตกรรมใต้แสงจันทร์ ได้แต่เพียงส่งฟ้องในคดีโจรกรรมรถยนต์หลายคดี ยูเอลล์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ปี 1973 ยูเอลล์ยื่นอุทรณ์ว่าเขาได้รับการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีการแต่งตั้งทนายความให้ ยูเอลล์ได้รับการปล่อยตัวในปี 1974 และเสียชีวิตในปี 1994 ทิ้งปริศนาให้ขบคิดว่าเขาคือฆาตกรใต้แสงจันทร์ตัวจริงหรือไม่

1

1.เมืองเทกซาร์คานา

2

2.จิมมี่ ฮอลลิส

3

3.ฆาตกรใต้แสงจันทร์จากภาพยนตร์ The Town That Dreaded Sundown

4

4.ตำรวจตรวจค้นสถานที่เกิดเหตุ

5

5.พอล มาร์ติน เสียชีวิตริมถนน

6

6.เบตตี้ โจ บุ๊กเกอร์ เสียชีวิตใต้ต้นไม้ข้างทาง

7

7.เบตตี้ โจ บุ๊กเกอร์ และพอล มาร์ติน

8

8.รอยกระสุนบนหน้าต่างบ้านเวอร์จิล สตร๊ากส์

9

9.ไฟฉายคนร้ายตกอยู่ใกล้บ้านเวอร์จิล สตร๊ากส์

10

10.ยูเอลล์ สวินนีย์ (ที่ 3 จากซ้าย) และตำรวจอาร์คันซอ

11

11.ริชาร์ด กริฟฟิน และพอลลี แอน มัวร์


You must be logged in to post a comment Login